‘ความทุกข์ของผู้สูงอายุ’ : ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

“ผู้สูงอายุ” ในสภาพความเป็นจริง แตกต่างกับ “ผู้สูงอายุ” ทางประชากรศาสตร์ (ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มิได้อยู่ในวัยทำงาน)

โดยสภาพความเป็นจริง “ผู้สูงอายุ” ควรที่จะหมายถึงบุคคลที่มีอายุเกินกว่า 75 ปี ไปจนถึง 80-90 ปี หรือ 100 ปี ซึ่งถือว่าเป็นคนที่ “อายุยืน”

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างในโลกจะต้องมี “การแลกเปลี่ยน” กล่าวคือ ได้อย่างก็จะต้องเสียอย่างเสมอไป อย่างที่พูดกันว่า “ไม่มีของฟรี” ในโลก ดังนั้นเมื่อมีอายุยืน ก็จะต้องแลกกับ “ความทุกข์” บางลักษณะ ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนที่ “คุ้ม” หรือ “ไม่คุ้ม” ก็สุดแต่การวินิจฉัยของแต่ละคน “ผู้สูงอายุ” หลายคนเห็นว่าเป็นการ “ไม่คุ้ม” แต่ก็ต้องปล่อยไปตามเวรตามกรรม ขณะที่บางคนไม่สามารถที่จะทนทุกข์ทรมานได้และในหลายกรณีก็กลายเป็นโศกนาฏกรรม ส่วนที่เห็นว่า “คุ้ม” ก็ต้องแสวงหาแนวทางที่จะประคับประคองสถานการณ์ให้เป็นเช่นนั้น

ความทุกข์ของผู้สูงอายุมีอยู่ด้วยกัน 4 ประการหลักๆ ซึ่งไม่มีผู้สูงอายุคนใดจะหลีกเลี่ยงได้

Advertisement

ข้อแรกก็คือ สถานภาพของชีวิตเบื้องหน้าเปรียบเสมือนกำแพงหนาทึบที่ไม่อาจที่จะทะลวงออกไปสัมผัสกับ “ความสุข” ตามจินตนาการได้เช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า นับตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก ผ่านวัยหนุ่มสาว จนกระทั่งพ้นวัยทำงาน คนเราทุกคนมีชีวิตอยู่ด้วย “จินตนาการ” ที่จะได้สัมผัสกับความสุขและความพอใจในอนาคตทั้งใกล้และไกล จินตนาการดังกล่าวเป็นสิทธิธรรมชาติของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ยกเว้นผู้สูงอายุ การถูกลิดรอนสิทธิธรรมชาติดังกล่าวนี้คือความทุกข์พื้นฐานของผู้สูงอายุ

ข้อที่สอง ผู้สูงอายุไม่อาจหลีกเลี่ยงการเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะเมื่อ “แก่” แล้วก็ต้อง “เจ็บ” อันเป็นสัจธรรม ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นความทุกข์ยิ่งกว่าความทุกข์ใดๆ ทั้งสิ้น และแน่นอน เหนือกว่าความยากจน จะมีความทุกข์มากน้อยเพียงใดก็อยู่ที่สุขภาพ

ข้อที่สาม ผู้สูงอายุจะขาดการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดกับบุคคลอื่นๆ บุคคลที่จะสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดกันได้ก็คือบุคคลที่อยู่ในวัยเดียวกัน หรือเป็นบุคคลร่วมสมัย ที่ต่างก็โรยราและล่วงลับกันไป การที่ถูกจำกัดโอกาสในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวนี้เป็นความทุกข์พื้นฐานประการหนึ่งของผู้สูงอายุ และความทุกข์ ข้อที่สี่ ก็คือความรู้สึกว่าตนเป็นภาระแก่บุคคลอื่น เพราะไม่สามารถช่วยตนเองได้ จำเป็นจะต้องพึ่งพาบุคคลอื่นอยู่เสมอไป

