ภาพเก่าเล่าตำนาน : สยามเคยมีช้างมากหลาย…จับส่งขายต่างประเทศ : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ข้อมูลการส่งสินค้าออกของไทยในปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมาใน สินค้ากลุ่มเกษตรที่โดดเด่น คือ น้ำตาลทราย ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ข้าว น้ำปลา กุ้ง ขนมทำจากน้ำตาล นี่เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มเกษตรนะครับ

แผ่นดินขวานทอง อุดมสมบูรณ์มาช้านาน ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีสัตว์บก สัตว์น้ำ พืชพันธุ์ธัญญาหาร ดิน น้ำ ป่าไม้สารพัด ไม่มีภูเขาไฟ ไม่มีพายุ ไม่มีไฟป่า ไม่มีแผ่นดินไหว ไม่มีธรณีสูบ ไม่มีหิมะมีแค่ลูกเห็บ แสนจะสุโขสโมสร

อดีตกาลที่ผ่านมา บรรพบุรุษของเราตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงอยุธยาทำมาค้าขายกับชาวต่างชาติ ต่างถิ่น ที่เข้ามาค้าขายโดยเรือสำเภา ลองมาสืบค้นกันว่า บรรพบุรุษของเราเคยส่งอะไรเป็นสินค้าออก เหมือนกับปัจจุบันนี้มากน้อยเพียงใด?

ย้อนเวลากลับไปราว 400 ปี ดินแดนแผ่นดินขวานทองตรงนี้ (ยังไม่มีอาณาเขต-ประเทศ) คงเป็นป่ารกทึบเขียวขจี ผู้คนแทบไม่มี ทุกแห่งหนอุดมสมบูรณ์ ป่า คือ ป่า ยั้วเยี้ยด้วยสัตว์ ช้าง หมี เสือ สิงห์ กระทิง แรด เก้ง กวาง สัตว์บก สัตว์น้ำ โดยเฉพาะปู ปลา กุ้ง หอยที่เกิดมาแล้วไม่มีคนจับเอาไปกิน เลยต้องพากันแก่ตายกันหมด

Advertisement

บาทหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อ นิโกลาส แชร์แวส บันทึกว่า “ปลาช่อน” ในแม่น้ำของสยามชุกชุมเสียนี่กระไร ที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นมีปลา จับได้แสนง่ายเพราะมันเยอะไปหมด บรรดาลูกเรือสินค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในอยุธยา ตอนขากลับ ก่อนออกเรือ จะจับปลาช่อนที่แสนชุกชุมของสยามมาแล่ ทาเกลือ ตากให้แห้ง แล้วนำใส่เรือไปเป็นเสบียงในระหว่างรอนแรมในทะเล กินได้นานนับเดือน รสชาติแสนอร่อย

ในบรรดาสินค้าที่ส่งออกไปขายต่างประเทศในอดีต ที่น่าสนใจและนึกไม่ถึงชนิดหนึ่ง คือ ช้าง

Advertisement

ขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนในบทความของ ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยนำเสนอใน “มติชน” มาเป็นหลักฐานอ้างอิงครับ

ในอดีต “ช้าง” เป็นสัตว์ที่ถูกวางระดับให้เป็นสิ่งมีชีวิตเคียงคู่ เป็นหนึ่งในรัตนะหรือดวงแก้วคู่กับพระจักรพรรดิราช เรียกว่า “หัตถีรัตนะ”

ในสมัยอยุธยา “พระยาช้างต้น” มีสถานภาพสูงส่งเทียบได้กับขุนนางในตำแหน่งเจ้าพระยา ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (Turpin) ชาวฝรั่งเศส ผู้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับสยามไว้ในหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม” (Histoire du Royaume de Siam) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2314 กล่าวว่า “ขุนนางที่มีเกียรติสูงที่สุดก็ไม่ถือเป็นการเสื่อมเกียรติที่จะมาทำการรับใช้ช้างของพระมหากษัตริย์”

