สุดยอด บทสรุป จาก บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เขาอยาก อยู่ยาว

นับวันบทสรุปของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต่อปฏิบัติการที่ที่ประชุม สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ว่า

“เขาอยากอยู่ยาว”

จะยิ่งสำแดง “พลานุภาพ” มากยิ่งขึ้น และมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางเสียงเพลง เราจะทำตาม “สัญญา” ขอ “เวลา” อีกไม่นานดังกระหึ่ม

หากไล่เรียงชื่อ “ปฏิญญา” ก็จะต้องร้อง “อ๋อ”

Advertisement

เพราะไม่เพียงแต่จะมี “ปฏิญญาโตเกียว” หากแต่ยังมี “ปฏิญญานิวยอร์ก” และยังมี “ปฏิญญา ทำเนียบขาว”

กระนั้น จนป่านนี้ก็ยังไม่มี “เลือกตั้ง”

เด่นชัดยิ่งว่า บทสรุปของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มิได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย หากแต่มาจากความเป็นจริงอันสะท้อนเจตจำนงและเป้าหมาย

Advertisement

เป้าหมายอันเป็น “จิตเดิมแท้” ของ “คสช.”

ถึงแม้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะร่ำเรียนโหราศาสตร์มาจากอาจารย์ระดับเอกอุอย่าง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร กระนั้น บทสรุปนี้มิได้มาจากฤกษ์ผา นาทีอย่างด้านเดียว

ตรงกันข้าม มาจากที่เคยเป็น “วงใน”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยห้อยนกหวีดและเข้าร่วม “ชัตดาวน์” ที่แยกปทุมวันไม่ห่างจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากนัก

เขาจึงเป็น “จุฬาฯ คอนเนกชั่น”

บทบาทครั้งนั้นเมื่อประสานกับบทบาทที่ร่วมอยู่กับ นายวิษณุ เครืองาม อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้เข้าไปเป็นส่วนสำคัญภายใน “แม่น้ำ 5 สาย”

1 เป็นรองประธาน สปช. 1 เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

บทบาทนี้สำคัญเพราะ นายอานันท์ ปันยารชุน ก็เคยเป็นมาแล้วกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ก็เคยเป็นมาแล้วกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จึงคือผู้จะต้องยกร่างรัฐธรรมนูญให้กับ “คสช.”

หากไม่มองบทบาทของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในสถานะประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็จะไม่เข้าใจในความหมายและความสำคัญของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

ถามว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นปัญหาหรือไม่

หากดูจากเนื้อหาก็ต้องยอมรับว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เดินตามที่บัญญัติเหมือน “ธง” เอาไว้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ครบถ้วน

แทบไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่า “เหาะเกินลงกา”

แต่ก็มีความจำเป็นต้อง “คว่ำ” อย่างชนิดปิดลับในคืนก่อนการลงมติ ก็เป็นไปตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประมวลและวิเคราะห์ออกมา

นั่นก็คือ “เขาอยากอยู่ยาว”

การได้ร่างรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน 2558 เร็วเกินไป และยิ่งเมื่อผ่านจากปี 2558 มายังเดือนมีนาคม 2561 ยิ่งเห็นได้ชัด

ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อาจเร็วเกินไปด้วยซ้ำ

ไม่ว่าในที่สุดการยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.จะมีเพียงฉบับว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือมีฉบับว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตามมา

ทุกอย่างก็แทบไม่ต่างจากเมื่อเดือนกันยายน 2558

ไม่ว่าจะมองผ่านหัวขบวน ไม่ว่าจะมองผ่านแต่ละองคาพยพภายใน “แม่น้ำ 5 สาย” ไม่ว่าจะมองผ่านบรรดาลูกแหล่งตีนมือระดับคุณห้อยคุณโหน

ถนนทุกสายจบที่ “เขาอยากอยู่ยาว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image