ทำไมคนจึงไม่ทำตามกฎหมาย? ตอนที่ 4 : เพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม โดย : กล้า สมุทวณิช

แม้สาเหตุที่เราควรเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย นั่นเป็นเพราะกฎหมายเป็นกติกาที่กำหนดไว้เพื่อความสงบสุขของสังคม และเพื่อป้องกันยุติปัญหาความขัดข้องระหว่างหน้าที่สิทธิประโยชน์ระหว่างกันของบุคคล หากสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องยอมรับ คือ กฎหมายกับความเป็นธรรม หรือกฎหมายกับความยุติธรรมนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

ผู้ใดที่ยืนยันว่า สิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ว่าประการใดคือความถูกต้อง กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ทุกคนต้องปฏิบัติโดยยุติธรรมนั้น ถือว่ากฎหมายนั้นคือความยุติธรรมหรือความชอบธรรมโดยอัตโนมัติแล้ว สันนิษฐานได้ว่า หากเขาไม่ใช่ผู้ที่จะเป็นฝ่ายได้เปรียบเพราะกฎหมายแล้ว เขาก็คือคนที่มีอำนาจในการกำหนด “กฎหมาย” นั้นขึ้นมาเอง และเขาถือใช้กฎหมายมาห่อหุ้มอำนาจเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะยอมรับในหลักการว่ากฎหมายอาจจะไม่ยุติธรรมก็ได้ แต่หากยอมให้ใครต่อใครอ้างว่ากฎหมายนั้นไม่ยุติธรรม จึงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือละเมิดกฎหมายไปได้เสียทั้งหมด ก็จะเป็นภาวะสุดโต่งและไร้ระเบียบได้ในอีกทางหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องมี “หลักเกณฑ์” อะไรสักอย่าง ที่จะใช้เป็นเครื่องชี้วัดตัดสินว่ากฎหมายนั้นไม่ยุติธรรมหรือขาดความชอบธรรมอยู่ด้วย ไม่ใช่ว่าใครจะกล่าวอ้างลอยๆ ว่ากฎหมายที่ตนไม่ชอบ หรือเป็นโทษ ไม่ก่อประโยชน์ให้ตนนั้นไม่ยุติธรรม

“หลักเกณฑ์” ที่อาจจะใช้ในการพิจารณาว่า กฎหมายใด “ยุติธรรม” หรือชอบธรรมหรือไม่ อาจจะพิจารณาแบ่งได้เป็น “เกณฑ์ภายใน” กับ “หลักเกณฑ์ภายนอก”

Advertisement

หลักเกณฑ์ภายในง่ายที่สุดนั้น คือ “รัฐธรรมนูญ” ที่ถือเป็นแม่บทแห่งกฎหมาย โดยในรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมเป็นประชาธิปไตยนั้น จะมีการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเอาไว้ เป็นหลักประกันว่า ไม่ว่าจะมีการตรากฎหมายโดยเสียงข้างมากหรือผู้มีอำนาจใด ก็จะออกกฎหมายที่จะขัดหรือแย้งต่อหลักการพื้นฐานแห่งการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนี้ไม่ได้

ดังนั้น ข้ออ้างที่ฟังขึ้นว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นธรรม ประการแรก คือการอ้างว่ากฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

กฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อาจจะพิจารณาได้จากรูปแบบและเนื้อหา ในเรื่องของรูปแบบ คือกฎหมายนั้นจะต้องเป็นบทบัญญัติที่หมายให้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งเป้าจะให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ดังนั้นหากมีกฎหมายใดที่ปรากฏชัด หรือเล็งเห็นได้ว่าตราขึ้นเพื่อเอาโทษหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างชัดเจนแล้ว กฎหมายนั้นก็อาจพิจารณาได้ว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

Advertisement

ส่วนในทางเนื้อหานั้น กฎหมายต้องไม่ขัดหรือแย้ง ละเมิดหรือจำกัดสิทธิสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ หรือเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ หลักการที่กล่าวไปนี้ แม้แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังรับรองไว้ในมาตรา 26

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายนั้นจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว หรือถูกวินิจฉัยตัดสินว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่กฎหมายนั้นก็อาจจะยังไม่เป็นกฎหมายที่เป็นธรรมก็ได้ นั่นก็เพราะว่าตัวรัฐธรรมนูญอันเป็นหลักเกณฑ์ภายในเอง ถือเป็นผลิตผลของอุดมการณ์อันปลูกฝังมาอย่างต่อเนื่องยาวนานของรัฐประเทศนั้นๆ เช่นนี้หากสังคมรัฐนั้นไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชน หรือปกครองครอบงำด้วยความคิดความเชื่อที่ไม่ศรัทธาในความเป็นมนุษย์หรือความเสมอภาคเท่าเทียมเสียแล้ว กฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในประเทศเช่นว่านั้น ก็ยากที่จะเป็นกฎหมายที่ชอบธรรมหรือยุติธรรมไปได้
ดังนั้นหากกฎหมายใดแม้จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญอันเป็นหลักเกณฑ์ภายใน แต่หากขัดต่อหลักการของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนในระดับสากล ที่ถือเป็น “หลักเกณฑ์ภายนอก” ก็อาจจะต่อสู้ได้ว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นธรรม ไม่ชอบธรรม

