พระบรมรูปทรงม้า พระราชวังดุสิต : โดย บัณฑิต จุลาสัย – รัชดา โชติพานิช

พระราชพิธีสมโภชพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 : ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ณบริเวณกลางลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิตนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ของปวงชนชาวสยาม

พระบรมรูปทรงม้านี้ ราษฎรคนไทยทั่วทั้งประเทศ พร้อมใจกันสมทบทุนสร้าง และน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เฉลิมฉลองการดำรงสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ เป็นครั้งแรกของสยามประเทศ คือครบ 40 ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2451 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาต ตามคำกราบบังคมทูลของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ด้วยตรงกับความในพระราชหฤทัย ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

…ได้ทราบข่าวมาแต่ยุโรปว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรวังแวร์ซายในประเทศฝรั่งเศส โปรดพระรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงม้าหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์อันตั้งไว้ในลานข้างหน้าพระราชวัง ทรงปรารภว่า ถ้ามีพระบรมรูปของพระองค์ทรงม้า ตั้งไว้ในสนามที่ถนนพระราชดำเนินต่อกับบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม จะเป็นสง่างามดีเหมือนเช่นเขามีกันตามประเทศต่างๆ ในยุโรป…

สืบเนื่องมาจากการเสด็จเยือนทวีปยุโรปเป็นครั้งที่สอง ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนพระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศสนั้น ทรงสนพระทัยพระรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เป็นรูปหล่อสัมฤทธิ์ ตั้งบนฐานหินอ่อน ม้าที่ประทับยกขาขวาหน้า พระเจ้าหลุยส์ทรงหันพระพักตร์มาทางซ้าย พระหัตถ์ขวาชูดาบ

Advertisement

พระราชานุสาวรีย์ดังกล่าว ตั้งอยู่กลางลานกว้างหน้าพระราชวัง ปลายสุดถนน Avenue de Paris ที่ตัดตรงเข้าสู่พระราชวัง ต่อมาพระองค์ตกลงว่าจ้างช่างหล่อพระบรมรูป ดังความที่ปรากฏ ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ฉบับลงวันพุธที่ 19 มิถุนายน ร.ศ.116 (พ.ศ.2450) ดังนี้

…ได้ไปที่ช่างหล่อในเรื่องที่จะหล่อรูป ซึ่งตกลงกันให้ทำสำหรับจะไปตั้งในบางกอก เขาได้ปั้นตัวอย่างลองขึ้นไว้ แลเลือกรูปม้าตัวอย่างที่ปั้นไว้นั้นสองอย่าง คือรูปขี่ม้าอย่างหนึ่ง รูปที่จะทำเล็กๆ อย่างหนึ่ง…

…ออกจากเรือนไปดูรูปม้าที่ช่างปั้นจะทำรูป ทางอยู่ข้างไกล ไปด้วยรถโมเตอร์คาร์ ทางแขวงมองต์ปาร์นัสส์ ซึ่งเปนตอนที่คนจนอยู่ ที่ซึ่งช่างปั้นอยู่นั้น เขาเรียกว่าถนนช่าง มีช่างเขียน ช่างปั้นอยู่แถบนั้นโดยมาก เปนที่เงียบ โรงที่ปั้นนั้นลึกเข้าไปจากถนนใหญ่อีกชั้นหนึ่ง…

Advertisement

…เขาปั้นม้างาม แต่รูปข้างบนนั้นใช้ไม่ได้ ผอมด้วยเอารูปคิงออฟสเปนมาเปนตัวอย่าง ในเรื่องปั้นรูป ยังไม่เปนการเลย ทั้งรูปสำหรับจะขี่ม้าแลรูปที่จะหล่อเล็กๆ เรื่องปั้นรูปนี้จะทำตามรูปถ่ายไม่ได้เปนอันขาด เพราะรูปมันนูนขึ้นมาไม่พอ รูปเล็กที่ทำไว้แบนไปหมด รูปใหญ่แก้มตอบแลเหี่ยวเปนกลีบๆ ปากตุ่ยๆ แต่ช่างปั้นมันดีเสียจริงๆ พอพ่อลงไปนั่ง ฉวยดินปัปก็แตะหัวก่อน แก้หัวเสร็จแล้วจึงมาแก้น่า ถมแก้มที่ลึกให้ตื้น ปะขมับที่ทำรัดไว้ให้นูนขึ้น ลดกลีบน่า แก้คิ้ว ที่ประดักประเดิดมากอยู่ที่ปาก เมื่อแรกพ่อออกจะฉุนๆ ว่าให้ต้องไปนั่ง แต่พอเห็นมันแตะเข้าสองสามแตะ ก็รู้ทีเดียวว่ามันดี เลยหายฉุน นั่งดูเสียเพลิน เขาขอชั่วโมงเดียว พ่อนั่งให้กว่า 2 ชั่วโมง แต่ถึงกระนั้นก็ยังเอาดีไม่ได้ เวลาไม่พอ ต้องมาทำที่ฮอมเบิคต่อไปอีก แต่รูปม้านั้นทีเดียวได้เพราะมีตัวอย่าง เรื่องรูปปั้น พ่อออกจะยอมเสียแล้วว่า ฝรั่งเศสไวกว่าอิตาเลียนมาก

