หนทาง ขวากหนาม จาก “รัฐธรรมนูญ 2560” ก่อน หลัง เลือกตั้ง

หากเริ่มต้นจากแต่ละบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ว่าจะหน้าใหม่อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่าจะหน้าเก่าอย่าง นายชวน หลีกภัย ล้วนรู้

รู้ว่ามี “ปัญหา”

ไม่เพียงปัญหาในระหว่างทาง นั่นก็คือ การเลือกตั้ง หากแต่ยังมีปัญหาต่อเนื่องไปอีกกลางทาง คือการจัดตั้งรัฐบาล

รวมถึงปัญหาปลายทาง คือ การบริหารของรัฐบาล

Advertisement

ในเบื้องต้นคิดกันว่า หากนายกรัฐมนตรีเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้นทาง กลางทางปลายทางน่าจะราบรื่น

ราบรื่นอย่างชนิด “ฉลุย”

กระนั้น เมื่อปี่กลองเริ่มขึ้น สภาวะแห่งความไม่แน่นอนก็ค่อยๆ สำแดงตัวออกมาเรื่องแล้วเรื่องเล่าบ่งชี้ที่คิดว่าราบรื่น อาจไม่ราบรื่น

Advertisement

คำถามก็คือ แล้วทำไมจึงยังเดินหน้าไปยัง “เลือกตั้ง”

ต้องยอมรับว่าภาพสะท้อนอย่างนี้คือ จิตใจอันวีระอาจหาญของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนุน คสช. ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายต้าน คสช.

แน่นอน เป้าหมายอาจไม่เหมือนกัน

เพราะว่าฝ่ายหนุนก็คงคิดว่า ทุกอย่างจะราบรื่นเหมือนกับยืนอยู่บนเนินเขา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถหยิบชิ้นปลามันได้แน่นอน

เนื่องจาก “ประชารัฐ” เนื่องจาก “ไทยนิยม”

ยิ่งกว่านั้น ยังมีฐานจากโครงสร้างระบบราชการอย่างที่เรียกว่า 1 พลเรือน 1 ตำรวจ 1 ทหาร อันมีชื่อย่อ “พตท.” รองรับอย่างเข้มแข็งเกรียงไกร

ทั้งยังมีบรรดา “นายทุนประชารัฐ” ห้อมล้อมอย่างอบอุ่น

การเลือกตั้งจึงเท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับ คสช. ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ครองอำนาจอย่างชนิดน้องๆ “สีจิ้นผิง”

คำถามก็คือ แล้ว “นักการเมือง” มีเป้าหมายอย่างไร

นักการเมืองอยู่ในจุดอันเรียกได้ตามบทเพลงที่ว่า “กูจะสู้แม้จะรู้ว่ากูแพ้” มิใช่เพราะไม่สามารถถอยไปได้อีกแล้วเพราะถอยก็ตกเหว หรือตกทะเล

หากแต่เชื่อมั่นใน “รัฐธรรมนูญ”

เชื่อมั่นว่าบรรดา “กับดัก” ที่เนติบริกรระดับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ หรือแม้กระทั่ง นายวิษณุ เครืองาม วางเอาไว้นั่นแหละจะก่อปรากฏการณ์ใหม่ในทางการเมือง

นั่นก็คือ คสช.เองก็จะต้อง “ติดกับ”

สถานการณ์ในห้วงแห่งการเลือกตั้ง คือ การหว่าน “เมล็ดพันธุ์” สำแดงปัญหาออกมา สถานการณ์ในห้วงหลังเลือกตั้ง คือ การปรากฏขึ้นของพืชพันธุ์

เพราะแม้จะมี “พรรค 250 ส.ว.” แต่ก็ต้องหาอีก “250 ส.ส.”

เพราะหากไม่มีอีก 250 ส.ส.ผนวกรวมเข้ากับ 250 ส.ว.ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่ “คนนอก” จะสามารถยื่นมือเข้าไปหยิบชิ้นปลามัน

จำนวน 250 ส.ส.นั่นแหละคือ “เดิมพัน”

การเลือกตั้งที่จะปรากฏขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จึงถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่แปลกประหลาดอย่างที่สุดในทางการเมือง

เพราะมีการจัดวาง “นายกรัฐมนตรี” เอาไว้แล้ว

ขณะเดียวกัน แนวโน้มที่จะเริ่มเด่นชัดมากยิ่งขึ้นก็คือ พรรคการเมืองกระแสหลักมีโอกาสน้อยมากที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล และเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นฝ่ายค้าน

กระนั้น ก็ใช่ว่าอีกฝ่ายจะได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” สบายๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image