ขจัดคอร์รัปชั่นด้วยบล็อกเชน โดย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ในปี 2017 องค์กร Transparency International คิดคะแนน Corruption Perceptions Index (ดัชนีการรับรู้คอร์รัปชั่น) ของประเทศทั่วโลกจำนวน 180 ประเทศ ใน 180 ประเทศนั้นมีไทยอยู่ด้วย โดยไทยได้คะแนน 37 คะแนน เต็มหนึ่งร้อย (ยิ่งมากยิ่งดี) คิดเป็นอันดับ 96 จาก 180 ประเทศ นั่นคือ กลางๆ ค่อนไปทางเลว เมื่อดูลึกลงไปถึงอัตราการรับสินบน (Bribery Rate) จะพบว่าประเทศไทยมี Bribery Rate ที่ 41% มากกว่ากัมพูชาและเมียนมา (40%) แต่ดีกว่าเวียดนาม (65%) และอินเดีย (69%)

ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาเรื้อรังที่เราเผชิญกันมาโดยตลอด – คำตอบของการแก้ไขคอร์รัปชั่นนั้น เราคงไม่อาจพึ่งพาหวังให้มี “คนที่ดี” เข้ามาบริหารประเทศอย่างเดียวได้ แต่มันต้องถูกแก้ไขในเชิงระบบด้วย ทั้งในตัวบทกฎหมาย การควบคุมดูแล และ – ถ้าเป็นไปได้ –
เทคโนโลยี

ปัจจุบันคงมีหลายคนที่เคยได้ยินคำว่าบิตคอยน์ (Bitcoin) แต่คนที่เคยได้ยินคำว่าบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังบิตคอยน์นั้นคงมีน้อยกว่า (ถึงแม้ในช่วงหลังมันจะ “ดัง” ตามบิตคอยน์มาติดๆ ก็ตาม) เว็บไซต์ BrandInside อธิบายว่า “บล็อกเชนเป็นเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน เราจึงรู้ว่าใครมีสิทธิเป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านี้จริงๆ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแต่ละ Block ที่เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ (เชน) จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเรียกการเก็บและแชร์ข้อมูลเหล่านี้ว่าบล็อกเชน” พูดง่ายๆ คือ บล็อกเชนเป็นเหมือนระบบปฏิบัติการอย่างหนึ่ง ที่ข้อมูลภายในมีความเชื่อถือ ตรวจสอบได้ และบิตคอยน์เป็นหนึ่งใน “แอพพ์” บนระบบปฏิบัติการนี้ โดยเป็นแอพพ์ที่ผู้ใช้ตกลงกันว่ามันจะมีมูลค่าทางการเงิน (การเปรียบเทียบนี้ไม่ถูกต้องทางเทคนิคนัก แต่คงพอทำให้เห็นภาพนะครับ) แต่อันที่จริงแล้ว เราสามารถใช้บล็อกเชนเพื่อทำงานอื่นๆ ได้ เช่น มีผู้ใช้บล็อกเชนเพื่อตามรอยสินค้าแฟร์เทรด ว่ากาแฟที่แปะป้ายการค้ายุติธรรมนี้ยุติธรรมจริงไหม สามารถสืบสาวไปได้ถึงต้นไร่หรือเปล่า หรือติดตามเส้นทางการค้าเพชร

เมื่อเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้เราติดตาม หรือตรวจสอบข้อมูลเส้นทางการเคลื่อนเปลี่ยนผ่านมือได้ตลอดเวลา – คำถามก็คือ เราสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้ไหม