ชาวสยามมีหลักการที่เรียกว่า ตำรา
คชลักษณ์ คือวิธีการ หลักการคัดเลือกช้างที่มีลักษณะอันเป็นมงคลโดยเฉพาะ “ช้างเผือก” ที่จะได้รับเลือกให้เป็นช้างทรงหรือช้างต้นของพระมหากษัตริย์

การมีช้างเลี้ยงดูไว้ในรั้วในวัง ก็ต้องมีการจัดหน่วยงานเพื่อดูแลที่เรียกว่า กรมพระคชบาล
ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งการบังคับบัญชาเป็น 2 กรมย่อยคือ กรมพระคชบาลขวา และกรมพระคชบาลซ้าย

กำลังพลในกรมพระคชบาล มีจำนวนมาก มีหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ช้าง และที่ขาดไม่ได้ คือ บรรดาหมอปะกำ หรือผู้ประกอบพิธีกรรม และบรรดาทหารที่ติดตามในกระบวนช้าง

ในบรรดาชนเผ่าที่มีความชำนาญเรื่องของช้าง ชาวสยามก็นำมาใช้งาน คือ กองทหารช้างข้างฝ่ายมอญ และกองทหารช้างฝ่ายกะเหรี่ยงที่มีความชำนาญในการใช้ช้างในวิถีชีวิตแต่โบราณนานโข

กรมพระคชบาล ถือเป็นหน่วยกำลังรบหลัก มีบทบาทสำคัญที่พระมหากษัตริย์จะไว้วางพระราชหฤทัย แม้กระทั่งในยามปกติที่จะต้องถวายความปลอดภัยต่อพระมหากษัตริย์

ชาวต่างชาติ ราชทูตที่มาเจริญสัมพันธไมตรี โดยเฉพาะฝรั่งตะวันตก จะตื่นตา ตื่นใจ ที่ได้เห็นชาวสยามออกไปจับช้างป่า นำช้างมาฝึกหัด ชาวสยามเก่งกาจเรื่องการนำช้างมาใช้งานสารพัดประโยชน์ ช้าง เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นเครื่องยนต์อันทรงพลัง สัตย์ซื่อ เชื่อฟังนายของมันแบบน่าอัศจรรย์ยิ่ง

ตุรแปงยังบันทึกว่า “การฝึกหัดอย่างหนึ่งซึ่งเขาฝึกบรรดาเจ้านายในพระราชอาณาจักรสยามก็คือการขี่ช้าง เช่นเดียวกับในทวีปยุโรปเขาสอนผู้มีสกุลให้ขี่ม้า ความสามารถจริงๆ ก็คือวิธีขึ้นขี่บนคอช้าง”

เมื่อช้างคือ ของขวัญที่สวรรค์ส่งลงมาให้มนุษย์ใช้งาน ช้างจึงเป็นสินทรัพย์อันเลอค่า เป็นปัจจัยสำคัญด้านเศรษฐกิจสามารถทำเงินทำทอง ช้างในแผ่นดินนี้ มีมากมายมหาศาล ช้างจำนวนหนึ่งก็สามารถเป็นสินค้าทำเงินได้

หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งแรก พ.ศ.2112 มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า พม่ายึดเอาของมีค่า ใช้ช้างบรรทุกสัมภาระ สมบัติทั้งปวงกลับไป ที่สำคัญคือ นำโขลงช้างไปด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้อยุธยามีกำลังเพียงพอต่อต้านพม่า

สลับฉากมาที่ “การค้าช้าง” ที่สยามมีเหลือเฟือถึงขนาดส่งออกไปขายทำเงิน

ในอดีตสมัยอยุธยาเป็นศูนย์กลางการเมือง การปกครอง การติดต่อค้าขาย พ.ศ.2060 โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เดินทางด้วยเรือเข้ามาติดต่อค้าขาย การค้ากับชาติตะวันตกรุ่งเรืองเฟื่องฟูที่สุดในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาทรงมีไมตรีกับชาวตะวันตก ทรงให้การต้อนรับชาวตะวันตก โดยเฉพาะโปรตุเกส ทรงอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสตั้งบ้านเรือน ห้างร้าน ค้าขาย และเผยแผ่คริสต์ศาสนาได้ ซึ่งโปรตุเกสก็ตอบแทนโดยช่วยจัดหาปืน กระสุนดินดำให้ และยังให้ชาวโปรตุเกสเข้ารับราชการในกองอาสาปืนไฟถึง 300 คน

