เขต หลวง สาทร ราชายุกต์ : โดย บัณฑิต จุลาสัย, รัชดา โชติพานิช

ภาพถ่ายทางอากาศ โดยปีเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันท์ พ.ศ.2489 แสดงให้เห็นถนนสาทรและคลองสาทร : ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เขตสาทร เป็นหนึ่งในห้าสิบเขตของกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่กว้างเกือบสิบตารางกิโลเมตร เป็นย่านธุรกิจสำคัญของประเทศและภูมิภาคอาเซียน มีอาคารขนาดใหญ่และสูงมากมาย ทั้งสำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงแรม และศูนย์การค้า จึงเป็นย่านที่ทันสมัยของกรุงเทพมหานคร

ในเอกสารประวัติศาสตร์ พบข้อความในประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 24 พฤษภาคม ร.ศ.129 (พ.ศ.2453) โดยพระยาเพ็ชร์ปาณี เจ้ากรมอำเภอ ว่า

….ด้วยนายพุ่ม ยื่นเรื่องราวขอหนังสือสำหรับที่ดินตำบลสาธร ท้องที่อำเภอบางรัก มีเนื้อที่ด้านเหนือ 3 เส้น ติดที่มะหมัดฮูเซน ด้านใต้ 3 เส้น 4 วา ติดถนนสาธร ด้านตะวันตก 4 เส้น 1 วา ติดคลองสาธร ด้านตะวันออก 4 เส้น 7 วา ติดที่พระยาพิพัฒโกษา ถ้าผู้ใดเกี่ยวข้องด้วยที่ดินรายนี้ ก็ให้ทำคำร้องมายื่นต่อกรมอำเภอภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันในประกาศนี้เปนต้นไป เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว เจ้าพนักงานจะได้ทำหนังสือสำคัญให้แก่นายพุ่มต่อไป…

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีประกาศกระทรวงนครบาล แผนกกรมอำเภอ เรื่องจะขายที่ดิน ลงวันที่ 31 พฤษภาคม ร.ศ.131 (พ.ศ.2455) ความว่า

Advertisement

หลวงจิตรจำนง ยื่นเรื่องราวจะขายที่ดินตำบลสาทร ท้องที่อำเภอบางรัก ให้แก่พระยาอรรถการประสิทธิ์ เปนราคา 500 บาท …

ส่วนหลักฐานที่กล่าวถึง อำเภอสาทร พบในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2461 ดังนี้

ตำบลสาทร อำเภอสาทร จังหวัดพระนคร
เจ้าพนักงานออกโฉนดที่ดินกรุงเทพมหานคร ขอประกาศแก่เจ้าของที่ดินทราบทั่วกัน ด้วยที่ดินตำบลที่กล่าวเบื้องต้นนั้น ได้เดินสำรวจแลทำโฉนดไว้เสร็จแล้ว กำหนดจะได้เริ่มลงมือแจกโฉนดที่ดิน ตั้งแต่เดือนธันวาคม พระพุทธศักราช 2461 สืบไป
ถ้าผู้ใดมีธุระเกี่ยวข้องแก่เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินเหล่านี้แล้ว ก็ให้รีบไปยื่นคำชี้แจงเหตุผลแก่เจ้าน่าที่ ก่อนวันที่ 29 ธันวาคม พระพุทธศักราช 2461 เวลา 10 นาฬิกาก่อนเที่ยง หรือตามเวลากำหนดเปิดที่ว่าการ
ที่ว่าการออกโฉนดที่ดินกระทรวงเกษตราธิการ
ประกาศมา ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2461
(ลงนาม) อำมาตย์เอก พระวิสูตรเกษตรศิลป์
เจ้าพนักงานออกโฉนดที่ดิน

Advertisement
(ซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (ขวา) หลวงสาทรราชายุกต์ (ยม) : ที่มา http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6780

ในประกาศของคณะปฏิวัติ พ.ศ.2515 ให้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นกรุงเทพมหานครนั้น ได้เปลี่ยนอำเภอยานนาวา ที่ประกอบด้วยแขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงทุ่งมหาเมฆ เป็นเขตยานนาวา