ดังนั้น เมื่อใครที่รู้สึกว่ากฎหมายที่ตนเองต้องอยู่ใต้บังคับนั้นเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ด้วยขัดหรือแย้งต่อหลักเกณฑ์ภายใน หรือหลักเกณฑ์ภายนอกแล้ว หากเขาเลือกที่จะโต้แย้งก็มีสองวิธีหลักๆ

วิธีการแรก ก็คือการต่อสู้กับกฎหมายนั้น ภายใต้ขอบเขตของกระบวนการแห่งกฎหมายที่เปิดช่องให้ทำได้ นั่นคือการต่อสู้ว่ากฎหมายที่จะใช้บังคับแก่ตนนั้นขัดหรือแย้งหรือมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันเป็นเกณฑ์ภายในที่ชี้วัดความชอบธรรมของกฎหมายนั้น ในปัจจุบัน ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง หรืออาจจะสร้างรูปแบบเพื่อให้คล้ายว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย ก็จะมีองค์กรวินิจฉัยที่อาจเรียกรวมๆ กันได้ว่า “ตุลาการทางรัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าจะอยู่ในรูปลักษณ์ชื่อเรียกใด เช่น ศาลสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการ คณะกรรมการ หรือสภารัฐธรรมนูญ

หากองค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนี้ เห็นว่ากฎหมายที่มีการต่อสู้โต้แย้งไปนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็จะส่งผลให้กฎหมายนั้นไม่มีผลใช้บังคับ หรือให้ยกเลิกไปโดยปริยาย เพียงแต่เงื่อนไขของการไม่มีผลบังคับจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นกับระบบกระบวนยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ

ประเทศไทยเรานั้นก็เป็นประเทศหนึ่งที่ยอมรับให้ประชาชนสามารถต่อสู้ว่ากฎหมายที่มีผลใช้บังคับนั้นไม่ชอบธรรมเพราะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ได้ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติรับรองหลักการไว้ในหมวด 11 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และมีรายละเอียดกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้ไปไม่กี่สัปดาห์ก่อนนี้

ดังนั้นคำพูดที่ว่ากฎหมายคือความถูกต้องชอบธรรม ที่ทุกคนไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ จำเป็นจะต้องยอมรับปฏิบัตินั้น ก็ไม่อาจจะใช้ได้ ในกรณีที่กฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ว่ากฎหมายไม่ชอบธรรม เพราะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการต่อสู้ที่อยู่ใน “กรอบ” ของระบบกฎหมายนั้นเองเปิดช่องทางไว้ให้ต่อสู้ได้ ภายใต้ขอบเขตของหลักเกณฑ์ภายใน เช่นนี้ หากเป็นกรณีที่ระบบกฎหมายนั้นไม่เปิดช่องให้ต่อสู้ หรือเป็นกรณีที่ต่อสู้แล้ว แต่องค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยนั้นถูกครอบงำโดยอุดมการณ์หรือความเชื่อบางประการเสียจนเห็นว่ากฎหมายที่ไม่ชอบธรรมนั้นไม่มีปัญหาอะไร หรือแม้แต่กรณีที่หลักเกณฑ์ภายในของประเทศนั้นมีมาตรฐานต่ำกว่าหลักเกณฑ์สากลภายนอกแล้ว การต่อสู้จะเป็นไปได้อย่างไร

ยังมีการต่อสู้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่อาจถือเป็น วิธีการที่สอง ซึ่งเรียกว่า “การดื้อแพ่งต่อกฎหมายโดยประชาชน” (Civil Disobedience) นั่นคือการปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่ตนเห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมด้วยการจงใจละเมิดฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพื่อประท้วงหรือต่อต้านกฎหมายนั้น

การดื้อแพ่งต่อกฎหมายมีทั้งที่เป็นการดื้อแพ่งต่อกฎหมายนั้นเองโดยตรง เช่น ถ้ารัฐออกกฎหมายห้ามชุมนุมในที่สาธารณะ ที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมหรือการประท้วงอย่างเกินสัดส่วนจนทำลายสาระสำคัญของเสรีภาพดังกล่าว ซึ่งผู้คนกลุ่มหนึ่งเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ขาดความชอบธรรม (โดยอาจจะพิจารณายึดจากเกณฑ์ภายในหรือเกณฑ์ภายนอกก็ได้) คนกลุ่มนั้นก็จะทำการดื้อแพ่ง โดยการออกมาประท้วงโดยฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุมนั้นเสียดื้อๆ เลย หรือการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเพื่อต่อสู้กับกฎหมายอื่น เช่น หากรัฐกำลังจะออกกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมหรือดักกรองข้อมูลที่ผู้คนติดต่อสื่อสารกันผ่านระบบคอมพิวเตอร์
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ก็อาจจะทำการก่อกวนระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐด้วยวิธีการต่างๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

