พลวัต การเมือง Start Up People กับ คำสั่ง คสช.

หากมองผ่านปริมาณการชุมนุมของกลุ่ม Start Up People ไม่ว่าครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม กับครั้งหลังเมื่อวันที่ 10 มีนาคม มีไม่มาก

เป็นจำนวน “ร้อย” ยังไม่ถึง “พัน”

กระนั้น หากมองทั้งในทาง “รูปแบบ” และในทาง “เนื้อหา” จะสัมผัสได้ถึงพัฒนาการ ไม่ว่าในด้านความถี่ ไม่ว่าในด้านของข้อเสนอ

ต้องยอมรับว่าดำเนินไปอย่างมี “พลวัต”

Advertisement

เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ “ความเข้ม” ของ คสช.และของตำรวจในเบื้องต้นกับที่สัมผัสได้ในระยะหลังยิ่งเห็นในความเปลี่ยนแปลง

บทบาทของ “พันเอก” ฝ่ายกฎหมายเริ่ม “หาย” ไป

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเริ่มผ่อนปรน ขณะเดียวกัน ทางด้านอัยการก็มองเห็นว่าการเดินหน้าฟ้องร้องก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

Advertisement

“พลวัต” เหล่านี้สะท้อนอะไร

มองจากมุมทางด้าน “ปริมาณ” การเคลื่อนไหวของกลุ่ม Start Up People แทบไม่มี “พัฒนาการ” สรุปตามสำนวนเดิมๆ ก็คือ

จุดไม่ติด

สื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ อย่างโทรทัศน์ไม่ว่าอะนาล็อก ไม่ว่าดิจิทัล ให้ความสนใจนำไปเสนอน้อยมาก

หรือหากเสนอก็ประเมินต่ำ

จะมีก็แต่เพียงในสื่อออนไลน์ ทางด้านโซเชียลมีเดีย แต่หากพิจารณาจากครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม กับ ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ก็มีความแตกต่างน้อยมาก

ตรงนี้เองที่ฝ่ายกฎหมาย คสช.ไม่ขยับ

ตรงนี้เองอาจเป็นเหตุผลของเจ้าพนักงานอัยการตั้งข้อสังเกตว่าหาก

ฟ้องร้องไปก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

แต่ถ้าประเมินผ่านความเป็นจริงของสังคมก็จะเป็นอีกเรื่อง

คําว่าเป็นอีกเรื่องก็คือ สิ่งที่กลุ่มรวมพลคนอยากเลือกตั้งดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มกราคม ณ บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน นั้นเท่ากับเป็น “หัวเชื้อ”

ตรงกับคำว่า Start Up ในทางเป็นจริง

สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องและนำเสนอต่อ “สังคม” เป็นการจุดประกาย นำร่องในทางความคิด กึ่งชี้นำแต่ก็ชี้นำไม่รุนแรง แข็งกร้าว

ความต้องการมีเพียงอย่างเดียว คือ อยาก “เลือกตั้ง”

ผลสะเทือนในทางเนื้อหาความคิดก็เป็นไปอย่างที่แม้กระทั่ง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ คสช.อยู่ด้วยก็ออกมายอมรับ

นั่นก็คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศก็ “อยากเลือกตั้ง”

ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเก่า ไม่ว่าพรรคใหม่อีกกว่า 50 พรรคที่แสดงเจตจำนงตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ก็ล้วนแต่ “อยากเลือกตั้ง”

คำว่า “อยากเลือกตั้ง” จึงกำลังกลายเป็น “กระแส”

การ Start Up ของพวกเขาจึงไม่ถือว่า “สูญเปล่า” อย่างสิ้นเชิง

หาก คสช.ยืนยันในหลักการต้องการสร้างบรรยากาศเพื่อนำไปสู่ “การเลือกตั้ง” หากรัฐบาลยึดมั่นใน “โรดแมป” ที่ตนเองมีส่วนในการจัดทำ

จะไปห้ามการ Start Up ทำไม

จะรักษาประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ห้ามดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเอาไว้ทำไม

ยกเลิกและปลดล็อกเสียเลย ไม่ดีกว่าหรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image