สุจิตต์ วงษ์เทศ : เจ้าลายสตอรี่ ที่ชะอำ ตำนานเมืองเพชรบุรี

ทิวเขาเจ้าลาย (หรือเขานางพันธุรัต หรือเขาใหญ่) มองจากสะพานลอย ถนนเพชรเกษม อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี ก่อนถึงแยกเข้าชะอำ-หัวหิน-ปราณบุรี มีนิทานเก่าแก่หลายร้อยปีมาแล้วเรื่องตาม่องไล่, เจ้าลาย, เจ้ากงจีน เป็นความทรงจำเกี่ยวกับการค้าสำเภากับจีนบริเวณอ่าวไทย แล้วข้ามคาบสมุทรไปทะเลอันดามัน เชื่อมอินเดียถึงยุโรป มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและนานาชาติผ่านไปเห็นทิวเขาเจ้าลายนี้ปีละนับล้านๆ คน แต่ไทยไม่แบ่งปันคำบอกเล่าเก่าแก่นั้น เลยเสียโอกาสหลายอย่าง ทั้งด้านการท่องเที่ยวอย่างมีสตอรี่ และด้านวรรณคดีมีชีวิตชีวาประวัติศาสตร์ ผมไปตระเวนตามยถากรรม 2 วัน เสาร์-อาทิตย์ ย่านเขาเจ้าลาย แต่ถ่ายรูปไม่เป็นและไม่มีกล้อง เลยต้องพึ่งพาบริการบันทึกภาพจากมหา สุรารินทร์ (ภาพโดย ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต อาทิตย์ 4 มีนาคม 2561)

เมืองเพชรบุรีสร้างขึ้น พ.ศ. 1731 อยู่ในความทรงจำของเจ้านายราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา (จดไว้ในเอกสารคู่มือทูตสยามไปยุโรป)

เมืองเพชรบุรี หมายถึง บ้านเมืองแห่งความมั่นคงและมั่งคั่งดังเพชร

มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่และผู้คน ตั้งแต่ยุคหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากประวัติศาสตร์อุษาคเนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฉะนั้น บรรพชนคนเมืองเพชรบุรีไม่ได้มาจากไหน? แต่เป็นคนที่นี่ ที่อุษาคเนย์มาแต่ไหนแต่ไร ไม่ได้อพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนมาจากทางใต้ของจีน ตามที่มีบอกในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยของกระทรวงวัฒนธรรม และตำราประวัติศาสตร์ไทยของกระทรวงศึกษาธิการ

Advertisement

เมืองเพชรบุรี ได้รับสิทธิพิเศษจากจีน มีอำนาจควบคุมเส้นทางการค้าคาบสมุทรสุดสยาม (จนถึงเมืองนครศรีธรรมราช) มีนิทานเขาเจ้าลายอยู่ที่ชะอำ

เขาเจ้าลาย (ทางขวา) มองเห็นเป็นแลนด์มาร์กของหาดชะอำ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญใน อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี แต่ไม่มีแผ่นป้ายบอกชื่อและนิทานเรื่องเขาเจ้าลาย (ภาพโดย ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต อาทิตย์ 4 มีนาคม 2561)

เขาเจ้าลาย
เขาเจ้าลาย อยู่ในความทรงจำของพระยาตรัง กวีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พรรณนาถึงเขาเจ้าลายไว้ในโคลงนิราศพระยาตรัง ดังนี้

เจ้าลายลายฉากกั้น  เตียงนอน นางนา
เขียนเล่ห์ลายสิงขร  เขตรนี้
ใฝ่ใจจะขอพร         นบเทพ ท่านแฮ
เชิญเทพเจ้าลายลี้   ลาศให้เห็นองค์

ชะอำ
ชะอำ ในชื่อ อ. ชะอำ น่าจะมาจาก ชรอ่ำ หมายถึงชุ่มฉ่ำ, เมฆสลัว ฯลฯ โคลงกำสรวลสมุทร (กำสรวลศรีปราชญ์) ยุคต้นอยุธยา มีพรรณนาไว้ว่า

เยียมาเยียแลเหลียว ชรอ่ำ
ชรอ่ำอกฟ้าไข         ข่าวตรอม

โคลงนรินทร์อินทร์ (หรือนิราศนรินทร์) ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่งล้อโคลงกำสรวลสมุทร พูดถึงชรอ่ำ ด้วยถ้อยคำสอดคล้องกัน

แต่ผมยังไม่ปลงใจเชื่อตามนี้ทั้งหมด ต้องสอบถามผู้รู้อีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image