ไทยพบพม่า : แผ่นดินทอง:แผนเศรษฐกิจ ความหวัง กับอนาคตใหม่ของพม่ายุคหลังสงครามโลก : ลลิตา หาญวงษ์

แสตมป์ที่ระลึกเพื่อเฉลิมฉลองแผนการปยีด่อตา ออกจำหน่ายในวันที่ 4 มกราคม 1953

เมื่อพม่าได้รับเอกราชในปี 1948 (พ.ศ.2491) สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจะสิ้นสุดได้เพียงไม่กี่ปี ในเชิงกายภาพ พม่าเป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ประเทศในเอเชียที่เสียหายอย่างรุนแรงจากสงคราม เพราะเป็นสนามรบหลักระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับกองทัพฝั่งสัมพันธมิตร เรียกว่าสงครามในครานั้นเปลี่ยนอู่ข้าวอู่น้ำของเอเชียให้กลายเป็นสนามรบ และยิ่งสร้างความขัดแย้งรุนแรงทั้งกับนักชาตินิยมพม่ากับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ หลังสงคราม เศรษฐกิจพม่าไม่เคยฟื้นคืนชีพกลับไปเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอีกเลย

ความเสียหายจากสงครามเป็นวาระหลักที่นักชาตินิยมพม่าในนามสมาคมเราชาวพม่า (โด้ะ บ่ะหม่า
อะซีอะโยน) ที่ต่อมาจะกลายเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ในนาม AFPFL กล่าวถึงตลอดมา โจทย์คือทำอย่างไรจะฟื้นฟูเศรษฐกิจพม่าให้กลับมาดีดังเดิม และทำอย่างไรจะฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนน สะพาน ทางรถไฟ เสาโทรเลข ฯลฯ ที่เสียหายเกือบทั้งหมดให้กลับมาพร้อมใช้งานได้โดยเร็ว

เจ. เอส. เฟอร์นิวอลล์ ที่ปรึกษาของรัฐบาลอังกฤษในขณะนั้นร่างแผนการพัฒนาเศรษฐกิจพม่าในยุคหลังสงครามไว้ เป็นพิมพ์เขียวที่ใช้ชื่อว่าแผนการฟื้นฟูพม่า (Reconstruction of Burma) แม้เฟอร์นิวอลล์จะเป็นที่เคารพรักในหมู่ปัญญาชนพม่า แต่นักชาตินิยมไม่รั้งรอใช้ซากปรักหักพังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นข้ออ้างเพื่อขับไล่อังกฤษออกไปให้เร็วที่สุด พวกเขาคิดว่าพม่าจะพัฒนาต่อไปได้ด้วยความสมัครสมานร่วมใจของคนพม่าเอง สำหรับนักชาตินิยม ความสำเร็จของพวกเขาวัดได้จากการขับไล่เจ้าอาณานิคมออกไปและกำจัดมรดกตกทอดที่อังกฤษได้ทิ้งไว้ให้สิ้นซาก พวกเขาพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของคนต่างชาติที่เข้าไปตั้งรกรากในพม่าในช่วงเวลาเดียวกับการเข้ามาของระบอบอาณานิคม

เมื่อกำจัดเจ้าอาณานิคมได้แล้ว คำถามใหญ่ของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของอู นุ (นายพลออง ซาน ถูกลอบสังหารก่อนพม่าได้รับเอกราชเพียงไม่กี่เดือน) คือการพัฒนาในพม่าจะเป็นไปในทิศทางใด เนื่องจากคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพม่าชุดแรกหลังได้รับเอกราชล้วนเป็นนักชาตินิยมที่เติบโตมากับกระแสลัทธิมาร์กซ์ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ลัทธิเหมา และลัทธิเลนิน ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจกว้างๆ ที่อู นุ วางไว้คือการนำพม่าไปสู่ “รัฐสวัสดิการ” ในปี 1952 (พ.ศ.2495) รัฐบาลอู นุนำแผนเศรษฐกิจชื่อ “ปยีด่อตา” (Pyidawtha) หรือที่แปลว่า “แผ่นดินแห่งความสุข” (Happy Land) มาใช้ แนวคิดสร้างรัฐสวัสดิการแบบพม่านั้นแตกต่างจากรัฐสวัสดิการในประเทศอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดคงจะเป็นแนวคิดรัฐสวัสดิการสไตล์ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

Advertisement

แต่สำหรับพม่า รัฐสวัสดิการในฝันต้องเป็นรัฐที่สร้างความกินดีอยู่ดีให้ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม พร้อมๆ กับการเน้นคุณค่าความดีงามของวัฒนธรรมพม่า โดยเฉพาะการเน้นบทบาทของพุทธศาสนา และการเน้นบทบาทนำของชาวพม่า

แผนการปยีด่อตาที่รัฐบาลพม่าจัดพิมพ์เผยแพร่

ในยุคอู นุ รัฐบาลต้องการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลตนเองและสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชาติ สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลพม่ากับคอมมิวนิสต์และชนกลุ่มน้อยปะทุขึ้นไม่นานหลังพม่าได้รับเอกราช การชนะใจคนยากคนจน คนในต่างจังหวัด เช่นเดียวกับการออกนโยบายเอาอกเอาใจผู้ใช้แรงงานในเมืองจึงเป็นลักษณะเด่นของนโยบายเศรษฐกิจของอู นุ

จริงอยู่ว่านโยบายรัฐสวัสดิการที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมกันในพม่ามีกลิ่นอายของฝ่ายซ้ายอยู่มาก แต่นโยบายเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งอู นุและนักชาตินิยมเอียงซ้ายอีกจำนวนมากมองว่าสุดโต่งเกินไป และมุ่งที่จะทำลายวัฒนธรรมที่ดีงามของพม่า นโยบายอย่างปยีด่อตาจึงมุ่งไปที่ประชากรระดับรากหญ้า เป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะดีขึ้นภายใต้รัฐบาลของคนพม่าอย่างอู นุ

