“บุญ” โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“บุญ” เป็นคำที่ทุกคนคุ้นหู พูดติดปาก และใช้กันบ่อย โดยเฉพาะคนที่เห็นประโยชน์และคุณค่าของ “บุญ” แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจจริงๆ ว่า “บุญ” คืออะไร?

คำว่า “บุญ” ถ้าแปลกันแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ การทำความดี ถ้าจะแปลให้ลึกหน่อย ก็เป็นเครื่องชำระใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส หากจะถามต่อไปว่า “บริสุทธิ์” จากอะไร ก็ต้องตอบว่า บริสุทธิ์จากความ “เห็นแก่ตัว” ความมีใจคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว ความหลงใหลได้ปลื้มแบบไม่ลืมหูลืมตาในบุคคลและวัตถุสิ่งของ…ซึ่งบุคคลและวัตถุดังกล่าวไม่เคยอยู่กับเราได้นาน มันจึงทำให้เราน้ำตาตกมานักต่อนัก ทั้งหมดนี้ก็คือสาเหตุของ “ความทุกข์” ทั้งนั้น และเนื่องจากเรามีสุขมาจากการทำบุญด้วยจิตอันบริสุทธิ์ จิตเราก็เรียกได้ว่า “สุขล้นและเบาสบาย”

ดังนั้น บุญจึงมีความหมายได้อีกว่า เป็นเครื่องยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน “บุญ” มีความหมายซ้ำอีกว่าเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความน่าเคารพยกย่อง เพราะบุคคลที่หมั่นทำบุญย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีคุณธรรม ความดี มีน้ำใจงาม จึงเป็นที่เคารพรัก บูชาของคนทั่วไป

คนที่ฉลาดจึงมักจะหายใจเข้า หายใจออกให้เป็น “บุญ” อยู่ตลอดเวลา เพราะ “บุญ” ทำให้จิตใจอิ่มเอิบเป็นสุขเสมอ และยิ่งทำบุญมากขึ้นเท่าไหร่ “ความสุข” ก็ยิ่งประณีตลึกซึ้งขึ้นไปมากขึ้นเท่านั้น จนในที่สุดก็กลายเป็นความสุขที่มั่นคง ยั่งยืน และยาวนาน

Advertisement

ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าได้ “บุญ”

1.สำเร็จด้วยการเสียสละ แบ่งปันทรัพย์สิ่งของ เรียกว่า “ทานมัย” 2.สำเร็จด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติปฏิบัติธรรมโดยชอบเรียกว่า “ศีลมัย” 3.สำเร็จด้วยการเจริญภาวนา อบรมจิตใจให้สงบเกิดปัญญา เรียกว่า “ภาวนามัย” 4.สำเร็จด้วยการประพฤติสุภาพอ่อนน้อม วาจา ใจ เรียกว่า “อปจายนมัย” 5.สำเร็จด้วยการขวนขวาย รับใช้ บริการ บำเพ็ญประโยชน์ เรียกว่า “ไวยยาวัจมัย” 6.สำเร็จด้วยการให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการทำดี เช่น การอุทิศส่วนกุศล เรียกว่า “ปัตติทานมัย” 7.สำเร็จด้วยการพลอยยินดีในการทำบุญและความดีผู้อื่น เรียกว่า “ปัตตานุโมทนามัย” 8.สำเร็จด้วยการฟังธรรม ศึกษาหาความรู้ในทางที่เกิดประโยชน์ เรียกว่า “ธัมมัสสวนมัย” 9.สำเร็จด้วยการพร่ำสอนธรรม ให้ความรู้ในทางที่เกิดประโยชน์ เรียกว่า “ธัมมเทสนามัย” 10.สำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้อง รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ให้เกิดเป็นความรู้ที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) เรียกว่า “ทิฏฐุชุกัมม์”