ฝีมือที่ทำมันเล่นข้างเหมือนมากกว่าอิตาเลียน…

คณะช่างที่ร่วมกันหล่อพระบรมรูป
: ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างฉายพระบรมฉายาลักษณ์ และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลงานหลายครั้ง ตั้งแต่การปั้นหุ่นจำลองขนาดเล็ก ก่อนที่จะนำไปขยายเป็นแบบขนาดใหญ่ รวมทั้งการแยกหล่อเป็นชิ้นๆ เพื่อความสะดวกในการบรรจุลงในลังไม้ และจัดส่งมากรุงเทพฯ ทางเรือ แล้วจึงนำมาประกอบกันภายหลัง

สำหรับพระบรมรูปที่ปรากฏในปัจจุบัน มีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเท่าครึ่ง หล่อด้วยสัมฤทธิ์หรือทองบรอนซ์ ทรงฉลองพระองค์เครื่องยศจอมพลทหาร เสด็จประทับหลังม้าพระที่นั่ง พระหัตถ์ขวาพาดอยู่บนหลังม้า ทรงถือคทาจอมทัพช้างสามเศียร พระหัตถ์ซ้ายรั้งบังเหียน มีพระกระบี่ห้อยอยู่ทางซ้าย

พระบรมรูปตั้งอยู่บนแท่นหินอ่อน ความสูง 6 เมตร กว้าง 2.50 เมตร ยาว 5.50 เมตร มีฐานโลหะรองรับกว้าง 3.50 เมตร ยาว 6.50 เมตร ส่วนบนของฐานประดับขอบโลหะเป็นลวดลาย ตราจักรกับตรีศูลแทรกลายเถาเครือแบบฝรั่ง โดยมีรูปคชสีห์และราชสีห์ประกอบทั้งสองข้าง รอบฐานหินอ่อนกั้นด้วยเสาโลหะทรงสี่เหลี่ยม หัวเสาเป็นลายใบเทศ ด้านหน้าประทับตราแผ่นดิน ฐานด้านขวาจารึกข้อความเป็นภาษาฝรั่งเศสไว้ว่า C. Masson Sculpt 1908 ประติมากร และ G. Paupg Statuaire ช่างหล่อ ด้านซ้ายจารึกชื่อบริษัท SUSSE Fres FONDEURS, PARIS

ก่อนที่ชิ้นส่วนต่างๆ รวมทั้งช่างติดตั้งที่มาจากบริษัทจะเดินทางเรือมาถึงกรุงเทพฯนั้น ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2451 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มงานขุดดินทำฐานรากและก่อฐาน สำหรับอัญเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐาน เพื่อให้แล้วเสร็จทันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก

สำหรับพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกนั้น เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้มีกรรมการจัดการ โดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นนายกของคณะกรรมการจัดการ

จากการประชุมของคณะกรรมการ มีความเห็นพ้องกันว่า ควรจะจัดงานที่ไม่เหมือนกับครั้งก่อนๆ อย่างเช่นงานสมโภชรับเสด็จเมื่อทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปครั้งแรก หรืองานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปกครองทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่ด้วยความสุขมาช้านาน จึงเห็นควรชักชวนให้ราษฎรทุกชาติทุกภาษา ทั่วพระราชอาณาเขตบริจาคทรัพย์ตามกำลัง เพื่อนำเงินนั้นทูลเกล้าฯถวายในการสนองพระเดชพระคุณเป็นการเฉลิมพระขวัญ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงรับเป็นประธาน กระทรวงนครบาลรับผิดชอบการบอกบุญในเขตพระนคร และกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบตามหัวเมือง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำชับไม่ให้เป็นการกะเกณฑ์ แล้วแต่ใจสมัครให้เท่าใด แม้เป็นเพียงจำนวนสตางค์ก็ได้ และให้บอกทั้งเหตุและการทำบุญนั้นให้รู้ทั่วทุกตัวคน

แบบร่างพระบรมรูปทรงม้า
: ที่มา Mario Tamagno Collection

สําหรับพระราชพิธีสมโภชพระบรมราชานุสาวรีย์ มีขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 ในเวลา 4 โมงเย็น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเต็มยศขาวทหารบก ทรงพระสังวาลจุลจอมเกล้า สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ เสด็จออกยังพลับพลาหน้าพระลาน กรมทหารยิงปืนใหญ่ถวายคำนับ เสด็จพระราชดำเนินไปทางลาดพระบาท ยังพลับพลาหน้าพระลานใหญ่ทางตะวันออกพระบรมรูป ครั้งเสด็จขึ้นประทับพลับพลา แปรพระพักตร์ไปทางทิศใต้ ฝั่งที่ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ถวายพระบรมรูป และถวายพระพรไชยมงคล มีใจความตอนหนึ่งว่า