นอกจากชาวโปรตุเกสแล้วชาวตะวันตกชาติอื่นที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส

การค้าขายใช้เรือสินค้าเป็นหลัก จึงต้องใช้สถานีการค้าเป็นเมืองชายทะเล เช่น นครศรีธรรมราช ปัตตานี สงขลา และมะริด

สินค้าออก ของราชอาณาจักรอยุธยาจะต้องขายผ่านพระคลังสินค้า ทั้งนี้ เพราะสินค้าพื้นเมืองบางชนิดเป็นที่ต้องการของชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก หากปล่อยให้ซื้อขายกันโดยไม่ควบคุม เกรงว่าของเหล่านั้นจะหมดสิ้นไป ทางการจึงกำหนดชนิดของสินค้าต้องห้าม เช่น ไม้กฤษณา นอแรด ดีบุก งาช้าง ไม้จันทน์ ไม้หอม และไม้ฝาง

สินค้าประเภทของป่าจากอยุธยาขายดิบขายดี ปริมาณการค้าขยายตัวออกไป จึงต้องกำหนดสินค้าต้องห้ามเพิ่มขึ้นอีก เช่น ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง มีสินค้าต้องควบคุม เช่น ดินประสิว ตะกั่ว ฝาง หมากสง หนังสัตว์ เนื้อไม้ งาช้าง ดีบุก ไม้หอม

สินค้าที่ขายดีผลิตไม่ทันอีกอย่างหนึ่ง คือ “ข้าว” ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ข้าวกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญ โดยส่งไปประเทศจีนไม่น้อยกว่าปีละ 65,000 หาบ บางปีส่งไปหลายแสนหาบ และบางปีถึง 1 ล้าน 5 แสนหาบ ซึ่งสะท้อนภาพความมั่งคั่งของแผ่นดินขวานทอง

พ่อค้าญี่ปุ่นเข้ามากว้านซื้อหนังกวางจากสยามไปทำชุดเกราะซามูไร ญี่ปุ่นเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อหนังกวางจากอยุธยา โดยนำหนังกวางตากแห้งไปฟอกให้นิ่ม เพิ่มความเหนียวทนทาน ตัดแต่งเป็นชุดเกราะให้ซามูไร หนังกวางขายดี จนกระทั่งพระคลังสินค้าของอยุธยาต้องขึ้นบัญชี กำหนดอำนาจผูกขาดการค้า ก่อนที่ภายหลังจะมีการให้สัมปทานแก่บริษัทของฮอลันดา ว่า ในช่วง พ.ศ.2176-2206 มีหนังกวางจำนวนมากเกือบ 2 ล้านผืน ถูกส่งออกไปยังญี่ปุ่น

ช้างป่าที่ฝึกแล้วก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกของสยาม “การค้าช้าง” ของราชสำนักสยามเป็นเรื่องที่คนไทยรุ่นหลังพึงเรียนรู้

เมื่อต้องการจับช้างไปขาย ไพร่พลจากหัวเมืองจะออกไปคล้องช้างป่าเพื่อฝึกจนเชื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งนอกจากจะฝึกมาใช้งานในสยามแล้ว ก็ยังเป็นสินค้าส่งออกกำไรดี มีออเดอร์เยอะ จนกระทั่งรัฐต้องเข้ามาผูกขาดการส่งออก

อินเดีย เป็นประเทศคู่ค้าช้างที่สำคัญ พ่อค้าจากดินแดนภารตะเข้ามาขอซื้อช้างที่ผ่านการฝึกจากสยามแล้ว เพื่อนำไปเป็นช้างศึก โดยแลกเปลี่ยนกับ “ผ้าฝ้ายพิมพ์ลาย” จากชายฝั่งโคโรมันเดล

