จัดหมาก วางเกม ยุทธศาสตร์ “อยู่ยาว” “ยื้อ” การเลือกตั้ง

ถามว่าปัญหาอันถกเถียงต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ในขณะนี้มาจากไหน

มาจาก “จ่านิว” มาจาก “น้องโบว์” หรือ

หรือว่ามาจากการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์ของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ หรือว่ามาจากการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์ของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แห่งพรรคเพื่อไทย

ไม่ใช่

เด่นชัดยิ่งว่ามาจากความเห็นต่างระหว่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อดุลพินิจของที่ประชุม สนช.ซึ่งผ่านความเห็นชอบในลักษณะเกือบเป็นเอกฉันท์ และตั้งข้อสังเกตว่าจำเป็นต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย

เพราะอาจมีเนื้อหา “ขัด” หรือแย้งกับ “รัฐธรรมนูญ”

เหมือนกับเป็นความเห็นต่างระหว่าง 1 กรธ. กับ 1 สนช. แต่ในความเป็นจริง คือภาวะขัดอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายใน “คสช.”

กรณีของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ทำให้หลายคนบังเกิดนัยประหวัดไปยังสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2558

นั่นก็คือ การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

จะแตกต่างกันบ้างก็เพียงแต่เมื่อเดือนกันยายน 2558 คว่ำในที่ประชุม สปช.ตั้งแต่ต้น ขณะที่ในเดือนมีนาคม 2561 ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ผ่านความเห็นชอบมาแล้วจาก สนช.

กระนั้น ผลสะเทือนของกรณีก็เป็นอย่างเดียวกัน

กรณีเมื่อเดือนกันยายน 2558 ได้รับการวิเคราะห์และสรุปออกมาอย่างรวบรัดยิ่งจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ด้วยประโยคสั้นกระชับ

“เขาอยากอยู่ยาว”

ผลก็คือ คสช.สามารถ “ยื้อ” รัฐธรรมนูญ “ยื้อ” การเลือกตั้งที่เคยประกาศผ่าน “ปฏิญญา โตเกียว” ให้ทอดเวลาผ่าน “ปฏิญญา นิวยอร์ก” ผ่าน “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” และที่เคยคิดว่าน่าจะเป็นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ให้เลื่อนไปอีกอย่างไม่มีกำหนด

ทั้งหมดมิได้มีสาเหตุมาจากปัจจัย “ภายนอก” แม้แต่น้อย ตรงกันข้าม เป็นเรื่องอันดำรงอยู่ “ภายใน” ของ คสช.ทั้งนั้น

นั่นก็คือ เป็นผลงานของ “คสช.” มิใช่ใครไหนอื่น

สรุปตามสำนวนของ นายวิษณุ เครืองาม เหล่านี้เป็นเรื่องภายใน “เรือแป๊ะ” ที่ล่องไปเหนือ “แม่น้ำ 5 สาย” อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด

แล้วเหตุใดจึงปล่อยให้เกิด “สภาพการณ์” อย่างนี้ขึ้น

เป็นเพราะ “อุบัติเหตุ” เป็นเพราะ “คสช.” ไม่สามารถกำกับ ควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาดกระนั้นหรือ

ไม่น่าจะใช่

หากไม่นำเอาบทเรียนที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยประสบมาแล้วด้วยตนเองในสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2558

ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าใจ

สถานการณ์ที่เห็นกันในเดือนมีนาคม 2561 ก็ดำเนินไปเช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เห็นกันในเดือนกันยายน 2558

นั่นก็คือ เป็น “อภินิหาร” ในทาง “กฎหมาย”

เหมือนอย่างที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่าเป็น “ทฤษฎีสมคบคิด” เหมือนอย่างที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ฟันธงว่าเป็นการ “วางเกม” ที่ลึกซึ้ง แยบยล

เป้าหมายคือ “อยู่ยาว” เป้าหมายคือ เลื่อน “เลือกตั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image