ประชารัฐ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อาจกล่าวได้ว่า นวัตกรรมทางการเมืองการปกครองอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญของระบอบการเมืองการปกครองของ คสช.ก็คือ แนวคิดที่ว่าด้วย “ประชารัฐ” ซึ่งหลายคนก็ไม่แน่ใจว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่หลายคนก็ดูจะชอบอกชอบใจว่านี่คือสิ่งใหม่ที่จะนำไทยก้าวพ้นจากวังวนปัญหาเก่าๆ

การนำเอาประเด็นเรื่อง “ประชารัฐ” มาถกแถลงในฐานะหนึ่งในใจกลางสำคัญของระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ น่าจะทำให้เราเห็นร่องรอยบางประการของการเมืองการปกครองในระยะเปลี่ยนผ่าน (คำว่าเปลี่ยนผ่านก็เป็นคำที่ระบอบ คสช.นำเสนอเองไปแล้ว ไม่ใช่การเรียกโดยประชาชนและนักวิชาการตามอำเภอใจ)

ท่ามกลางการถกเถียงในสังคมในประเด็นเรื่องประชารัฐ ผมอยากจะชี้ชวนให้เห็นกระบวนการสำคัญทำให้แนวคิดประชารัฐนั้นสามารถถูกขับเคลื่อนไปในรูปการณ์จิตสำนึกของคน และแรงตึงเครียดหรือประเด็นท้าทายทางความคิด และการปฏิบัติที่แนวคิดแบบประชารัฐต้องเจอ

กล่าวโดยพื้นฐานแล้ว แนวคิดประชารัฐนั้นไม่ใช่คำที่กลวงเปล่า หรือคำที่เกิดจากความเข้าใจผิดทางประวัติศาสตร์ง่ายๆ ดังที่มีการตั้งคำถามกันว่า ประชารัฐเป็นคำที่ติดปากจากท่อนหนึ่งของเพลงชาติไทย ที่ร้องว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน” โดยมองว่าประชารัฐนั้นเดิมคือคำว่าประชาธิปไตย หากดูตามเนื้อเพลงเดิมจริงๆ ดังนั้นผู้ที่มองว่าคำว่าประชารัฐไม่มีสาระสำคัญใดๆ ควรค่าแก่การพิจารณา เนื่องจากมันไม่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์นัก จึงจะต้องพิจารณาใหม่ว่า ต่อให้มันอาจจะไม่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์ แต่ทำไมมันถึงเป็นคำที่ทรงพลังอย่างแรงขนาดนั้น

Advertisement

ผมเห็นว่าคำว่า ประชารัฐ นัยสำคัญของคำนี้มีอยู่หลายมิติ นั่นก็คือ ในทางจิตวิทยาการเมือง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยถือว่าเป็นนวัตกรรมที่มีความสำคัญทางการปกครองในยุคนี้ ซึ่งอย่างน้อยก็ทำให้ทั่นผู้นำ (รวมทั้งฝ่ายกองเชียร์) สามารถกล่าวถึงคำๆ นี้อย่างมั่นใจทุกครั้งที่พูดว่าประชารัฐ ไม่ว่าจะมีการวิจารณ์มากมายจากหลายฝ่ายว่านี่คือของก๊อบปี้มาจากนโยบายประชานิยมหรือไม่ แต่ผมกลับเห็นว่า ประเด็นสำคัญก็คือมันมีความสอดคล้องต้องกันบางประการของระบบคิดที่จะใช้อธิบายคำๆ นี้ ซึ่งความสอดคล้องต้องกันของระบบคิดนี้ ไม่จำเป็นต้องมาจากระบบเหตุผลทางปรัชญา/ตรรกศาสตร์ แต่มันอาจจะมาจากความสอดคล้องต้องกันระหว่างเรื่องราวการรับรู้ และอารมณ์ความรู้สึกของคน โดยเฉพาะความกลัว ความเกลียดชัง และความรักชาติบ้านเมือง ก็เป็นได้

อาจจะกล่าวได้ว่าความสำเร็จของนโยบายประชารัฐนั้นจะต้องแยกพูดในสองประการ หนึ่งคือเรื่องของความสำเร็จเชิงรูปธรรมในฐานะนโยบาย อันนี้คงจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบซึ่งผมจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ และหลายคนก็อาจจะสงสัยจริงๆ ว่ามันสำเร็จจริงไหม และจะสร้างปัญหาอะไรให้กับประเทศในระยะสั้นและในระยะยาวบ้าง

แต่สิ่งที่อยากจะพูดถึงนั้นอยู่ที่ความสำเร็จของนโยบายประชารัฐในแบบที่สองคือในฐานะ “วาทกรรม” ใหม่ที่รองรับความชอบธรรมของการปกครองและการเมืองในยุค คสช.นี่แหละครับ