ใน พ.ศ.2227 ในสมัยพระนารายณ์ เป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจของการส่งช้างไปขาย นายห้างจากอินเดียต้องการช้างที่ฝึกแล้วจำนวนมาก โดยการซื้อแต่ละครั้งอินเดียจะซื้อช้างจากสยามนับร้อยเชือก มีครั้งหนึ่งที่พ่อค้าอินเดียต้องใช้เรือถึง 6 ลำ เพื่อขนย้ายช้างจำนวน 115 เชือกไปยังเมืองมะสุลีปัตนัม

ช้างที่ผ่านการฝึกแล้ว คือ เครื่องจักรอันทรงพลัง ที่มีชีวิต เนรมิต ฝ่าฟันงานที่ลำบากยากเข็ญทั้งปวงให้เป็นเรื่องง่าย

ช้างเป็นพาหนะที่จะใช้เดินทางรอนแรมไปในภูมิประเทศที่เป็นป่ารกชัฏ ลุยลงไปในแม่น้ำลำธาร ตัวใหญ่เชื่องช้ากว่าม้า หรือวัว แบกน้ำหนักบรรทุกได้มาก ทั้งยังทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้นได้ดี

ช้าง เป็นสัตว์ที่ฉลาดและฝึกฝนได้ง่าย แต่การจับช้างป่าก็ไม่ใช่เรื่องหมูๆ ต้องมีวิธีการซึ่งชาวสยาม ชาวกะเหรี่ยง ชาวมอญถ่ายทอดวิชาการจับช้างป่าหรือช้างเถื่อน

การจับแบบ “จับเพนียด” คือสร้างคอกใหญ่สำหรับต้อนโขลงช้างเข้าไปขัง นายโยสต์ สเคาเต็น (Joost Schouten) หัวหน้าสถานีการค้าของฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) ประจำกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง บรรยายเรื่องการคล้องช้างชาวสยามว่า

“ชาวสยามจะใช้ช้างพังหรือช้างตัวเมียประมาณ 20 ถึง 30 เชือกเป็น “ตัวล่อ” ช้างจ่าฝูงซึ่งเป็นช้างตัวผู้ เมื่อจ่าฝูงตามช้างล่อเข้าไปในเพนียดบรรดาช้างอื่นๆ ในฝูงจะตามเข้าไป เมื่อเข้าไปแล้วช้างจะออกจากเพนียดไม่ได้ จากนั้นควาญก็จะเลือกคล้องช้างตามความต้องการ ตัวที่ไม่ได้ลักษณะจะถูกปล่อยกลับเข้าป่าไป”

ชาวฝรั่งเศสผู้นี้ ตื่นเต้นที่ได้ไปชมการคล้องช้าง เขียนบรรยายต่อว่า

“การจับแบบ ‘โพนช้าง’ เป็นการล้อมจับในที่แจ้งทีละตัวโดยใช้ช้างที่เชื่องล้อมช้างป่า แล้วใช้บ่วงเชือกคล้องเท้ามัดจนดิ้นหนีไม่ได้ การคล้องวิธีนี้ยากกว่าทุกวิธีเพราะต้องเอาล่อเอาเถิดกันระหว่างคนกับช้าง มักนิยมใช้จับช้างที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษในฝูงอย่างช้างเผือก”

การคล้องช้าง หรือการจับช้างป่า เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นระทึกขวัญสำหรับฝรั่งตะวันตกยิ่งนัก พระมหากษัตริย์สยามแต่โบราณนำพาราชทูต อาคันตุกะชาวตะวันตกไปชมการจับช้างป่าเพื่อแสดงออกถึงความจริงใจ การมีไมตรีทางการทูตในหลายโอกาส

หนังสือ “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางของคณะทูตอิหร่านที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวว่า ช้างเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอย่างหนึ่งของสยาม ทุกปีพระมหากษัตริย์จะทรงจัดให้มีการคล้องช้าง โดยแต่ละครั้งจะจับช้างได้ราว 200-400 ตัว ช้างส่วนหนึ่งจะถูกฝึกให้เชื่องเพื่อใช้งานและส่งขาย