หลักการ “สร้างบุญ” ที่ก่อให้เกิดความสะอาดขัดเกลากิเลสจริงๆ แล้วจะเห็นว่ามีหลายวิธีไม่ต้องยุ่งยาก บางครั้งอาจไม่ต้องลงทุนด้วยเงินทองเลย เช่นข้อที่ว่า “บุญ” ที่เกิดขึ้น เมื่อมีจิตยินดีอนุโมทนาเมื่อเห็นผู้อื่น “ทำดี” เช่น เห็นคนอื่นช่วยกวาดเก็บขยะตามถนนเพื่อส่วนรวม หรือจูงคนแก่คนพิการข้ามถนนแทนที่จะเกิดความ “ริษยา” เขา เราก็ประนมมือหรือน้อมจิตยินดีในการกระทำของเขาเท่านี้

Advertisement

ขณะนี้จิตเราก็เป็น “กุศลเป็นบุญ” ทันที

ในปัจจุบันนี้ ที่โชคดีในเรื่องของการทำบุญ นอกจากว่าจะมีโอกาสกระทำด้วยตนเองอยู่ เพราะมีพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ มีวัดวาอารามเป็นที่ประกอบบุญ มีหลักคำสอนที่เป็น “สัมมาทิฐิ” ที่สอนให้คนละชั่วทำดี อยู่ที่เราจะหาโอกาสประกอบการทำบุญอย่างเต็มที่แล้ว เรายังมีโอกาสได้พบเห็นการทำบุญของผู้อื่นอย่างเนืองนิตย์

เวลา “ทำบุญ” แล้วทำไมจึงต้องมีการอุทิศส่วนกุศล? : เหตุผลแรก : เพื่ออุทิศบอกกล่าวแก่ญาติ เพื่อให้ญาติที่กำเนิดไปเป็น “เปรต” ได้สร้างบุญด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญของเราถือเป็น “ปัตติทานมัย” นั่นเอง เหลุผลที่สอง : ก็เพื่อสร้างบุญกุศล เป็นความฉลาดในบุญ เรียกว่า… สร้างเหตุอย่างเดียว ได้ผล 2 อย่าง ผลประการที่สอง ที่กล่าวนี้ คือ บุญกุศลที่ได้จากการอุทิศส่วนกุศล ก็คือ การให้ผู้อื่นมีเปรต เป็นต้น มีส่วนร่วมในบุญ บุญส่วนนี้ที่เรียก “ปัตติทานมัย” (สัตว์จำพวก “เปรต” ต้องคอยรับส่วนบุญจากผู้ที่เป็นญาติพี่น้อง ที่ทำบุญและบอกกล่าวให้อนุโมทนา สร้างด้วยตนเองไม่ได้)

หลักการทำบุญ : หลักธรรมในการทำบุญมี 3 แนวทาง หรือ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ” คือ

1.ทานมัย คือ การแบ่งปันสิ่งของหรือเงินทอง เป็นทานให้แก่คนตกยาก ขาดแคลน หรือไม่มีเท่าเรา 2.ศีลมัย คือ การทำบุญด้วยการประพฤติศีล และรักษาศีลตามหลักพระพุทธศาสนา 3.ภาวนามัย คือ การเจริญสมาธิภาวนา เพื่ออบรมจิตและพัฒนา “ปัญญา” เป็น “การนั่งสมาธิกับนั่งวิปัสสนา” ควบคุมใจตน ควบคุมจิตเพื่อสร้างสมาธิให้เกิดขึ้น และมีปัญญา ในการคิดไตร่ตรองสิ่งต่างๆ ได้อย่างรอบคอบ

คุณสมบัติของคนทำบุญ มี 5 อย่าง คือ 1.มีศรัทธา : เชื่อความมีเหตุมีผล ยึดมั่นในคุณพระรัตนตรัย 2.มีศีล : ดำรงตนอยู่ในศีล 5 หรือศีล 8 3. เชื่อในเรื่องของเวรกรรม 4.ไม่แสวงหานอกหลักพระธรรมคำสั่งสอน 5.ใส่ใจศรัทธาในการทำบุญ บำรุงศาสนา ยินดีช่วยกิจของสงฆ์เสมอ