Advertisement

การคลายความทุกข์พื้นฐานทั้ง 4 ข้อข้างต้นนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่าการมีอายุยืนยาวเป็นสิ่งที่ “คุ้ม” ผู้สูงอายุสามารถคลายความทุกข์ได้ด้วยตนเองหรือหากจะมีบุคคลอื่นช่วยด้วยก็ยิ่งดี

ในประการแรก ผู้สูงอายุจะต้องไม่ “จินตนาการ” ใดๆ ไปข้างหน้า ทั้งนี้เพราะชีวิตได้ดำเนินมายาวไกลแล้ว ถึงจะยังไม่สุดทาง แต่ปลายทางก็พอจะมองเห็นได้ว่าอยู่ไม่ไกล ดังนั้นจึงถือว่าผู้สูงอายุหมดสิทธิที่จะ “จินตนาการ” สิ่งที่ผู้สูงอายุพึงจะกระทำก็คือหวนระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในอดีต หากเลือกเฉพาะเหตุการณ์ที่เป็นความสุขสำหรับจะย้อนไปข้างหลัง โดยลืมเหตุการณ์อันเป็นความทุกข์เสีย แม้จะเป็นเพียงเหตุการณ์เล็กๆ ที่เคยให้ความรู้สึกที่ดี การย้อนระลึกถึงวาบเดียวก็จะทำให้มีความรู้สึกว่าชีวิตคุ้มค่า บุคคลอื่นก็ช่วยได้ ด้วยการชักชวนให้ผู้สูงอายุระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ

เพื่อรักษาสุขภาพมิให้ก่อความทุกข์ที่เกินกว่าจะรับได้ ผู้สูงอายุก็จำเป็นจะต้องมีวินัยอย่างเคร่งครัดในการดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์และสาธารณสุข ที่สำคัญก็คือการหลีกเลี่ยงทุกสิ่งทุกอย่างอันจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

การอ่านหนังสือและการรับชมรับฟังสื่อสาธารณะต่างๆ เป็นการสร้างระบบการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดกับบุคคลอื่น แม้จะเป็นการติดต่อสัมพันธ์เพียงด้านเดียวก็ตาม ผู้สูงอายุที่อ่านหนังสือ ฟังวิทยุและชมโทรทัศน์จะไม่มีความรู้สึกโดดเดี่ยวแต่ประการใด แม้ว่าจะไม่มีโอกาสได้พบปะสังสรรค์กับใครก็ตาม

สำหรับในเรื่องความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่นที่ผู้สูงอายุบางคนอาจจะวิตกกังวลจนกระทั่งเป็นความทุกข์นั้น เป็นเรื่องของ “หลักคิด” เป็นสำคัญ คนเราที่อยู่ร่วมกันในสังคมย่อมจะเป็นภาระซึ่งกันและกันทั้งสิ้น เพราะไม่มีผู้ใดที่จะดำรงและดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง โดยไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น ตั้งแต่เกิดจนตาย ในอดีตเราก็เคยรับภาระของผู้อื่นมามาก แล้วเหตุใด ผู้อื่นจะไม่รับภาระของเราบ้าง หากผู้สูงอายุมี “หลักคิด” ที่ถูกต้องดังกล่าวนี้ ก็ไม่ควรที่จะรู้สึกเป็นทุกข์ ที่สำคัญก็คือบุคคลอื่นอย่าได้ทำให้ผู้สูงอายุมี “หลักคิด” เป็นอย่างอื่น

หากสามารถคลายความทุกข์พื้นฐานทั้ง 4 ประการข้างต้นนี้ได้ ผู้สูงอายุก็จะรู้สึกว่าเป็นความ “คุ้ม” ที่มีชีวิตกันยืนยาว เพราะแม้จะต้องแลกกับความทุกข์ ด้วย “ของฟรีไม่มีในโลก” หากก็เป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image