บูรณาการหลักธรรม วันมาฆบูชา สู่การพัฒนาไทยนิยมอย่างยั่งยืน : โดย รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

1.สาระสำคัญของวันมาฆบูชา : วันมาฆบูชาเกิดขึ้นภายหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า 9 เดือน สถานที่เกิดของวันมาฆบูชาคือ พระเวฬุวัน ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาที่พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธสร้างถวาย เวฬุวันนี้เป็นป่าไผ่ อยู่ไม่ห่างไกลจากพระนครราชคฤห์ มีความสงบร่มเย็น พระพุทธเจ้าภายหลังตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้ทรงพักจำพรรษา คือ พรรษาที่ 2, 3 และ 4 เพื่อเป็นฐานที่มั่นในการประกาศพระศาสนา เพราะกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธเป็นเมืองใหญ่ และมีเจ้าสำนักลัทธิต่างๆ มากมาย เปรียบได้กับภาคอีสานของประเทศไทย พรรคการเมืองใดตีภาคอีสานแตก โอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่แค่พลิกฝ่ามือ

วันมาฆบูชา แปลตามศัพท์คือการบูชาในวันเพ็ญเดือน 3 หากปีใดเป็นอธิกมาสเดือน 8 สองหน เช่นปีนี้วันมาฆบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 คำถามก็คือ บูชาอะไร คำตอบสำหรับชาวพุทธไทยน่าจะเป็นว่า บูชาความสำคัญของวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันที่มีเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้น 4 ประการ ประกอบด้วย

1.1 วันเพ็ญดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ คือดวงจันทร์เดินมาถึงดาวฤกษ์ชื่อ มฆะ ซึ่งตามธรรมเนียมพราหมณ์ถือว่า มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ

1.2 พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย คือต่างรูปต่างเดินมาเองเพราะต้องการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

Advertisement

1.3 พระสงฆ์ทั้งหมด ล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 คือพระอรหันต์บางรูปไม่ได้อภิญญา 6 ก็มี แต่ที่มาประชุมในครั้งนี้ทุกรูปได้อภิญญา 6 ได้แก่ 1) อิทธิวิธิ แสดงอิทธิฤทธิ์ได้ 2) ทิพพโสตะ หูทิพย์ 3) เจโตปริยญาณ กำหนดใจผู้อื่นได้ 4) ปุพเพนิวาสานุสติ ระลึกชาติต่างๆ ได้ 5) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ และ 6) อาสวักขยญาณ ปัญญาที่สามารถกำจัดกิเลสให้หมดสิ้น

1.4 พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนแต่เป็นเอหิภิกขุ คือได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง หรือพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยการเปล่งวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันใดเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”

เหตุการณ์ทั้ง 4 ประการดังกล่าว บางครั้งเรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” แปลว่า การประชุมมีองค์ 4 ประการ พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นบรรดาภิกษุสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เดินทางมาเข้าเฝ้าเป็นกรณีพิเศษ จึงทรงถือโอกาสอันสำคัญพิเศษนี้แสดงหลักการเกี่ยวกับพระพุทธศานา ซึ่งเรียกว่า “โอวาทปาฏิโมกข์”

หรือธรรมนูญการปกครองขององค์กรสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์สาวกยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการประกาศพระศาสนาสืบไป

2.หลักโอวาทปาฏิโมกข์ : สาระสำคัญของวันมาฆบูชาอยู่ตรงที่ โอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นการณ์ไกลในการอบรมสั่งสอนคนในสังคมในภายภาคหน้าหรือถิ่นที่ต่างๆ ที่ห่างไกลพระเนตรพระกรรณ ซึ่งหลักโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ประกอบด้วย 3 คาถากึ่ง คือมี 3 คาถากับอีกกึ่งคาถา

2.1 คาถาบทแรก :
สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

แปลว่า “การไม่ทำความชั่วทั้งปวง 1 การบำเพ็ญแต่ความดี 1 การทำจิตของตนให้ผ่องใส 1 นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

2.2 คาถาบทที่สอง :
ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
นหิปพฺพธิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ

แปลว่า “ขันติคือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นบรมธรรมผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ใช่เป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

2.3 คาถาที่สามและกึ่งคาถา
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

แปลว่า การไม่กล่าวร้าย 1 การไม่ทำร้าย 1 ความสำรวมในปาฏิโมกข์ 1 ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร 1 ที่นั่งที่นอนอันสงัด 1 ความเพียรในอธิจิต 1 นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