Advertisement

มาเริ่มตรงจุดกำเนิดหนึ่งที่สามารถสืบค้นได้อย่างเร็วๆ นั่นก็คือ สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวไว้ในเวทีจุดประกาย “สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2558 ว่า จะเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศชาติตามยุทธศาสตร์ประชารัฐแทนประชานิยม (อ้างอิงจาก รติมาคชนันทน์ “วิเคราะห์จุดต่าง ประชารัฐ-ประชานิยม” สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร) โดยนายกรัฐมนตรีเสนอว่า ยุทธศาสตร์ประชารัฐของรัฐบาลนี้จะเป็นความร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ สร้างพลังในการทำความดีเพื่อชาติ ไม่ใช่เพื่อตนเองหรือข้าราชการ แต่เพื่อประชาชนทุกคน โดยคำมั่นสัญญานี้ไม่ใช่นโยบายหาเสียง แต่ถือว่าเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐกับประชาชนที่ร่วมมือกันแก้ปัญหา รวมถึงแก้ไขข้อผิดพลาดที่ผ่านมาในอดีต ไม่ต้องการให้เกิดบุญคุณต่อใคร แต่ต้องการทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน ต่างจากประชานิยมที่เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความนิยมต่อภาครัฐ (ดูรายละเอียด จาก มนตรี ศรไพศาล “ประชารัฐ เพื่อราษฎร์ และ เพื่อรัฐ”ผู้จัดการออนไลน์ 22 กันยายน 2558)

ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมในเรื่องของประชารัฐก็คือ การเน้นย้ำของนายกรัฐมนตรีว่า ประชารัฐไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันมีความต่อเนื่องกับคำว่า “ธรรมาภิบาล”ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (ตอนนี้เราอยู่ที่แผนฉบับที่ 11 โดยเปลี่ยนทุกสี่ปี)

รายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจ (ตามการรายงานของคุณมนตรี) ก็คือ การยืนยันของนายกประยุทธ์ว่าจะต้องทำตามคำสัญญาให้ได้ เพราะตอนนี้รัฐบาลทหารมีอำนาจเป็นธรรมแบบเบ็ดเสร็จแล้ว เหลือแค่ใช้ธรรมเป็นอำนาจ กระทำให้สัมฤทธิ์ผลอย่างซื่อสัตย์เท่านั้น โดยยุทธศาสตร์สำคัญของประชารัฐมีอยู่สี่ประการ ได้แก่

1.การเสริมสร้างหลักการใช้บังคับกฎหมายที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ และปรัชญากฎหมาย โอกาสและสภาวะแวดล้อม ให้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน

2.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาของทุกภาคส่วน

3.การเพิ่มพูนประสิทธิผลและประสิทธิภาพของภาครัฐ และ

4.การสร้างความต่อเนื่องในการบริหารรัฐกิจ (อ้างแล้ว)

อีกแหล่งอ้างอิงที่สำคัญในเรื่องของการตีความประชารัฐ ก็คงจะต้องสืบค้นให้ลึกขึ้นไปกว่าหน้างานและคำแถลงของนายกฯ ซึ่งจะพบว่า เวทีที่นายกรัฐมนตรีไปพูดนั้นเป็นการจัดงานของสำนักงานประสานงานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) ที่งอกเงยมาจากคณะปฏิรูป และสภาปฏิรูปที่ตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน 2553 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน และนายแพทย์ ประเวศ วะสี มาปฏิรูปประเทศขนานใหญ่เป็นเวลาสามปี ก่อนที่หน่วยงานทั้งสองนั้นจะหมดบทบาทไป แต่ก็ยังกล่าวได้ว่ายังมีเชื้อมูลมาเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญให้กับ สปพส.(ตามที่ระบุไว้เองในเว็บไซต์ขององค์กร)

หน่วยงาน สปพส.นี้เองที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเครือข่าย “ประชารัฐ” อย่างเป็นรูปธรรม (ดูเฟซบุ๊กของเครือข่าย) โดยอาจกล่าวได้ว่าเชื่อมประสานไปกับแนวคิดการปฏิรูปเดิม (ทำให้เราสามารถตีความต่อไปได้ว่า การปฏิรูปประเทศไทยในยุคปัจจุบันนั้น นอกจากจะมีเรื่องของการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 แล้ว ยังมีเรื่องของการปฏิรูปหลังเหตุการณ์นองเลือดและเสียชีวิตของคนเสื้อแดงในปี 2553 และการเรียกร้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งในปี 2557 โดย กปปส. และการปฏิรูปในปี 2558 ทั้งจากเรื่องของประชารัฐ และการมีสภาปฏิรูป)