ต่อมาประชากรในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เขตยานนาวามีพื้นที่กว้างขวาง ทำให้บางแขวงอยู่ห่างไกลจากสำนักงานเขต เจ้าหน้าที่ไม่สามารถออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรได้ทั่วถึง และเพื่อประโยชน์ในการบริหาร การปกครอง และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในท้องที่

ในปี พ.ศ.2532 กระทรวงมหาดไทยจึงแบ่งพื้นที่เขตยานนาวาออกเป็น เขตยานนาวา เขตสาธร และเขตบางคอแหลม

โดยเขตสาธรจะประกอบด้วยแขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงทุ่งมหาเมฆ

ยังมีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2542 ให้เปลี่ยนแปลงชื่อของเขตสาธรใหม่ ด้วยคำว่า สาธร ไม่มีความหมายและคำแปลตามหลักไวยากรณ์ภาษาไทย หากนามเขตนี้มาจากราชทินนามของหลวงสาทรราชายุกต์ จึงต้องสะกดคำว่า สาธร ด้วย ท ทหาร แทน ธ ธง

หลวงสาทรราชายุกต์ หรือเจ๊สัวยม เป็นบุตรเจ๊สัวยิ้ม แซ่เล้า นายภาษี ผู้มีโรงหีบอ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย ที่บ้านดอนกะฎี (บ้านดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ๊สัวยิ้มได้รับพระบรมราชานุญาตขุดคลองเชื่อมจากคลองบางกอกใหญ่ และคลองบางขุนศรี ไปยังแม่น้ำท่าจีน ที่ตำบลดอนไก่ดี มีความยาว 620 เส้น (24.8 กิโลเมตร) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางติดต่อระหว่างกรุงเทพฯและสมุทรสาคร และเอื้อประโยชน์ในด้านการค้าขาย โดยเฉพาะการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร อันจะนำมาซึ่งรายได้จากการจัดเก็บภาษี

การขุดคลองเริ่ม พ.ศ.2410 และแล้วเสร็จ พ.ศ.2414 โดยได้รับพระราชทานนามว่าคลองภาษีเจริญ พร้อมๆ กับที่เจ๊สัวยิ้มได้รับพระราชทานราชทินนามว่า พระภาษีสมบัติบริบูรณ์

บ้านสาทร เมื่อเป็นโรงแรมรอแยล ราว พ.ศ.2467

หลังการเปิดใช้คลองภาษีเจริญ การติดต่อและขนส่งที่สะดวกรวดเร็วทำให้พื้นที่ทางทิศตะวันตกของนครหลวงเจริญก้าวหน้ามากขึ้น พระภาษีสมบัติบริบูรณ์จึงได้เลื่อนสถานภาพเป็นพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์

พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ ผู้เป็นต้นสกุลพิศลยบุตร มีบุตรหลายคน บุตรสาวคนหนึ่งได้เข้าถวายตัว คือ เจ้าจอมมารดาอ่วม ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรสคือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ต่อมาทรงกรมเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ ในรัชกาลที่ 6 เลื่อนเป็นกรมหลวงจันทบุรีนฤนาถ และเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ตามลำดับ

ด้วยเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าอยู่หัว กรมพระจันทบุรีนฤนาถทรงรับราชการหลายตำแหน่ง ตั้งแต่เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในรัชกาลที่ 5 เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ ในรัชกาลที่ 6 และอภิรัฐมนตรีในรัชกาลที่ 7 ทั้งนี้ พระองค์ทรงเป็นพระอัยกา (ตา) ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และเป็นพระปัยกา (ตาทวด) ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน

