องค์กรอิสระ-นโยบายสาธารณะ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเผยแพร่ต่อสาธารณชนรับทราบวันที่ 29 มกราคมนี้ ปรากฏว่ายังมีประเด็นถกเถียงโต้แย้งกันหลายเรื่อง

นับตั้งแต่ที่มาของนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งทางตรงอย่างเดียว วุฒิสภาเป็นได้ครั้งเดียวตลอดชีวิต วาระ 5 ปี ห้ามมิให้บุพการี คู่สามี ภรรยา บุตร ลงสมัคร เพื่อป้องกันเกิดสภาผัวเมีย ซึ่งมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน

รวมถึงประเด็นที่สืบเนื่องมาจากมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่กำหนดกรอบให้การจัดทำรัฐธรรมนูญต้องครอบคลุม 10 ประเด็น อาทิ มีกลไกการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และกลไกผลักดันการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่างๆ ให้สมบูรณ์

ซึ่งเป็นที่มาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เมื่อครั้งกรรมาธิการยกร่างชุดที่แล้ว จนกลายเป็นสายล่อฟ้า ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติคว่ำลง

Advertisement

มาถึงคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ สรุปบทเรียน เดินแนวทางยืดหยุ่น ประนีประนอม ไม่ดึงดัน ออกแบบใหม่ที่คิดว่า คสช.และสังคมพอรับได้ ไม่เอากลไก คปป.โดยตรง โจ๋งครึ่ม แต่ใช้วิธีการเพิ่มบทบาท อำนาจ ให้กับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ

ถ้าพิจารณาจากคำแถลงของประธานกรรมการยกร่าง พอแยกกลไกตามมาตรา 35 ออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.กลไกเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูป แนวโน้มให้ไปอยู่ในกฎหมายลูกเกี่ยวกับการปฏิรูปแต่ละด้าน

2.กลไกเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองเกิดสุญญากาศ ตั้งรัฐบาลไม่ได้จากสาเหตุใดก็ตาม ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด รวมถึงกรณี ส.ส. ส.ว. ถูกสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อร้องว่ามีส่วนได้เสียต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่วินิจฉัย หากพบว่ามีความผิดจริงต้องพ้นจากตำแหน่ง ชดใช้เงินที่ได้นำไปใช้ในโครงการต่างๆ รวมทั้งจะถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

Advertisement

3.กลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริต กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า ให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ 3 องค์กร ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

หาก 3 องค์กรมองเห็นสอดคล้องกันว่าโครงการใดที่ฝ่ายบริหารดำเนินการเข้าข่ายจะเกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรง ขัดต่อวินัยทางการเงินการคลังอย่างร้ายแรง ให้ทำรายงานให้ ครม.และรัฐสภารับทราบ โดยไม่มีอำนาจระงับ ยับยั้ง ห้ามปราม ลงโทษ ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้าหรือไม่ฟัง ให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล

กลไกและกระบวนการตามข้อที่ 3 นี่แหละน่าสนใจ น่าวิวาทะ เพราะการที่ให้อำนาจ 3 องค์กรอิสระชี้ว่านโยบายใดของฝ่ายบริหารเข้าข่ายเกิดความเสียหาย ทำได้แค่เสนอรายงานความเห็นต่อรัฐบาลและรัฐสภา จัดว่าเป็นการใช้มาตรการตักเตือน ฟ้องร้องต่อรัฐสภาและสังคม เพื่อให้เกิดการควบคุมโดยสาธารณะ ประชาชนตัดสินเอง

เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เกิดประเด็นตามมาเกี่ยวกับความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารในการดำเนินนโยบายสาธารณะว่า ระหว่างความรับผิดชอบทางกฎหมายกับความรับผิดชอบทางการเมือง จะมีกรอบแค่ไหน ต้องรับผิดชอบทั้งสองด้านเลยหรือไม่

การใช้มาตรการทางสังคม ซึ่งจะมีผลถึงการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไป จึงเป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางการเมือง

การที่ไม่มีอำนาจระงับ ยับยั้ง นั่นเท่ากับฝ่ายบริหารไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายในการกำหนดนโยบายสาธารณะใดๆ เว้นแต่เกิดกรณีทุจริตที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน

แนวทางของกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญกรณีนี้ทำให้เทียบเคียงถึงการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าวซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะด้านเศรษฐกิจ ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและทางกฎหมายดังที่เป็นคดีความอยู่ขณะนี้

ถามว่า มาตรฐานเปลี่ยนไปหรือไม่ ควรจะเป็นอย่างไร

ที่สำคัญคือ องค์กรอิสระควรทำหน้าที่ชี้เป็นชี้ตายนโยบายสาธารณะหรือไม่

นอกจากนั้น กระบวนการตัดสินนโยบายสาธารณะของ 3 องค์กรอิสระมีศักยภาพที่จะดำเนินการได้เองแค่ไหน

เพราะหลายนโยบายต้องอาศัยข้อมูล หลักฐานงานวิจัยทางวิชาการมาประกอบการพิจารณา รวมถึงมุมมองในการตัดสินอย่างแคบหรือกว้าง ดังนโยบายโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น

ฝ่ายหนึ่งมองอย่างแคบ เพียงเอารายจ่ายเป็นตัวตั้งหักด้วยรายรับที่ได้มา ขาดทุน กำไร เท่าไหร่ก็เป็นไปตามนั้น หากกำไรก็ไม่เสียหาย แต่หากขาดทุนมากมายก็เป็นความผิด ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองกว้างถึงผลได้ที่เกษตรกร ชาวนา และสังคมได้รับจากการหมุนเวียนของงบประมาณที่ใช้ไปต่อระบบเศรษฐกิจทั้งหมด

รวมถึงประเด็นที่มา ความเชื่อมโยงกับประชาชนขององค์กรอิสระ

การที่รัฐธรรมนูญแปลงโฉมไม่เอา คปป. แต่ให้อำนาจองค์กรอิสระตัดสินนโยบายสาธารณะจะกลายเป็นสายล่อฟ้าอีกครั้ง จนส่งผลถึงท่าทีของฝ่ายต่างๆ และการลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญอย่างไร อีกไม่นานรู้กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image