Advertisement

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็น แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั่วเอเชีย ยกตัวอย่างเช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกของไทยที่ประกาศใช้ในปี 1961 (พ.ศ.2504) พึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ-สหรัฐอเมริกาสำหรับฝั่งเสรีประชาธิปไตย และสหภาพโซเวียตในฝั่งคอมมิวนิสต์-แต่รัฐบาลพม่าเลือกที่จะเป็นกลางในสงครามเย็น และระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่รับเงินช่วยเหลือ โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐอเมริกามากจนเกินไป ขนาดที่จะทำให้รัฐบาลพม่ารู้สึกเป็น “หนี้บุญคุณ” รัฐบาลสหรัฐ เพราะปมในใจของนักชาตินิยมพม่าคือความหวาดระแวง “คนขาว” ทุนนิยม และการกลับเข้ามาของระบอบอาณานิคมในทุกรูปแบบ เห็นได้จากการที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในเครือจักรภพ (Commonwealth Nations)

ตาระปี ตัน (Tharaphi Than) ผู้วิเคราะห์การใช้ภาษาในการโฆษณาชวนเชื่อที่จะนำไปสู่แผนการปยีด่อตามองว่าทิศทางการพัฒนาประเทศภายใต้แผนการปยีด่อตาไม่ได้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศที่จะเห็นประชาชนในประเทศมีความกินดีอยู่ดีหรือการสร้างสังคมที่เท่าเทียม แต่ผู้นำในรัฐบาลพม่าประเมินว่า
นโยบายใดที่จะทำให้ตนมีคะแนนเสียงมากที่สุด เพื่อกันฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งในเวลานั้นถูกมองว่าเป็นศัตรูของชาติไม่ต่างกับเจ้าอาณานิคมตะวันตกให้ได้มากที่สุด

ด้วยความเชื่อเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลพม่าต้องเปลี่ยนแผนและหันเข้าหาชาติตะวันตกมากขึ้น ทั้งในเรื่องความช่วยเหลือเชิงนโยบายและความช่วยเหลือที่เป็นตัวเงิน เพื่อช่วยฟื้นฟูและพัฒนาพม่า รัฐบาลพม่ายังหันไปสมาทานปรัชญาการพัฒนาและแนวคิดรัฐสวัสดิการ ตามแบบแผนการโคลอมโบ (โครงการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยการเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูและพัฒนาประเทศโลกที่สามทั่วโลก เพื่อให้รัฐบาลประเทศนั้นๆ ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาต่อต้านภัยคุกคามคอมมิวนิสต์) ซึ่งมีปรัชญาอยู่ว่า “ความยากจนและการด้อยพัฒนา รวมทั้งจำนวนประชากรที่มีมากเกิน จะทำให้รัฐที่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอ่อนแอและอาจหันไปสมาทานลัทธิคอมมิวนิสต์ได้”

ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะพัฒนาประเทศและต่อต้านคอมมิวนิสต์ไปพร้อมๆ กัน

เมื่อรัฐบาลพม่าตกลงว่าจะเดินตามแนวทางของแผนการโคลอมโบ คณะที่ปรึกษากลุ่มแรกจากบริษัทที่ปรึกษา Knappen Tippetts Abbett (KTA) ถูกส่งเข้าไปด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปี 1951 เพื่อให้ช่วยวางพิมพ์เขียวทางเศรษฐกิจ แต่ท่าทีประนีประนอมของอู นุและการยอมให้บริษัทจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาวางแผนเศรษฐกิจระดับชาติสร้างความไม่พอใจให้กับนักชาตินิยมอื่นๆ และอาจรวมไปถึงผู้นำกองทัพอย่างนายพลเน วินด้วย ซึ่งมองว่าความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกก็ไม่ต่างกับการชักศึกเข้าบ้าน ถือเป็นการยอมรับแนวทางทุนนิยม และยอมรับสถานะที่เหนือกว่าของชาติตะวันตก

แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลพม่าก็ควักแผนการปยีด่อตาออกมาใช้ในปี 1952 (พ.ศ.2495) เป็นแผนบูรณาการทุกผ่านส่วน ทั้งการฟื้นฟูประเทศในเชิงกายภาพ การพัฒนาการศึกษา การสร้างเศรษฐกิจแบบสวัสดิการ แต่สำหรับประชาชนในฐานราก แผนการนี้ประสบผลสำเร็จมาก และยังสร้างคะแนนนิยมในตัวอู นุได้อย่างดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว แผนการปยีด่อตาล้มเหลวไม่เป็นท่า มีทั้งการทุจริตเกิดขึ้นทั่ว ความอุ้ยอ้ายของระบบราชการพม่า และทัศนคติของนักชาตินิยมในพม่าที่ไม่เป็นมิตรต่อ “การพัฒนา” และการรับวิทยาการจากโลกตะวันตกเข้ามาเพื่อพัฒนาประเทศ

ความล้มเหลวของปยีด่อตาไม่ได้เป็นเพียงความล้มเหลวของอู นุ ผู้ที่พยายามผลักดันแผนการนี้อย่างเต็มสูบเท่านั้น แต่ยังเป็นความล้มเหลวของพม่า สร้างความแตกแยกเพิ่มขึ้น อันเป็นเหตุให้กองทัพทำรัฐประหารและปกครองตามแบบสังคมนิยมในอีกลักษณะหนึ่งต่อมาเกือบ 5 ทศวรรษ

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image