บุตรชายอีกคนหนึ่งของพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ คือ หลวงสาทรราชายุกต์ เดิมชื่อนายยม เกิดเมื่อ พ.ศ.2400 เมื่อเข้าสืบทอดกิจการต่อจากเจ๊สัวยิ้มผู้เป็นพ่อ จึงมีคนเรียกขานทำนองเดียวกันว่า เจ๊สัวยม ด้วยนายยมเคยไปศึกษาที่สิงคโปร์ จึงพูดได้ทั้งไทย จีน และอังกฤษ สามารถขยายกิจการค้าเพิ่มมากขึ้น เช่น เดินเรือสินค้าจากกรุงเทพฯไปเกาะสีชังจนถึงสิงคโปร์ นำเข้าสินค้าจากจีน จำพวกเครื่องลายคราม เครื่องมุก และกระดาษฟาง เป็นต้น เจ๊สัวยมยังร่วมทุนกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระนานาพิธภาษี (ชื่น) และนายโยราคิม แกรซี ก่อตั้ง
บริษัทขุดคลองและคูนาสยามขึ้นในปี พ.ศ.2431 รับสัมปทานขุดคลองหลายสายที่ทุ่งรังสิต

ในปี 2438 เจ๊สัวยมได้รับพระบรมราชานุญาตขุดคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก บริเวณถนนเจริญกรุง ไปบรรจบกับคลองถนนตรง (ปัจจุบันถมไปแล้ว ที่อยู่กลางถนนพระรามที่ 4) เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคม และขยายความเจริญในพื้นที่ชานพระนคร ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้

คลองพ่อยม

เดิมทีชาวบ้านเรียกขานคลองขุดใหม่นี้ว่า คลองพ่อยมบ้าง คลองเจ้าสัวยมบ้าง คลองเจ๊สัวยมบ้าง รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเรียกว่า คลองนายยม จนเมื่อเจ๊สัวยมได้รับพระราชทานราชทินนามเป็น หลวงสาทรราชายุกต์ สังกัดกรมท่าซ้าย จึงเปลี่ยนการเรียกขานว่า คลองสาทร

ในการขุดคลองสาทรครั้งนั้น เพื่อให้คลองมีความลึกและกว้างพอใช้เป็นทางสัญจรทางน้ำ ปริมาณดินที่ขุดออกมาจึงมีจำนวนมาก เมื่อไปพูนถมบริเวณสองข้างแนวคลอง และบดอัดจนแน่น จะมีสภาพดีพอใช้เป็นถนนเลียบคลอง อันเป็นที่มาของถนนสาทรเหนือและถนนสาทรใต้ในเวลาต่อมา

เจ๊สัวยมยังได้ลงทุนติดตั้งเสาไฟฟ้าริมถนน ปลูกต้นมะฮอกกานีริมคลองทั้งสองฝั่ง ทำให้ถนนสาทรเป็นถนนที่สวยงาม จนเป็นที่พอพระทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยมีชาวต่างประเทศนำไปกล่าวชื่นชมถึงความทันสมัยของพระนครในเวลานั้น ว่าบ้านเมืองมีถนนกว้าง ร่มรื่นในเวลากลางวัน และสว่างไสวในเวลากลางคืน

ก่อนที่จะมีการขุดคลองและทำถนนนั้น เจ๊สัวยมได้รวบรวมซื้อหาที่ดินที่เดิมเป็นเพียงพื้นที่ทำการเกษตร เช่น สวนหมาก สวนพลู เป็นต้น ครั้นเมื่อมีการขุดคลองและสร้างถนนแล้วเสร็จ เป็นที่รู้จักของคนทั่วทั้งพระนคร จึงจัดสรรที่ดินออกเป็นแปลงขนาดใหญ่ ประกอบกับเจ๊สัวยมเป็นที่รู้จักกว้างขวาง และมีตำแหน่งราชการในกรมท่า ทำให้บริษัทและพ่อค้าต่างชาติเชื่อถือและวางใจ พากันซื้อที่ดินสำหรับสร้างเป็นที่พักอาศัยบ้าง ที่ทำการของรัฐบาล และบริษัทต่างประเทศบ้าง

