ดุลยภาพดุลยพินิจ : ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน : ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

ตารางที่ 1 สถิติบริการการแพทย์ฉุกเฉินปีงบประมาณ 2560

1

ทุกบ้านทุกครอบครัวล้วนมีความเสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยกะทันหันด้วยกันทั้งสิ้น ในเวลาวิกฤตเรามีความจำเป็นต้องใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อนำส่งสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างดีตามหลักวิชา ในโอกาสนี้ขอนำข้อมูลการแพทย์ฉุกเฉิน มาเล่าสู่กันฟัง

2

การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS= emergency medical services) เป็นระบบจัดการขนาดใหญ่ ตั้งแต่ระดับชาติย่อยลงมาถึงจังหวัด อำเภอ ตำบล โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลและรัฐบาลท้องถิ่น จากมูลนิธิและองค์กรสาธารณะ เงินชดเชยจากกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ปัจจัยสำคัญของระบบ ems

Advertisement

สรุปว่า ก) ต้องใช้เงินลงทุน เพื่อพัฒนาศูนย์สั่งการ ระบบสื่อสาร ยานพาหนะ ข) บุคลากรการแพทย์ ตั้งแต่แพทย์เฉพาะทาง พยาบาล ผู้ช่วย พนักงานที่ผ่านการอบรม ค) ระบบเครือข่ายความร่วมมือ

ง) ค่าตอบแทนบุคลากร จ) ความรู้และเทคโนโลยีซึ่งก้าวหน้าทุกๆ ปี ฉ) การประเมินประสิทธิผลของศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน (หลายพันหน่วยทั่วประเทศ) จัดทำบันทึกข้อมูลผู้ใช้บริการทุกราย (เป็น big data หลักล้านคนในแต่ละปี) เม็ดเงินที่ลงทุนใน ems มหาศาลแต่ว่าคุ้มค่าเพราะการมีระบบ ems ที่ดีสามารถลดการเสียชีวิต ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นเร็ว คุณภาพชีวิตประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่บริหารและกำกับการแพทย์ฉุกเฉิน ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับสถานพยาบาลของรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมูลนิธิ ระบบบันทึกข้อมูล ems แสดงสถิติผู้ใช้บริการปีงบประมาณ 2560 มีจำนวนมากกว่า 1.4 ล้านราย บันทึกเหตุการณ์ วัน เวลา วิธีการนำส่ง ระยะทาง ระยะเวลาเดินทาง ฯลฯ จำแนกออกเป็น 3 ระบบ ขั้นสูงเรียกย่อว่า ALS (advanced life support) ขั้นพื้นฐาน BLS (basic life support) และการช่วยเหลือขั้นปฐม FR (first response) (ดูตารางที่ 1)

Advertisement

จากสถิติข้างต้นแปลว่า ก) ส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการ เพศชาย มากกว่าร้อยละ 60 เพศหญิงใช้บริการน้อยกว่าร้อยละ 40 ข) อุบัติเหตุจราจร เป็นสาเหตุสำคัญของความต้องการ ems สัดส่วนร้อยละ 25-30 ถ้าลดอุบัติเหตุจราจรได้–จะลดภาระการทำงานของโรงพยาบาลแพทย์พยาบาลได้มากทีเดียว จำนวนผู้รับบริการที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจรรวมทุกจังหวัด 375,222 ราย เฉลี่ยเป็นรายวัน 1,028 รายต่อวัน

ช่วงเวลานี้ใกล้ถึงวันสงกรานต์ หลายฝ่ายต้องเตรียมระดมพลรณรงค์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจราจร คนที่เกี่ยวข้องกับระบบ ems เฝ้าระวังกันอย่างเต็มที่

3

จาการสืบค้นเอกสารวิชาการ เพราะอยากรู้ว่าระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในต่างประเทศเขาดำเนินการอย่างไร วารสาร Health Care and Management Science (2017) ได้ความว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกามีศูนย์บริการฉุกเฉิน 15276 แห่ง ใช้รถพยาบาลฉุกเฉิน 48,384 คัน บุคลากร 840,669 คน สถานพยาบาลที่ให้บริการ 5724 แห่ง ระบบ ems ของสหรัฐ กำหนดเกณฑ์เป้าหมายว่ารถพยาบาลควรเข้าถึง
ผู้ป่วยภายในเวลา 9 นาที ถ้าหากเกินกว่านั้นถือว่า “ต่ำกว่ามาตรฐาน” – ใช้เป็นเกณฑ์ประเมินประสิทธิผลของระบบ ems

ระบบ ems ของไทยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานตามข้อเสนอองค์การอนามัยโลก 8 นาที หมายความว่า รถพยาบาลควรจะเข้าถึงผู้ป่วยภายในเวลา 8 นาที แต่ในความเป็นจริง-มีกรณียุ่งยากซับซ้อน การจราจรติดขัดดังนั้นเวลาที่ใช้จริงเกินกว่า 8 นาที จากสถิติบริการพื้นฐาน (BLS2560) พบว่าเวลาที่เข้าถึงผู้ป่วยเกินกว่า 8 นาทีนั้น คิดเป็นร้อยละ 33% (หนึ่งในสาม)

ตารางที่ 2

(ดูตารางที่ 2) แสดงสัดส่วนที่เกินกว่า 8 นาที จำแนกตามจังหวัด ในที่นี้แสดงสถิติกรณีศึกษาจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน สะท้อนว่า บริการ ems ของแต่ละจังหวัดมีประสิทธิผลไม่เท่ากัน
บางจังหวัดทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย และบางจังหวัดสูงกว่าค่าเฉลี่ย สะท้อนความเหลื่อมล้ำของบริการ ems ที่จะต้องนำมานำมาขบคิดและช่วยกันเพิ่มประเมินผลในปีต่อๆ ไป

4.

ประสิทธิผลของระบบ ems เป็นเรื่องสำคัญ ระบบที่ดีควรจะใช้เวลาน้อยที่สุด เป้าหมาย RT (response time น้อยกว่า 8 นาที – ขณะนี้ยังไม่บรรลุ จึงควรจะมีงานวิจัยค้นคว้าว่า ประสิทธิผล ems ในจังหวัดใดพื้นที่ใดต่ำ? จำเป็นต้องเร่งรัดคุณภาพ ems ในทุกจังหวัด เพื่อบรรลุเป้าหมายและลดความเหลื่อมล้ำ

การจัดสรรงบประมาณการลงทุน เพื่อให้บริการ ems พอเพียง กำหนดค่าตอบแทนให้เหมาะสม ลดการสูญเสียช่วยชีวิตและเพิ่มคุณภาพของระบบ ems ได้แน่นอน ประชาชนและนักท่องเที่ยวอุ่นใจ

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image