ตำรวจ : การปฏิรูปที่ล้มเหลว : โดย วสิษฐ เดชกุญชร

เหตุการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ นี้ ทำให้เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจดังและถี่ขึ้นอีก เหตุการณ์ดังกล่าวที่สำคัญก็มีอาทิ คดีนายเปรมชัย กรรณสูต ล่าเสือดำในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และคดีโกงเงินรางวัลลอตเตอรี่ 30 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนที่สำคัญเหมือนกันแต่ถูกข่าวใหญ่กลบเสียหมด ก็เช่นข่าวตำรวจรีดไถคนขับรถบรรทุก ตำรวจค้ายาเสพติด เป็นต้น
คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจซึ่งมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ได้ลงนามในหนังสือเสนอรัฐบาลให้แก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติอันจะนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม ปีกลาย (2560) แต่เท่าที่ทราบการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับที่กล่าวกระทำแต่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งจะมีผลให้ ก.ต.ช.ไม่มีอำนาจคัดเลือกและแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อไปอีก และทำให้ ก.ตร.มีผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจร่วมเป็นกรรมการ และมีอำนาจพิจารณาเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อนายกรัฐมนตรีด้วย นอกจากนั้นแล้วยังไม่ทราบว่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะทำให้มีการกระจายอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตำรวจลงไปยังส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น และการโอนงานที่มิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตำรวจโดยตรงไปให้ส่วนราชการอื่น
ที่สำคัญและน่าสังเกตเช่นเดียวกันก็คือ การเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจของคณะกรรมการปฏิรูปชุด พล.อ.บุญสร้างนั้น ไม่ได้ครอบคลุมการปฏิรูปงานสอบสวนของตำรวจ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเรื้อรังมานานแล้ว

กรณี นายเปรมชัย กรรณสูต ต้องหาว่าล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น ความผิดเกิดขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมีเจ้าหน้าที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าโดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับการฝึกอบรมทำนองเดียวกับตำรวจ และมีเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถเก็บรวบรวมและพิสูจน์หลักฐานของการกระทำผิดได้ด้วยตนเอง แต่ไม่มีอำนาจในการสอบสวนดำเนินคดี อำนาจดังกล่าวกลับเป็นของตำรวจท้องที่ ทั้งๆ ที่ตำรวจท้องที่มีคดีอาญาเต็มมืออยู่แล้ว และทั้งๆ ที่ตำรวจท้องที่ไม่มีความรู้หรือได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่า
ทั้งๆ ที่ความผิดของนายเปรมชัยเกิดขึ้นในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรีเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และมีผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เป็นผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยังสั่งให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงไปเป็นผู้ควบคุมคดีอีกชั้นหนึ่ง
นอกจากอาวุโสแล้ว ความรู้และประสบการณ์ของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ไม่ได้พิเศษกว่าผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 หรือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี จะเห็นว่าพอเริ่มงาน พล.ต.อ.ศรีวราห์ก็ไม่รู้เสียแล้วว่าเสือดำเป็นสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่
ภาพที่เห็นคือภาพของการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางอย่างชัดเจน

ภาพเช่นนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และที่ปรึกษาซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่า กระจายกันออกไปแย่งงานของตำรวจท้องที่ทำ แล้วก็เสนอหน้าเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ในขณะที่คนทำงานจริงๆ บางคนได้รับอนุญาตให้ยืนเป็นเครื่องประดับอยู่ในแถวหลัง
ถ้ายังไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารราชการตำรวจอย่างแท้จริง มีแต่เปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างผิวเผินแบบกล้าๆ กลัวๆ อยู่อย่างนี้ ภาพการทำงานของตำรวจแบบนี้ก็คงจะปรากฏให้เห็นต่อไปอีก เกิดคดีสำคัญขึ้นมาแต่ละครั้งก็จะมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงวิ่งลงไปควบคุมทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความรู้หรือประสบการณ์แตกต่างจากผู้ถูกควบคุม ในขณะที่พระเอกตัวจริงคือพนักงานสอบสวนยังต้องรับภาระแบกสำนวนการสอบสวนคดีต่อไป โดยไม่มีกำหนด ด้วยความหนักหนาสาหัสเช่นเดิม
ไม่รู้จริงๆ ว่าจะพยายามปฏิรูปตำรวจให้เสียเวลาและเสียเงินกันไปอีกทำไม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image