ธนาธร-ปิยบุตร กับ”อนาคตใหม่” และ”การเมือง”ยุคคสช.

ในบรรดาพรรคการเมืองใหม่ ต้องถือว่าพรรคอนาคตใหม่ เปิดตัวได้อย่างโด่งดังที่สุด

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการ ยอมรับว่าจะจัดตั้งพรรค

บรรดาเสียงเชียร์และเสียงโจมตีก็ดังกระหึ่ม

กระทั่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่อาคารแวร์เฮาส์ เจริญกรุง 30 นายธนาธร รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท และนายปิยบุตร นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกลุ่มเพื่อน ก็แถลงเปิดตัวพรรค

Advertisement

ตั้งชื่อว่า ”อนาคตใหม่”Ž

นายธนาธรระบุว่า ”อนาคตใหม่”Ž คือ พื้นที่ของคนที่ไม่ยอมจำนนต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน

อนาคตใหม่ คือ การเชิดชู และเทิดทูนคุณค่าประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน

อนาคตใหม่ คือ การต่อสู้เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า และเป็นธรรมให้กับคนทุกคน

อนาคตใหม่ คือ ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความฝันและจินตนาการ และมนุษย์ทุกคนมีสิทธิเดินตามความฝัน และปกป้องความฝันของตนเองไว้

เพราะเชื่อเช่นนี้ จึงรวมตัวกันจดจัดตั้งพรรคการเมือง

ทางด้านนายปิยบุตร นำเสนอทิศทางของพรรคอนาคตใหม่

ประการแรก พรรคอนาคตใหม่จะทำให้คนไทยเห็นร่วมกันว่าสามารถกลับสู่การเมืองแบบประชาธิปไตยได้

ประการที่สอง พรรคอนาคตใหม่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้แก่ประเทศไทย

ประการสุดท้าย พรรคอนาคตใหม่ต้องการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเสียใหม่ มุ่งทำงานอย่างสร้างสรรค์ นำเสนอนโยบายและลงมือปฏิบัติ

ขณะที่ นายธนาธรประกาศจุดยืนของ ”อนาคตใหม่”Ž ว่า ไม่เอานายกฯคนนอก

กลายเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่มีความแตกต่างจากพรรคใหม่ด้วยกัน

ทั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ กลุ่มการเมืองที่ขอจดทะเบียนพรรค ส่วนหนึ่งประกาศชัดว่าสนับสนุนนายกฯคนนอก

อีกหลายกลุ่มไม่ได้แสดงอาการปฏิเสธ

แต่สำหรับพรรคอนาคตใหม่ วันแรกก็ประกาศชัดเจนว่า ไม่เอานายกฯคนนอก

เป็นจุดยืนที่อยู่คนละฝั่งกับ คสช.

สําหรับรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ นอกจาก นายธนาธร นายปิยบุตร แล้ว ยังมีรายชื่ออื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย อาทิ นายกฤตนัน ดิษฐบรรจง แกนนำกลุ่มเยาวชนอาสา ทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี, นายกันต์พงศ์ ทวีสุข ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศก้อปันกัน, น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระด้านการศึกษา, นายไกลก้อง ไวทยการ ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาสังคม จากสถาบันเทคโนโลยีเพื่อสังคม (Social Technology Institute)

นายคริส โปตระนันทน์ นักธุรกิจ-นักกฎหมาย, นายเคท ครั้งพิบูลย์ นักปกป้องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ, นายชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษด้านการเมืองและกฎหมาย ผู้ยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร, น.ส.โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียนเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจของมนุษย์ เรื่องเพศและสิทธิเหนือร่างกาย, นายไชยวัฒน์ วรรณโคตร นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.ส.ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ นักเขียน นักแปลอิสระ, นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร นักปรุงเบียร์ นักธุรกิจ มัคคุเทศก์อิสระ

เป็นต้น

เมื่อพรรคอนาคตใหม่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา กระแสเสียงเชียร์และต่อต้านก็ทยอยบังเกิดขึ้น

จุดเด่นของพรรคอนาคตใหม่คือความคาดหวังจากประชาชน

โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่คาดหวังว่าพรรคอนาคตใหม่จะนำนโยบายใหม่ที่ไม่ซ้ำเดิมมานำเสนอ

เป็นนโยบายบนแนวทางประชาธิปไตย เป็นแนวนโยบายที่เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เป็นนโยบายที่อยู่ในฝ่ายก้าวหน้า

ส่วนจุดที่กำลังถูกโจมตีก็มี ทั้่งเรื่องที่อ่อนไหว เรื่องปูมหลังที่อยู่ในตระกูลนักธุรกิจ รวมไปถึงเรื่องที่ตระกูลถือหุ้นในสื่อ

แม้แต่ละประเด็นจะมีการอธิบายความมาแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่ถนนสายการเมือง การโจมตีย่อมมีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องตอบ

ที่สำคัญคือ ต้องไม่ให้สิ่งเหล่านี้เข้ามาโยงใยกับการเมือง

ต้องยอมรับว่าเมื่อพรรคอนาคตใหม่เปิดตัว ทำให้การเมืองเริ่มมีข้อเปรียบเทียบ

ประการแรก เปรียบเทียบระหว่างพรรคการเมืองเดิมกับพรรคการเมืองใหม่

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ กับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งแม้ในเบื้องต้นจะแลดูแล้วหากมีการเลือกตั้งอาจจะแตกต่างกันเรื่องฐานคะแนน

แต่หากเปรียบเทียบกันเรื่องนโยบายและจุดยืนของพรรค

บางทีพรรคอนาคตใหม่อาจจะสร้างความน่าสนใจได้มากกว่า

ประการที่สอง เปรียบเทียบระหว่างพรรคการเมืองใหม่ด้วยกัน

เกิดความแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง

แตกต่างจากพรรคการเมืองใหม่ที่สนับสนุนนายกฯคนนอก

แตกต่างทันทีเมื่อพรรคอนาคตใหม่ประกาศ ไม่เอานายกฯคนนอก

ประการที่สาม เปรียบเทียบระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับ คสช.

ความแตกต่างนี้มีปูมหลังมาตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจ โดยกลุ่มบุคคลที่ก่อตั้งพรรคดังมีรายชื่อปรากฏ ล้วนเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

ขณะที่มีกระแสข่าวเรื่องพรรคทหาร มีกระแสข่าวเรื่องพรรคการเมืองที่เป็นแนวร่วมสนับสนุน คสช.

เมื่อพรรคอนาคตใหม่ประกาศตัว และเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เอา คสช.

”อนาคตใหม่” จึงเป็นคู่แข่ง คสช.

ขณะนี้จึงปรากฏความแตกต่างของพรรคการเมืองที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้ง

ขณะที่คนไทยเองได้สั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองมาตลอดระยะเวลาหลายปีหลัง

แต่ละคนมองเห็นความเหมือนและความต่างระหว่างรัฐบาลเลือกตั้งกับรัฐบาลทหาร

สามารถเปรียบเทียบจุดเด่นและจุดอ่อนทั้งด้านสิทธิเสรีภาพ ทั้งด้านความก้าวหน้าของประเทศ ทั้งด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น

ทุกประสบการณ์ที่พบเห็น ล้วนเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกในการเลือกตั้ง

ความเหมือนและความต่างที่ประชาชนสั่งสมมาตลอด

ระยะเวลาหลายปีหลังนี้เอง คือ คำตอบ

ตอบคำถามที่ว่าทำไมผู้มีอำนาจจึง ไม่อยากเลือกตั้งŽ

ทำไมโรดแมปคืนความสุข จึงขยับออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image