รวมทั้งเจ๊สัวยมก็ได้เลือกที่ดินผืนใหญ่ริมถนนสาทรฝั่งเหนือ ด้านที่ติดกับคลองช่องนนทรี สร้างอาคารก่ออิฐถือปูนหลังใหญ่ เป็นที่พักอาศัยสูงสามชั้น หลังคาทรงปั้นหยาในรูปแบบตะวันตกที่กำลังเป็นที่นิยมในเวลานั้น ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยม เฉพาะด้านหน้ามีสองมุขยื่นออกมา มุขกลางรูปทรงหลายเหลี่ยมสูงสองชั้น ชั้นล่างเปิดโล่ง สำหรับเป็นที่จอดเทียบรถยนต์เข้าอาคาร ชั้นบนก่อผนังเปิดช่องหน้าต่าง ส่วนมุขข้างรูปสี่เหลี่ยมสูงสามชั้น ทั้งชั้นล่างและชั้นบนก่อผนังทึบ มีช่องหน้าต่างเหมือนกับส่วนอื่นๆ ของอาคาร ทั้งหน้าต่างและประตูจะมีบานไม้สักขนาดใหญ่ ตัวบานมีลูกฟักแป้นเกล็ดไม้ขนาดเล็กเพื่อช่วยระบายอากาศ กรอบประตูและหน้าต่างชั้นล่างจะเป็นซุ้มโค้ง

ส่วนชั้นบนกรอบประตูหน้าต่างชั้นบนเป็นเหลี่ยม มีการปั้นปูนเป็นกรอบรอบ เฉพาะด้านบนจะมีลวดลายปูนกันหลายชั้น เช่นเดียวกับด้านล่างจะเป็นลวดลายที่มีรูปแบบสวยงาม ภายในอาคารจากซุ้มเทียบรถยนต์ จะเป็นโถงทางเข้าขนาดใหญ่ที่มีเพดานสูง ด้านในของประตูหน้าต่างชั้นล่างที่เป็นซุ้มโค้งด้านบนจะเป็นกระจกสี ผนังด้านในของโถงเปิดโล่ง มีเพียงเสาหินสลักขึ้นไปรับซุ้มโค้ง ทั้งหัวเสาและคิ้วบัวเพดานเป็นปูนปั้นสวยงาม เช่นเดียวกับฝ้าเพดาน

บ้านสาทรขณะปรับปรุงเป็นโรงแรมไทยแลนด์ ราว พ.ศ.2477 : ที่มา website นิตยสาร Life

จากโถงทางเข้าจะมีบันไดไม้ขนาดใหญ่ทอดตัวขึ้นสู่ชั้นบน ราวบันไดเป็นลูกกรงไม้กลึงเป็นลวดลาย จึงกลมกลืนรับกับผนังส่วนล่างที่กรุด้วยไม้ เช่นเดียวกับบานประตูหน้าต่างทั้งหมดเป็นไม้ ทาสีเข้ม ตกตรงยอดซุ้มโค้งจะสลักตราสัญลักษณ์คล้ายตัวอักษร จ. เมื่อเจ๊สัวยมถึงแก่กรรม ขณะที่มีอายุเพียง 38 ปี นอกจากการก่อสร้างบ้านสาทรที่ใช้เวลานานหลายปี กิจการค้าทั้งหมดยังตกอยู่กับหลวงจิตรจำนงวานิช ที่ได้ขยายกิจการค้าออกไปมากมาย ทั้งการทำนาหลายพันไร่ที่รังสิต เปิดโรงสีข้าวหลายแห่ง รวมทั้งเป็นพ่อค้าไทยคนแรกที่ออกไปบุกเบิกตลาดข้าวไทยในยุโรป

เป็นที่น่าเสียดายว่ากิจการค้าต่างๆ เกิดปัญหาและหนี้สินมากมายจนถึงขั้นล้มละลาย

ในปี พ.ศ.2453 หลวงจิตรจำนงวานิชจึงได้นำบ้านสาทรมาจำนอง และตกเป็นทรัพย์สินของกรมพระคลังข้างที่ (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ในปี 2459

ความใหญ่โตหรูหราของบ้านสาทร กรมพระคลังข้างที่จึงให้เช่าอาคารและที่ดินเพื่อดำเนินกิจการต่างๆ ได้แก่ โรงแรมรอแยล (พ.ศ.2467) โรงแรมไทยแลนด์ (พ.ศ.2477) ก่อนที่จะมาเป็นสถานเอกอัครราชทูตสหภาพแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (พ.ศ.2491-2542)

โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานให้บ้านสาทรเป็นอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ในปี พ.ศ.2543 ปัจจุบันบ้านสาทรก็ได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม ดับเบิลยู กรุงเทพ

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image