Credit ทรุดต่ำ ความรู้สึก ไม่ “น่าเชื่อถือ” เลือกตั้ง ปราบโกง

นับวัน คสช.และรัฐบาลจะยิ่งประสบกับปัญหา “ความน่าเชื่อถือ” ต่อเนื่องอย่างกว้างขวาง ล้ำลึกหนักหนา สาหัสมากยิ่งขึ้น

จาก 1 การโกง และจาก 1 การเลือกตั้ง

ทั้งๆ ที่ คสช.ประกาศตั้งแต่ลงมือทำ “รัฐประหาร” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า 1 ในภารกิจคือ การเข้ามาปราบทุจริต คอร์รัปชั่น

โดยเน้นอย่างหนักแน่นไปยัง “นักการเมือง”

Advertisement

ผลก็คือ นักการเมืองในสังกัดพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย โดนกันไปทั่วหน้าไม่ว่าจะเป็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เว้นแม้กระทั่ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

แต่แล้วก็เกิดกรณี “โกงเงินคนจน” เกิดกรณี “โกงเงินเด็ก”

มิได้เป็น “นักการเมือง” หากแต่เป็น “ข้าราชการ” และเกิดกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเกิดกับกระทรวงศึกษาธิการ

เท่านั้นไม่พอประเด็น “เลือกตั้ง” ก็ถาโถมเข้ามาอีก

ประเด็นการเลือกตั้งแม้ คสช.จะพยายามโบ้ยให้ปัจจัย “อื่น” ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นปัญหาจาก “ภายใน”

ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในที่ประชุม สปช.เมื่อเดือนกันยายน 2558

ไม่ว่าจะเป็นการเติมในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ไม่ว่าจะเป็นการผ่านร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.แล้วเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อยื่นเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและตีความ

นี่เป็นเรื่องอันเกิดใน สปช. ใน กรธ.และใน สนช.ทั้งสิ้น

ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่

การต้มยำทำแกงล้วนเป็นเรื่องของ”คสช.”

เหมือนกับว่ากรณีการโกงที่แผ่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ เหมือนกับว่ากรณีการยื้อ ถ่วงและหน่วงการเลือกตั้ง

จะเป็นคนละเรื่อง ไม่มีอะไรเกี่ยวกัน

แต่สภาพความเป็นจริงที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ล้วนเป็นเรื่องอันเกิดขึ้นภายใต้จมูกของ คสช.และของรัฐบาล

สะท้อนว่า “นโยบาย” ไม่ได้รับ “การปฏิบัติ”

ที่ขึงขังในเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น จนถึงขั้นกับมีบางคนยืนยันว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีเป้าหมายเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญ “ปราบโกง”

แต่เมื่อ “ปฏิญญาโตเกียว” ก็ไม่มีการปฏิบัติ

และยิ่งเมื่อ “ปฏิญญานิวยอร์ก” กลายเป็นเรื่องเลื่อนลอย จนแม้กระทั่ง “ปฏิญญาทำเนียบขาว” กลายเป็นคำพูดอันว่างเปล่า กลวง

ความไม่น่าเชื่อก็กลายเป็น “ตรา”ติดหน้าผาก “คสช.”

แนวโน้มและความเป็นไปได้ในทางความคิดและในทางการเมืองที่หนาแน่นมากยิ่งขึ้นจึงเป็นความรู้สึกในลักษณะ “ร่วม” ที่ขาดความเชื่อถือ

ขาดความรู้สึกไว้วางใจ

ไม่ว่าจะในเรื่องของการ “ปราบโกง” ไม่ว่าจะในเรื่องความแน่นอนของ “การเลือกตั้ง” ว่าจะเป็นเมื่อใดกันแน่

ลักษณะ “ร่วม” เช่นนี้เองที่เป็น “กระแส” ในสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image