การดื้อแพ่งต่อกฎหมายนั้นแน่นอนว่าจะถูกรัฐหรือฝ่ายที่เห็นด้วยกับรัฐหรือกฎหมายนั้นๆ ตราหน้าว่าเป็นการก่ออาชญากรรม หรืออย่างน้อยก็เป็นพวกสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนให้สังคม ซึ่งจะว่าไป การละเมิดกฎหมายเพื่อการประท้วงหรือต่อสู้กับกฎหมายนั้นก็มีข้อหมิ่นเหม่กับการก่ออาชญากรรมอยู่จริง เช่น ตัวอย่างของคนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยจงใจและเปิดเผย กรณีนี้ถือเป็น “อาชญากรรม” หรือ “การดื้อแพ่งต่อกฎหมาย” กันเล่า

เช่นนี้ จุดตัดของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายกับอาชญากรรมนั้น คือการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย ต้องเป็นการกระทำซึ่งผู้กระทำได้กระทำลงไปเพราะเห็นว่ากฎหมายของรัฐเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม หรือขาดความชอบธรรม จึงเลือกที่จะฝ่าฝืนกฎหมายนั้น เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย หรือไม่ยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นกฎหมาย และเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยสงบและไม่ละเมิดต่อผู้อื่นเกินสมควร เพราะคู่กรณีที่อยู่ตรงข้ามพวกเขานั้นคือ “รัฐ” ขณะที่ “อาชญากรรม” นั้น คือการละเมิดกฎหมายโดยไม่มีวัตถุประสงค์อื่นใด นอกจากประโยชน์ของตนเองเท่านั้น โดยที่ผู้กระทำนั้นก็ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนั้นเสียทีเดียว เพียงแต่เห็นว่าในกรณีนั้น กฎหมายไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อตนเอง ผู้ก่ออาชญากรรมนั้นจะละเมิดต่อ “บุคคลอื่น” มากกว่าที่จะกระทำต่อรัฐ

ดังนั้นเราจึงอาจตอบได้ว่า ในกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญานั้น หากผู้กระทำนั้นละเมิดกฎหมายเพราะไม่เห็นด้วยกับระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจริงๆ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองด้วย เช่น งานของตัวเองก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ใครจะเอางานที่เกิดจากสมองและการสร้างสรรค์ของเขาไปใช้อย่างไรก็ทำได้โดยเสรี แจกจ่ายฟรีไม่มีเงื่อนไข อย่างนี้เรียกว่าการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย แต่ถ้าเป็นกรณีที่ใครอีกคนใช้โปรแกรม Photoshop ที่ละเมิดลิขสิทธิ์มาตกแต่งจัดการภาพถ่ายของตนให้สวยสมใจ แล้วเอาไปโพสต์ลงในอินเตอร์เน็ต แต่เมื่อใครสักคนมาก๊อบปี้รูปที่ตัวเองถ่ายและตกแต่งนั้นไปเผยแพร่ใหม่หรือดัดแปลง ก็ออกมาโวยวายเรียกร้องสิทธิ

กรณีหลังนี้น่าจะถือว่าเป็นอาชญากรรม

ในยุคที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจเป็นธรรม และอาศัยกฎหมายไม่ว่าจะในรูปแบบใดมาฉาบบังหน้าอำนาจเช่นนั้นไว้ เราจะได้เห็นผู้คนจำนวนหนึ่งที่ดื้อแพ่งต่อกฎหมาย ฝ่าฝืนกฎหมายออกมาประท้วง ทั้งที่รู้อยู่ว่าตนเองจะต้องถูกดำเนินคดีอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่กฎหมายนั้นเอื้อต่ออำนาจรัฐนั้นให้ดำเนินการได้ ภายใต้ข้ออ้างแห่งความชอบธรรมตามกฎหมาย แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะยอมรับผลของการละเมิดกฎหมายนั้นด้วยความเต็มใจและกล้าหาญ

ด้วยนี่คือการละเมิดต่อกฎหมายด้วยเจตจำนงของตนเอง ด้วยเหตุผลที่ไปไกลยิ่งกว่าเหตุผลใดๆ ที่ทำให้ผู้คนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เคยได้กล่าวมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ .

ผู้สนใจเรื่อง “การดื้อแพ่งต่อกฎหมาย” อาจหาบทความเรื่อง “การดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน” เขียนโดย อาจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล มาอ่านเพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียด ด้วยการสืบค้นผ่าน Google ด้วยชื่อบทความที่อ้างถึงนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image