‘ลักษณะเสริม’ ของเมฆ (2) : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

พรีซิพิเตชิโอ

ลักษณะเสริมของเมฆมีหลายแบบ ผมได้แนะนำไปแล้วจำนวนหนึ่ง คราวนี้มาดูที่เหลือกันครับ
ก่อนอื่นควรรู้จักคำว่า หยาดน้ำฟ้า (precipitation) คำนี้หมายถึงน้ำทุกรูปแบบที่ตกลงมาจากเมฆ ไม่ว่าหยดน้ำ ผลึกหิมะ ฝนน้ำแข็ง ลูกเห็บ และอื่นๆ

หากหยาดน้ำฟ้าตกลงถึงพื้น จะเรียกว่า praecipitatio (พรีซิพิเตชิโอ) เป็นภาษาละติน แปลว่า ตกลงมา ดูภาพที่ 1 ครับ เมฆที่มีพรีซิพิเตชิโอได้ ได้แก่ แอลโตสเตรตัส สเตรโตคิวมูลัส
สเตรตัส นิมโบสเตรตัส คิวมูลัสและคิวมูโลนิมบัส

ภาพที่ 1 : พรีซิพิเตชิโอ
8 กันยายน พ.ศ. 2557 18.22 น. เชียงใหม่
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

แต่หากหยาดน้ำฟ้าตกลงมาไม่ถึงพื้น จะเรียกว่า virga (เวอร์ก้า) เป็นภาษาละติน แปลว่า แท่ง หรือกิ่งที่ยื่นออกมา ดูภาพที่ 2 ครับ เมฆที่มีเวอร์ก้า ได้แก่ ซีร์โรคิวมูลัส แอลโตคิวมูลัส แอลโตสเตรตัส นิมโบสเตรตัส สเตรโตคิวมูลัส คิวมูลัสและคิวมูโลนิมบัส (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.matichon.co.th/news/843669 )

ภาพที่ 2 : เวอร์ก้า
อังคาร 28 ตุลาคม 2557 17.06 น.
เที่ยวบิน บุรีรัมย์-ดอนเมือง
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

หากเมฆมีรูปร่างเป็นกระเปาะกลมๆ มากมาย ฝรั่งตาทะเล้นเห็นเป็นเต้านม จึงตั้งชื่อว่า mamma (แมมมา) ดูภาพที่ 3 ครับ เมฆที่อาจมีแมมมา ได้แก่ ซีร์รัส ซีร์โรคิวมูลัส แอลโตคิวมูลัส แอลโตสเตรตัส สเตรโตคิวมูลัส และคิวมูโลนิมบัส

Advertisement
ภาพที่ 3 : แมมมา
19 ต.ค. 2556 16.47 น.
เกรนอบล์ ฝรั่งเศส
ภาพ : จารุกัญญ์ จิตรวงศ์นันท์

ใต้ฐานเมฆอาจมีงวงเล็กๆ โผล่ออกมา มีรูปร่างเป็นกรวยปลายแหลม เรียกว่า tuba (ทูบา) บางครั้งเรียกง่ายๆ ว่า funnel cloud หรือ เมฆรูปกรวย ดูภาพที่ 4 ครับ ทูบามักพบในเมฆคิวมูโลนิมบัสเป็นส่วนใหญ่ แต่บางทีเมฆคิวมูลัสก็มีได้

ภาพที่ 4 : ทูบา
6 กันยายน พ.ศ.2556 15.21 น.
สถานที่ : ต.ลำปำ อ.เมือง พัทลุง
ภาพ : อิสระ อนุจันทร์

หากใต้ฐานเมฆมีลักษณะคล้ายคลื่นทะเลที่ปั่นป่วน เรียกว่า asperitas (แอสเพริแทส)
ดูภาพที่ 5 ครับ ลักษณะเสริมแบบนี้พบในเมฆสเตรโตคิวมูลัส และแอลโตคิวมูลัส อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.matichon.co.th/news/817990

ภาพที่ 5 : แอสเพริแทส
3 มกราคม 2555 8:55 น.
ใกล้เขาสอยดาวเหนือ จันทบุรี
ภาพ : บุญเอก ทรงเนติเชาวลิต

หากเกิดช่องเปิดในเมฆจากการที่หยดน้ำเย็นยิ่งยวดกลายเป็นน้ำแข็ง จะเรียกช่องเปิดนี้ว่า cavum (เควุม) เป็นภาษาละติน แปลว่า ช่องว่าง ดูภาพที่ 6 ครับ เมฆที่เกิดช่องเปิดได้ ได้แก่ แอลโตคิวมูลัส ซีร์โรคิวมูลัส และสเตรโตคิวมูลัส (กรณีหลังสุดนี่พบยาก)

ภาพที่ 6 : เควุม
1 มีนาคม 2561
ผาแง่ม (ผา 2 ฤดู) บ้านขุนวาง ต.แม่วิน อ.แม่วาง เชียงใหม่
ภาพ : Mist flower

ลักษณะเสริมแบบสุดท้ายมีรูปร่างเป็นคลื่นบริเวณผิวด้านบนของเมฆ เรียกว่า fluctus (ฟลักตัส) เป็นภาษาละติน แปลว่า คลื่น หากคลื่นมีหลายระลอก นิยมเรียกว่า เมฆคลื่นเคลวิน-เฮล์มโฮลต์ซ (Kelvin-Helmholtz wave cloud) ดูภาพที่ 7 ครับ

ภาพที่ 7 : ฟลักตัส
29 มิถุนายน 2558 กรุงเทพฯ
ภาพ : พิเชษฐ อิทธิสัทธากุล

แหงนมองเมฆคราวหน้า ลองสังเกตหาลักษณะเสริมดู หากพบด้วยตัวเองจะประทับใจไปนานเชียวครับ!


ขุมทรัพย์ทางปัญญา

ขอเชิญทดลองใช้เว็บชมรมคนรักมวลเมฆที่
www.CloudLoverClub.com


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image