บันทึกของชาวอิหร่าน แสดงว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ “การค้าช้าง” เป็นธุรกิจที่ทำเงินเข้าพระคลังมิใช่น้อย นอกจากราชสำนักจะดำเนินการจับช้างเองแล้ว ยังอนุญาตให้ชาวบ้านจับช้างป่ามาใช้งานได้ แต่ต้องอยู่ในความควบคุมโดยต้องแจ้งจำนวนของช้างต่อทางราชการ นอกจากนี้ ช้างบางเชือกยังถูกส่งมาเป็นค่าภาคหลวงแทนภาษีของราษฎรที่จ่ายให้แก่ราชสำนัก ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ราชสำนักจะได้ช้างมาไว้ใช้งานและส่งขายต่างประเทศ

เมืองทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย คือ เมืองเบงกอล จะซื้อช้างจากอยุธยาไปชักลากไม้ออกจากป่าเช่นเดียวกับที่สยามใช้งาน ใช้เป็นพาหนะในการเดินทางและทำสงคราม ซึ่งการทำสงครามระหว่างศาสนาในอินเดียยืดเยื้อเรื้อรัง จึงต้องใช้ช้างจากอยุธยาต่อเนื่อง

กองทัพสยามในอดีต ก็นำปืนใหญ่ขนาดย่อมติดบนหลังช้าง ทำหน้าที่เหมือนป้อมปืนได้เช่นกัน อยุธยาเอาจริงเอาจังกับการค้าช้างถึงขนาดพัฒนาหัวเมืองชายฝั่งให้สะดวกต่อการลำเลียงช้างลงเรือ

ช้างจากสยามมีจุดเด่น คือ ทุกตัวที่ส่งออกจะต้องผ่านการฝึก ผ่านการทำงานมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าปลื้มที่สุด เพราะหาไม่ โขลงช้างจะไปอาละวาดบนเรือขณะที่แล่นในทะเลซึ่งจะเป็นเรื่องเศร้า

ผู้เขียนพบข้อความในประวัติศาสตร์ ที่นายตุรแปง ชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้อีกว่า “ช้างสยามเป็นช้างงามที่สุดในโลก เมื่อช้างนอนจะเอางวงใส่ปากแล้วยืนหลับเพราะกลัวมดจะเข้าไปในงวง ช้างกินหญ้า กิ่งมะพร้าว ใบกล้วย งาช้างสยามส่งไปขายเมืองสุรัต (อินเดีย) และทวีปยุโรป มีการส่งตัวช้างลงเรือจากเมืองมะริดไปขายให้พ่อค้าจากฝั่งโคโรมังเดลและอาณาจักรโมกุลปีละอย่างน้อยห้าสิบเชือก ช้างรักลิง แต่เกลียดไก่ เห็นกันไม่ได้ ต้องตามเหยียบไก่จนตาย ดังนั้น ในเรือที่บรรทุกช้างจึงต้องระวังไม่ให้ไก่ออกจากกรง ช้างเกลียดเสือและจระเข้”

แผ่นดินนี้ เคยมีช้างในป่ามหาศาลถึงขนาดจับไปขายต่างประเทศได้ ภาพของช้างเคยปรากฏในธงชาติของสยามในอดีต ช้างเป็นสัญลักษณ์ของชาติ อยู่คู่บ้านเมืองมาช้านาน ทำศึกแกล้วกล้ากอบกู้เอกราชรักษาแผ่นดินเกิด มาบัดนี้ช้างไทยยังต้องทำงานหนักรับใช้นักท่องเที่ยวเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ

ช่วยกันอนุรักษ์ป่า รักษาชีวิตสัตว์ใหญ่ที่มีค่าของชาติให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยของเราสืบไปนะครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ข้อมูลจาก www.siamrecorder.com , youtube.com, silpa-mag.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image