
www.facebook.com/buncha2509
buncha2509@gmail.com
การดูเมฆให้สนุก คือการมองหาลักษณะบางอย่างที่ติดอยู่กับเมฆ International Cloud Atlas (ICA) ได้ระบุลักษณะต่างๆ ไว้ 11 แบบ เรียกว่า “supplementary features” หรือ “ลักษณะเสริม” อย่างไรก็ดี ผมขอแถมเข้าไปอีก 2 อย่าง เพราะเป็นสิ่งที่คนรักเมฆสนใจมองหาเช่นกัน มาดูกันทีละอย่างครับ
เริ่มจากเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือคิวมูโลนิมบัส บางครั้งบริเวณฐานเมฆด้านหน้าอาจเป็นแนวโค้งคล้ายกันชนรถ ดูภาพที่ 1 ครับ แนวโค้งนี้ ICA เรียกว่า arcus (อาร์คัส) เป็นภาษาละตินแปลว่าส่วนโค้ง (เห็นคำว่า arc ที่ซ่อนอยู่ไหมครับ) ภาษาทั่วไปเรียกว่า shelf cloud น่ารู้ด้วยว่าเมฆคิวมูลัสคอนเจสตัสบางครั้งอาจมีอาร์คัสได้ด้วยเช่นกัน (แต่พบไม่บ่อยนัก)

6 มิถุนายน พ.ศ.2557
ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี
ภาพ : พุทธิพร อินทรสงเคราะห์
คราวนี้แหงนหน้าสังเกตด้านบนของเมฆฝนฟ้าคะนอง ถ้าคุณผู้อ่านโชคดีก็จะได้เห็นแสงเป็นลำสั้นๆ ขยับวูบไปมา! ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า crown flash (คราวน์แฟลช) หรือเรียกง่ายๆ ว่า leaping sundog หรือ jumping sundog ดูภาพที่ 2 ครับ น่ารู้ด้วยว่า ICA ไม่ได้จัดให้คราวน์แฟลชเป็นลักษณะเสริม

15 สิงหาคม 2558 เวลา 15.00 น. (เกิดอยู่นาน 2 นาที)
อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
ภาพ : My name’s TaRay
คราวนี้มาดูเมฆฝนฟ้าคะนองชนิดหัวฟู หากยอดเมฆบานออกคล้ายดอกเห็ด นักวิชาการฝรั่งมองว่าคล้ายรูปทั่ง จึงตั้งชื่อว่า incus (อิงคัส) เป็นภาษาละตินแปลว่า ทั่ง (anvil) อิงคัสจัดเป็นลักษณะเสริมแบบหนึ่ง ดูภาพที่ 3 ครับ

26 เมษายน 2556 เวลา 17.05 น. กรุงเทพฯ
ภาพ : ศุภสิทธิ์ พิศวง
ทีนี้มองไปที่ด้านบนของรูปทั่ง อาจเห็นยอดโดมปูดขึ้นมา คล้ายๆ เมฆไว้ผมจุก ดูภาพที่ 4 ครับ โดมที่ปูดขึ้นมานี้ ICA เรียกว่า “overshooting top” หรือ “penetrating top” แต่ไม่ได้จัดให้เป็นลักษณะเสริม ภาษาไทยผมตั้งชื่อให้ว่า “โดมยอดเมฆ” หากโดมยอดเมฆคงตัวอยู่นานเกิน 10 นาที แสดงว่าพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง เช่น อาจมีลูกเห็บ

2 พฤษภาคม พ.ศ.2555 เวลา 16.06 น.
อ.อันลองเวง จ.อุดรมีชัย กัมพูชา
ภาพ : สุชาดา ชินะวรพงศ์
คราวนี้ไปดูเมฆซุปเปอร์เซลล์ (supercell) หรือเมฆฝนฟ้าคะนองแบบหลายเซลล์ที่รุนแรง (severe multicell thunderstorm) บ้าง บางครั้งใต้ฐานเมฆอาจมีส่วนยื่นลงมา เรียกว่า murus (มิวรัส) เป็นภาษาละตินแปลว่าผนัง ชื่อที่นิยมเรียกคือ wall cloud หรือเมฆผนัง ลักษณะเช่นนี้บ่งว่ากระแสอากาศพุ่งขึ้น หรืออัพดราฟต์ (updraft) ค่อนข้างรุนแรง หากมิวรัสหมุนในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้เกิดเมฆรูปร่างเป็นงวง เรียกว่า ทูบา (tuba) ยื่นออกมาได้

19 มิถุนายน ค.ศ.1980 ไมอามี รัฐเท็กซัส
ภาพ : Brad Smull, NOAA Photo Library
เมฆซุปเปอร์เซลล์ยังอาจมี “หาง” ยื่นออกมาได้ หางนี้ติดกับมิวรัส เรียกว่า cauda (คอดา) เป็นภาษาละตินแปลว่า หาง ชื่อเรียกง่ายๆ คือ tail cloud หรือเมฆหาง

16 มิถุนายน ค.ศ.1980
ภาพ : NOAA Photo Library
ได้รู้จักลักษณะเสริมไปหลายแบบแล้ว คราวหน้าจะชวนไปรู้จักแบบที่เหลือกันครับ!
ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ชวนไปชมพฤติกรรมสนุกๆ ของ crown flash ตามคลิปที่ให้ไว้