…ข้อความที่กล่าวมาแล้วนี้ เปนแต่ส่วนหนึ่ง แลเปนส่วนอันน้อยในข้อ ซึ่งควรจะยกขึ้นกล่าวสรรเสริญพระบารมี ในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แต่ก็พอจะเปนตัวอย่างแห่งความที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้แลเห็นปรากฏแลรู้สึกอยู่ในใจทั่วหน้า เปนเครื่องปลุกน้ำใจข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายให้มีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทมั่นคง ไม่มีเวลาจะเสื่อมถอยได้เลย เต็มใจเปนข้าฝ่าลอองธุลีพระบาท ตลอดชาติ ตลอดกาล ตลอดทั้งตัว จนชั่วชั้นบุตร์หลาน ขอพระราชทานพึ่งพระบรมโพธิสมภารสืบไป

อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีความประสงค์จะใคร่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เป็นพยาน ให้มหาชนในอนาคตกาล ทราบความรู้สึกแห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในบัดนี้จึงได้ช่วยกันขวนขวายตามกำลังสามารถ สถาปนาพระบรมรูปของใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทขึ้นไว้ หวังให้เป็นอนุสาวรีย์แห่งความจงรักภักดีของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันมีอยู่ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ปรากฏอยู่ชั่วกาลปาวสาน…

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบ มีใจความตอนหนึ่งว่า

…การซึ่งท่านทั้งหลายได้พร้อมใจกันสร้างรูปเราขึ้นไว้ในครั้งนี้ ก็นับว่าเปนถาวรนิมิตรอันดี ในความพร้อมเพรียงของชาติ อันเกิดขึ้นในใจท่านทั้งหลาย แลแสดงเปนพยานความเชื่อถือ ไว้วางใจในเจ้าแผ่นดินแลรัฐบาลของตน อันเปนเหตุจะให้เกิดมหรรค เพื่อความผาศุกสำเร็จ แก่ชาติของเราในภายน่า อนึ่งท่านทั้งหลายที่เปนชาวนานาประเทศ ได้มีน้ำใจอารีแสดงความปรารถนาดี มีส่วนด้วยในการสร้างรูปอันงามนี้ เราขอแสดงความขอบใจท่านทั้งหลายแท้จริง พร้อมกันกับพระบรมวงศานุวงษ์ ท่านผู้มีบันดาศักดิ์ทั้งอาณาประชาราษฎรของเรา ในการที่ได้ยกย่องให้เกียรติยศอันยิ่งใหญ่แก่ตัวเรา แต่เวลายังมีชีวิต จะเปนที่ตั้งแห่งความพอใจของเราอยู่เปนนิตย์นิรันดร

…บัดนี้ เรามีความยินดีรับคำเชื้อเชิญของท่านทั้งหลายแล้ว แลจะได้เปิดถาวรอนุสาวรีย์ อันเปนเครื่องหมายแห่งความสโมสรสามัคคีของชาติชาวสยาม ขอให้ตั้งอยู่เปนเครื่องหมายน้ำใจของชาติอันยิ่งใหญ่ อันจะมีสืบไปทุกชั่วทุกท่านในกาลภายน่า…

ประเพณีถวายบังคมและวางพวงมาลาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า พระราชวังดุสิตนั้น เริ่มขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังจากที่พระบรมชนกนาถ ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยเสด็จสวรรคต จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงความจงรักภักดี ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2454 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคลของพระองค์

พระราชพิธีสมโภชพระบรมรูปทรงม้า
: ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ในปีต่อมามีพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนวันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้ามาเป็นวันที่ 23 ตุลาคมแทน ซึ่งกลายเป็นพิธีสืบเนื่องต่อมา

เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2560 เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พื้นที่เขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต พร้อมพระราชทานเครื่องสักการะ เพื่อให้ประชาชนนำไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันละ 700 ชุด

อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดกิจกรรมการแสดงดนตรีทุกคืนวันเสาร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเผยแพร่พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งนอกจากจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรชาวไทยมาตลอดรัชสมัยแล้ว ยังพระราชนิพนธ์เพลงที่มีคุณค่ามีความหมายลึกซึ้งและเปี่ยมสุนทรียภาพ

และเพื่อพระราชทานความสุขแก่ประชาชนชาวไทย อีกทั้งยังเป็นการขับกล่อมผู้ที่มา ถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้มีความสุข ณ พระลานพระราชวังดุสิต โดยมีวงดนตรีจากเหล่าทัพและศิลปินมีชื่อเสียงมาบรรเลงร้องเพลงขับกล่อมประชาชนที่มาถวายสักการะพระบรมรูปทรงม้า

เช่นเดียวกับงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ที่จัดขึ้น ก็ได้เนรมิตให้บริเวณพระบรมรูปทรงม้า เต็มไปด้วยดอกไม้นานาพรรณสีสันสดใส ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก รวมทั้งน้อมรำลึกถึงพระปิยมหาราชของปวงชนชาวไทย

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมเมือง
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image