หากพิจารณาจากข้อเขียน และการเสนออย่างเป็นระบบในเรื่องของประชารัฐนั้น จะพบถึงความแนบแน่นของแนวคิดที่มากไปกว่าเรื่องของเพลงชาติไทย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ หลักฐานที่สำคัญคือ เอกสารแผยแพร่แนวคิดที่จัดทำโดยนายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป ที่ชื่อว่า “ขบวนการประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2558 (ดูในเว็บไซต์ของ สปพส.) จะพบการอ้างอิงว่า ประชารัฐนั้นมีความแตกต่างจากประชานิยม และมีความเป็นประชาธิปไตย โดยพลเดชอ้างอิงถึงข้อเสนอ (และข้อสรุป) ที่สำคัญของผู้นำทางจิตวิญญาณของประชาสังคมไทยที่สำคัญท่านหนึ่ง นั่นก็คือ นายแพทย์ ประเวศ วะสี โดยกล่าวว่า

ประชานิยมคือการเอาเงินของรัฐไปแจกชาวบ้าน นักการเมืองเอาบุญคุณ ชาวบ้านอ่อนแอเรื่อยไป ไม่หายจน ขณะที่ ประชารัฐคือการส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาชนคนรากหญ้าให้พ้นความยากจน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ สามารถควบคุมนักการเมือง ทําให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

กล่าวเป็นสมการได้ว่า

ประชานิยม = ประชาชนอ่อนแอ ไม่หายจน

ประชารัฐ = ประชาชนเข้มแข็ง หายจนอย่างถาวร

ทั้งนี้ หากสรุปง่ายๆ โครงสร้างเรื่องของระบบประชารัฐนั้นจะต้องประกอบไปด้วย รูปธรรมโครงการ การสร้างเครือข่าย และฐานข้อมูล

ขอเพิ่มเติมอีกสักนิดว่า พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในสมัยพล.อ.สุรยุทธ์) และมีบทบาทใน สสส.นั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ของ คสช.ด้วย และเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงการใช้งบประมาณของ สสส.สนับสนุนโครงการประชารัฐของรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ซึ่งก็พบว่า โครงการประชารัฐเป็นไปตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อของ สสส. ซึ่งเหมือนทุกอย่าง แต่เป็นในส่วนของสุขภาวะสังคม สุขภาวะชุมชนในแบบองค์รวม (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 11 ม.ค. 59)

เห็นมาถึงตรงนี้ไม่ใช่จะเขียนให้เห็นแผนผังอะไรหรอกครับ ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า แนวคิดประชารัฐไม่ใช่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีคิดขึ้นมาลอยๆ แต่ความจริงมันมีเหตุให้เชื่อได้ว่าแนวคิดประชารัฐจะต้องมีกองเชียร์ระดับสำคัญให้การสนับสนุนอยู่ และตรงนี้ต้องแยกแยะให้ออกจากการนำเอาแนวคิดประชารัฐไปแปะไว้ตามโครงการ ที่บางทีเราก็งงว่ามันต่างจากโครงการเดิมอย่างไร (อาทิเรื่องของบ้านประชารัฐ) มาสู่เรื่องของการขับเคลื่อนความคิดในเรื่องประชารัฐที่มันเป็นเรื่องของการต่อสู้ผลักดันของเครือข่ายประชาสังคมที่ชูธงปฏิรูปมาโดยตลอด

โดยหัวใจของธงดังกล่าวในระดับวาทกรรมก็คือ ประชารัฐ หรือการปฏิรูป (หากจะนับกว้างๆ) นั้นดีกว่าเรื่องของประชานิยมและประชาธิปไตย

แต่ถ้าจะอธิบายเพิ่มเติมไปอีกขั้นหนึ่งก็คือ ประชารัฐมันดีกว่าประชานิยม มันเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง (เพราะมันปฏิเสธนักการเมือง) และที่สำคัญ มันมีปัจจัยเรื่องชาตินิยมและความรู้สึกในเรื่องของอำนาจนิยมผ่านความร่วมมือของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผ่านการที่ คสช.อ้าแขนรับแนวคิดปฏิรูปเข้ากับความเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือกับเครือข่ายปฏิรูปดังกล่าว แถมยังร่วมมือเต็มที่กับการไม่โกง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่แนวคิดประชารัฐนั้นจุดติด

เพราะในระดับรูปธรรมนั้น ความร่วมมือและการไหลเวียนของงบประมาณจากรัฐกับประชาสังคมนั้นเกิดขึ้นได้โดยไม่ได้แข่งขันกันเหมือนกับยุคทักษิณ ที่ประชานิยมทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างนักการเมืองกับประชาสังคม ขณะที่การขับเคลื่อนในแบบภาคีเครือข่ายเช่นประชารัฐนั้น ทำให้ไม่เกิดความแตกแยกระหว่างรัฐกับประชาสังคม เพราะได้ขจัด “ปัจจัยทางการเมือง” (anti-politics) ของบรรดานักการเมืองออกไป