3.การบูรณาการสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน : ในแต่ละคาถาของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธองค์ทรงประกาศต่อหน้าพระอรหันตสาวกทั้ง 1,250 รูปนั้น ทรงหลีกเลี่ยงคำว่า “ตถาคต” ซึ่งเป็นสรรพนามของพระองค์แต่ทรงใช้คำว่า “พระพุทธเจ้าทั้งหลาย” แทนซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทรงมีจิตวิทยาในการสื่อสารอย่างยอดเยี่ยม เพราะผู้รับการสื่อสารล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้อย่างดีเลิศทั้งสิ้น นักการเมืองทั้งหลายทั้งใหม่และเก่า ควรศึกษาและเรียนรู้กระบวนการสื่อสารทางการเมืองให้ชัดเจนและถ่องแท้เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนอย่างแท้จริง

การบูรณาการหลักธรรมที่ทรงแสดงแก่พระสงฆ์ในวันมาฆบูชา ซึ่งเรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ นั้น หลักใหญ่ใจความที่สำคัญอยู่ตรงคาถาบทแรกคือ

1) การไม่ทำชั่วทั้งปวง 2) การมุ่งมั่นแต่ในสิ่งที่ดีงาม และ 3) ชำระจิตใจของตนให้หมดจด

สังคมที่มีปัญหาสารพัด เพราะคนในสังคมไม่งดเว้นจากความชั่ว ไม่ว่าความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ชั่วทางกายตัดไม้ทำลายป่า ฆ่าสัตว์สงวนหรืออนุรักษ์ ชั่วทางวาจา ทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งและด่าทอกันไม่เลิก และชั่วทางใจ อาฆาต พยาบาท ปองร้ายต่อกัน ไม่รู้จักจบสิ้นประเทศชาติจะเป็นเช่นไรช่างมัน คิดแต่เรื่องการเลือกตั้ง คิดแต่เรื่องการช่วงชิงมวลชน และคิดแต่เรื่องแพ้และชนะโดยไม่คิดเรื่องประโยชน์สุขของบ้านเมือง หรือการดูแลแก้ไขข้อบกพร่องหรือผิดพลาดที่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้นโยบายไทยนิยมอย่างยั่งยืนจึงเกิดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ว่า “บ้านเมืองสงบ เศรษฐกิจดี ประชาชนมีความสุข”

สรุป นโยบายไทยนิยม ต้องผสมผสานกับหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาข้อที่ว่าด้วย การไม่ทำชั่วทั้งปวง ด้วยการรณรงค์ให้ชุมชนยึดหลัก ศีล 5 อย่างจริงจัง และข้อที่ว่าด้วย การมุ่งมั่นแต่คุณงามความดี ด้วยการรณรงค์ให้ชุมชนหลีกเลี่ยง อบายมุข เทศกาลปีใหม่และสงกรานต์จะได้ลดการสูญเสียลง ส่วน การชำระจิตใจของตนให้หมดจด นั้น ต้องรณรงค์ให้สำนักปฏิบัติธรรมทั่วประเทศมีแนวทางในการฝึกอบรมสมาธิภาวนาและวิปัสสนากัมมัฏฐานให้มีมาตรฐานเหมือนกันทุกสำนัก หากชำระจิตใจให้สะอาดและหมดจดไม่ได้ การเว้นชั่วประพฤติดีก็เกิดขึ้นได้ยากเป็นอย่างยิ่ง

วันมาฆบูชาปีนี้ ตรงกับวันที่ 1 มีนาคม 2561 เมื่อวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบเช่นนี้ ควรที่จะได้ถือโอกาสนำหลักการทางศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสังคมประเทศชาติให้บังเกิดความสมดุล มั่นคงและยั่งยืน บนพื้นฐานแห่งหลักพุทธธรรมข้อที่ว่าด้วย การไม่ทำบาปคือความชั่วทั้งปวง

แม้การทำชั่วจะง่ายกว่าการทำดีก็ตามแต่เมื่อสังคมและประเทศชาติต้องการคนดี จึงต้องช่วยกันรณรงค์คุณค่าแห่งความดีและช่วยกันกระชับพื้นที่ความชั่วให้แคบลง เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา

วันมาฆบูชาจึงจะถือได้ว่าเป็นวันสำคัญสำหรับชาวพุทธไทยอย่างแท้จริง

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง
คณะสังคมศาสตร์ มจร.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image