Advertisement

ลองคิดถึงระบบที่เราสามารถติดตามเงินของเราได้ตลอด ว่า เงินบาทที่เคยผ่านมือเราไปนั้น ตอนนี้ไปตกอยู่ในมือใคร ที่ไหนบ้าง หรือเงินที่มาถึงเรา มันเคยผ่านมือใครมาก่อนสิครับ – ในทางเดียวกัน เราก็สามารถตรวจสอบได้ว่างบประมาณในการก่อสร้างครั้งหนึ่งๆ นั้นได้รับมาจากงบของกระทรวงทบวงกรมใด และสุดท้ายแล้ว มันไปตกอยู่ในมือใครบ้าง (มือผู้รับเหมา มือคนงาน หรือไปตกอยู่ในบัญชีลับของนักการเมืองที่ “ขอค่าเสียเวลา” สักสี่ซ้าห้าสิบล้าน) เมื่อคิดเช่นนี้แล้วคุณจะเห็นว่าประสิทธิภาพของบล็อกเชนในการขจัดคอร์รัปชั่นนั้นมากมายมหาศาลเหลือเชื่อ

การใช้เหรียญคริปโตสกุลต่างๆ ที่มีความสามารถเพิ่มขึ้น อย่างเช่น Ethereum ที่มีระบบ Smart Contract (สัญญาอัจฉริยะ) ซึ่งสามารถล็อก หรือกำหนดให้เงินเหรียญดังกล่าวถูกจ่ายในเวลาตอนนั้นตอนนี้ หรือจ่ายให้กับใครบางคนเท่านั้น ยิ่งทำให้การคอร์รัปชั่นทำได้ยากขึ้น

ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่นบ้างแล้ว เช่น ในประเทศบราซิล มีบริษัทของรัฐชื่อ Serpro ที่ออกแพลตฟอร์มบล็อกเชนมาเพื่อลดการโกงในบราซิล โดยเฉพาะการโกงเพื่อใช้งานผืนป่าดงดิบในอเมซอนเพื่อทำฟาร์มปศุสัตว์ หรือในสวีเดน ก็มีโครงการ ChromaWay ที่กำลังพัฒนาแนวคิดเพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ในการใช้บล็อกเชนเพื่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับบ้าน ในจอร์เจีย ก็มีการใช้ระบบ Exonum เพื่อจัดการเอกสารที่ดิน เพื่อกันไม่ให้คนไม่ประสงค์ดีมาใช้ที่ดินโดยมิชอบ ด้วยการพิสูจน์หลักฐานที่ไม่อาจแก้ไขมั่วๆ ได้ตลอดเวลา

Advertisement

นอกจากนั้น World Food Programme ยังใช้ระบบบล็อกเชนเพื่อติดตามการแจกจ่ายคูปองอาหารในค่ายผู้ลี้ภัยในจอร์แดนด้วย เพื่อที่ว่าจะได้ไม่มีใคร “กักเก็บ” คูปอง เพื่อเอาไปแสวงหากำไรได้ และเพื่อให้อาหารไปสู่คนที่ต้องการจริงๆ ในปัจจุบัน WFP ใช้บล็อกเชนเพื่อติดตามคูปองอาหารรวมมูลค่ามากถึง 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ยังมีโครงการที่แสดงความเป็นไปได้อื่นๆ อีก เช่น โครงการ FollowMyVote (https://followmyvote.com) ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อติดตามคะแนนเสียงเลือกตั้งของเราแต่ละคน ว่ามันไปถึงหน่วยงานตรงกลางจริงๆ หรือไม่ หรือมีการแอบปลอมบัตร ปลอมคะแนน ทำให้คะแนนรวมออกมาผิดเพี้ยนเพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือเปล่า

ทั้งหมดนี้คือความเป็นไปได้ที่เราอาจใช้บล็อกเชนเพื่อติดตามเส้นทางเงิน เส้นทางคะแนนเสียง เส้นทางคูปองหรือสิ่งมีมูลค่าอื่นๆ (เช่น นาฬิกาหรือเครื่องประดับ) ว่าได้มาโดยชอบธรรมหรือไม่ อย่างไร แต่การจะใช้ระบบเช่นนี้ก็ต้องมีดำริริเริ่มจากองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นส่วนสำคัญ

หากรัฐเห็นความไปได้และอนาคตการใช้เทคโนโลยีเพื่อขจัดคอร์รัปชั่น ก็ไม่มีเหตุผลใดที่พวกเขาจะเลือกไม่ทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image