สิ่งนี้เป็นเรื่องระดับวาทกรรม ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะเรื่องจริงจะเห็นความขัดแย้งในระดับพื้นที่มากมายที่ทุกคนพร้อมจะมองข้าม โดยเฉพาะประเด็นล่าสุด เช่นการใช้มาตรา 44 ในการยกเลิก หรือ fast track นโยบายมากมาย แต่นั่นแหละครับ ภาคประชาสังคมก็พร้อมที่จะมองรัฐในแง่บวก ตราบใดที่ขจัดนักการเมืองในฐานะคู่แข่งอำนาจออกไปได้ และไม่ได้สนใจว่ารัฐกับเอกชนนั้นก็ยังร่วมมือกันอย่างแนบแน่นเช่นเคย เหมือนที่ครูผมบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ MBA แบบใหม่ คือ Military-Business Authoritarianism

แต่กระนั้นก็ตาม จุดเด่นที่ประชารัฐนั้นมีเหนือกว่าประชานิยมอย่างมากอาจไม่ใช่เรื่องทางเศรษฐกิจที่พยายามตีปี๊บกัน เพราะตัวเลขจริงไม่กระเตื้อง และความเชื่อมั่นของประชาชนไม่ได้กลับมา เพราะความเชื่อมั่นของประชาชนรากหญ้านั้นส่วนสำคัญอยู่ที่ประชาธิปไตยด้วย แต่จุดแข็งที่ประชารัฐมี แต่ประชานิยมและประชาธิปไตยในช่วงที่แล้วอ่อนด้อยโดยตั้งใจหรือโดยไม่ตั้งใจก็คือ มิติเรื่องชาตินิยม ซึ่งใช่ว่าจะไม่มี แต่ไม่สามารถทำให้ประเด็นชาตินิยมเป็นพลังสำคัญในการต่อต้านสิ่งที่ไม่ดีในสังคมได้ เช่นการโกง เป็นต้น

ความเพิกเฉยละเลยในเรื่องชาตินิยม ส่วนหนึ่งมาจากรากฐานทางทฤษฎีของนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธความสำคัญเรื่องชาติ แต่ไม่ได้มีสิ่งที่ทรงพลังกว่านั้นมาแทนที่ ทั้งที่มีความพยายามอยู่มาก เช่นความเท่าเทียม ความเป็นธรรม รวมทั้งสิทธิมนุษยชน แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็ยังไม่สามารถที่จะสกัดยับยั้งอำนาจนอกประชาธิปไตยได้ และเนื่องจากประชาธิปไตยที่ไม่เข้มแข็งจากภายในเองด้วย

ที่กล่าวถึงมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่กว้างไปกว่าเรื่องของการมองแค่ว่า ประชารัฐ คือการร่วมมือกันระหว่างประชาชนกับรัฐ แต่หมายถึงการพยายามอธิบายของกลุ่มพันธมิตรของรัฐที่มีเครือข่ายมากมายที่ทำให้แนวคิดประชารัฐนั้นไม่ถูกโต้แย้ง ทั้งจากฝ่ายประชาสังคมที่ร่วมมือกับรัฐด้วยดี ทั้งหลังรัฐประหาร 49 และ 57 รวมทั้งการที่ฝ่ายประชาสังคมไม่ได้ก้าวล่วงไปในพื้นที่ความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เว้นแต่เมื่อมีการล้ำเส้นกันนิดๆ หน่อยๆ ในกรณีโครงการต่างๆ มากกว่าในกรณียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศทั้งระบบ แนวโน้มพันธมิตรที่รัฐรับหน้าที่กำราบหรือส่งนักการเมืองไปพักร้อน และปราบปรามเสียงเจี๊ยวจ๊าวของฝ่ายต่อต้าน และทำหน้าที่ในแบบที่หันมาเชื่อมโยงกับประชาสังคมในทางหนึ่ง และเร่งรัดผลักดันการพัฒนากับเอกชนในอีกทางหนึ่ง นี้เองที่ทำให้การก้าวกลับสู่ประชาธิปไตยดูเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ข้อกังวลของพลังปฏิรูปของประเทศและพลังการลงทุนของประเทศมากนัก

เงื่อนไขทางจิตวิทยาการเมืองของการสร้างศัตรูร่วมคือการปฏิเสธ (ภาค) การเมือง ของทั้งประชาสังคมและเอกชน โดยมีรัฐทหารและข้าราชการที่ส่งเสริมธรรมาภิบาล ที่ลดทอนเรื่องของประชาธิปไตยไปเป็นแค่การมีส่วนร่วมของประชาชนและการใช้มาตรการอื่นในการวัดประเมินประสิทธิภาพของการบริหาร จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประชารัฐเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการสร้างสภาวะปกติแบบใหม่ (new normal) ของประเทศนี้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image