สุจิตต์ วงษ์เทศ : น้ำพริก เป็นวัฒนธรรมร่วมอาเซียน แต่น้ำพริกเผาไม่ไทย และไม่อาเซียน

น้ำพริกกะปิของกลุ่มบ้านเมืองใกล้ทะเล ในวัฒนธรรมเน่าแล้วอร่อย (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 7 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์ 2542, หน้า 3046)

น้ำพริก เป็นผลต่อเนื่องของอาหารประเภท “ทำให้เน่า แล้วอร่อย” เช่น ปลาแดก, ปลาร้า, น้ำปลา, กะปิ ฯลฯ
อันเป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์ มีกินทุกประเทศอาเซียน ไม่มีใครได้ต้นแบบจากใคร เพราะต่างทำเหมือนกันตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว โดยมีวิธีปรุงและชื่อเรียกต่างไปตามท้องถิ่นของใครของมัน

พริก หมายถึงพริกไทยตั้งแต่แรก (คำว่าพริกไทย ไม่ใช่ของไทยพวกเดียว แต่เป็นของทั้งภูมิภาคอาเซียน แล้วไทยเหมาเรียกเองว่าพริกไทย) แต่หลังจากนั้นขยายความหมายรวมถึงพืชเผ็ดทุกชนิดจากทวีปอเมริกาก็เรียกพริก เช่น พริกขี้หนู, พริกชี้ฟ้า ฯลฯ
คำว่า พริก เป็นคำยืมจากภาษาบาลี-สันสกฤต ไทยรับผ่านตระกูลภาษามอญ-เขมร ดังนี้ บาลี-สันสกฤต ว่า มริจ หมายถึงพริกไทยดำ, เขมร (โบราณ) ว่า มริจ, เขมร (ปัจจุบัน) ว่า เมฺรจ, มอญ (โบราณ) ว่า เมฺรจ แล้วกลายเสียงกับรูปเป็นพริก

น้ำพริกเผาไม่ไทย และไม่อุษาคเนย์ เพราะประกอบด้วยของเผา แล้วคั่วให้หอม ได้แก่ หอม, กระเทียม, พริก (ใหญ่, เล็ก) จากนั้นผัดกับน้ำมันพืช, เกลือ, กะปิ, มะขามเปียก ใส่น้ำตาลตามต้องการ (หรือไม่ใส่ ก็ได้)

เครื่องปรุงและวิธีปรุงน้ำพริกเผาไม่เป็นพื้นเมืองอาเซียนที่ “ทำให้เน่า แล้วอร่อย” แต่ยังไม่พบคำอธิบายว่าน้ำพริกเผาเป็นอาหารในวัฒนธรรมของคนกลุ่มไหน?
มีผู้รู้หลายคนบอกว่าน่าจะได้จากจีนตอนใต้ที่มีเครื่องจิ้มผัดน้ำมันเยิ้มเหมือนน้ำพริกเผาในไทย เช่น อาหารของคนในมณฑลเสฉวน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image