แก้ยาก โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

บ้านเมืองเราตอนนี้จะทำอะไร อย่างน้อยๆ ก็ต้องชำเลืองมาทางร่างรัฐธรรมนูญ

ข่าวสะพัดว่า อาจเลือกตั้งเร็วๆ นี้ จริงไม่จริงไม่ทราบ แต่ก็ต้องชำเลืองมองมาที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะกำลังยกร่างอยู่แบบใกล้เสร็จร่างแรก

เพราะเชื่อกันว่า ถ้ากติกาใหญ่ไม่เสร็จ ยากที่จะไปทำอย่างอื่นได้

สาระหลักของร่างฉบับนี้จะเป็นยังไง มีการเปิดเผยไปพอสมควร

Advertisement

นายกฯ มาจากคนนอกได้ ให้แต่ละพรรคเสนอชื่อมาพรรคละ 3 คน แล้วเอาไปโหวตในสภาหลังเลือกตั้ง

ส.ว.สรรหาจากกลุ่มอาชีพ วิชาชีพต่างๆ

องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากขึ้น รัฐบาลจะต้องถูกตรวจสอบด้วยสเปกที่เข้มข้นมากขึ้น

Advertisement

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้ยาก เสียงเห็นชอบในการแก้ไขต้องมาจากทุกฝ่าย

ไม่แปลก ที่เริ่มมีเสียงคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญนี้ จากพรรคการเมืองหลักๆ 2 พรรค และคนทั่วไป

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีสาระบางอย่างเป็นปัญหา คำถามที่ตามมาคือ แล้วจะแก้ได้ไหม ถ้าจะแก้ต้องทำยังไงกันบ้าง

เป็นรัฐธรรมนูญอีกฉบับ ที่อยู่ระหว่างยกร่างแท้ๆ แต่ถามถึงวิธีการแก้ไขแล้ว

มองข้ามช็อตไปไกลมากๆ

แต่ไม่ใช่ฉบับแรก หรือครั้งแรกที่เกิดบรรยากาศแบบนี้ เพราะเมื่อตอนทำประชามติฉบับปี 2550 ตอนนั้นฝ่ายสนับสนุนมีข้อเสนอว่า รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง แก้ไม่ยาก พร้อมกับแนะนำ 1-2-3

ผลของการแก้ไข 1-2-3 เป็นยังไง เจอข้อหาอะไรกันบ้าง คงทราบกันแล้ว

เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกันว่า รัฐธรรมนูญที่มีที่มาจาก “อำนาจพิเศษ” แบบนี้ทำไมถึงได้แก้ยากแก้เย็น

แก้ยากกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนเสียอีก

แน่นอนว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่บท ไม่ควรจะแก้ไขง่ายเกินไป แต่ก็ไม่ควรยากถึงขนาดแตะต้องแทบไม่ได้

รัฐธรรมนูญที่มาจากกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องใน ระยะ 20 ปีมานี้ คือฉบับ 2540 ไม่ได้แก้ไขยากเย็น ยังแก้ไขเรื่องการสรรหา ป.ป.ช.ก่อนจะโดนฉีกไปในปี 2549

เหตุผลที่แก้ไขยากมากๆ มองเชิงบวก อาจมาจากสมมุติฐานว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีขั้นตอนการทำประชามติก่อนใช้ พอจะแก้เลยต้องมีพิธีรีตอง ปลดล็อกถอดรหัสเยอะหน่อย

กับอีกเหตุผล คือ เป็นรัฐธรรมนูญจากสถานการณ์พิเศษ ถ้าแก้ไขกันง่ายๆ เดี๋ยว “เสียของ” จะยุ่งไปกันใหญ่

ที่แน่ๆ มีบทเรียนมาจาก ฉบับ 2550 ที่พูดกันตอนแรกๆ ว่าแก้ไม่ยาก แต่เอาเข้าจริง กลายเป็นคดีความยุ่บยั่บไปหมด

เหน็ดเหนื่อยกันหลายฝ่าย แถมโดนชาวบ้านด่าอีกต่างหาก

คราวนี้เลยเขียนเอาไว้ให้ชัดๆ ไปเลย

ซึ่งก็ดีเหมือนกัน สุดท้ายต้องเอาร่างนี้เข้าคูหาให้ชาวบ้านโหวตลงประชามติ

ผลจะออกมายังไง ทีนี้คงขึ้นกับการชี้แจงยังไง ให้ชาวบ้านเลื่อมใสให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image