กิจของสงฆ์ที่เราทำบุญได้อะไรบ้าง?…

บุญจากการตักบาตรพระสงฆ์ : ด้วยการถวายทาน ตักบาตรพระสงฆ์สามเณร เป็นการสร้างบุญให้กับตนเองในด้านจิตใจ ด้วยการเพิ่มกำลังใจ สร้างพลังใจให้กับตนเอง ใจสบาย กายสบาย รวมถึงเป็นการส่งส่วนบุญให้กับญาติสนิทมิตรสหายผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือเจ้ากรรมนายเวรต่างๆ โดยให้ “พระสงฆ์” เป็นผู้เชื่อมถึงผู้ที่ล่วงลับไป

เมื่อตายไปก็ได้เป็นเทพบุตรบนสรวงสวรรค์ นั่นเป็น อานิสงส์จากผลบุญนั้น

บุญจากการถวายผ้าป่า : การถวายผ้าป่าหรือบังสุกุลจีวร มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้พระสงฆ์รู้จักการขจัดกิเลส และมลทินทั้งหลายทั้งปวง หรือความมักมากในจีวร โดยมีความเชื่อมาตั้งแต่โบราณ

ผลบุญที่ได้ให้ “ผู้ทำ” เจริญด้วยทรัพย์สมบัติ 3 ประการ ได้แก่ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ และยังส่งผลให้ทุกคนนั้นไม่ว่าจะเกิดชาติใด ก็พบแต่…ความเจริญ รุ่งเรือง บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทอง และข้าทาสบริวาร เมื่อตายไปการเป็นมนุษย์ จำต้องดับละสังขาร จะได้ไปเกิดยังสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสวยทิพย์สมบัติสืบไป

บุญจากการถวายกฐิน : เป็นพิธีกรรมที่ก่อให้เกิดบุญกุศลอันยิ่งใหญ่สำหรับผู้กระทำ เพราะเป็นการทำบุญครั้งใหญ่ที่อาศัยกำลังทรัพย์และความศรัทธาอย่างแรงกล้า การทำบุญกฐิน มักทำช่วงออกพรรษา ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันเพ็ญเดือน 12 โดยมีวัตถุประสงค์ : เพื่อถวายเครื่องบริวารทั้งหลายให้แก่พระสงฆ์ได้ใช้หลังจากออกพรรษา

ผู้ที่ได้ทำบุญกฐิน : เชื่อว่าจะเป็นผู้ประสบความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติเงินทอง เครื่องนุ่งห่มอาภรณ์ ที่หรูหราอลังการ เมื่อตายไปจะได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นุ่งผ้าทิพย์และสถิตอยู่ในวิมานแก้ว

บุญสร้างด้วยหนังสือธรรมะ : มีการกล่าวว่า การให้ธรรมะเป็นทาน เปรียบเสมือนการชี้ทางสว่างให้แก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นบุญที่มากกว่าบุญอื่นๆ อย่างหาที่เปรียบมิได้ ดังคำสอนที่ว่า… “ให้ธรรมะเป็นทาน เป็นบุญกุศลอันสูงสุด” เชื่อว่า คนบริจาคหนังสือธรรมะเป็นทาน : จะได้รับบุญกุศล คือ ช่วยลบล้างกรรมเวรจากอดีตชาติก่อน ทำให้หนี้เวรคลี่คลาย พ้นทุกข์พ้นโศก ไร้โรคภัยไข้เจ็บ ก่อการงานต่างๆ จะราบรื่น สมปรารถนา มีบารมีคุ้มครองลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ช่วยให้วิญญาณทุกข์ของบรรพบุรุษพ้นจากความทรมานไปสู่ “สุคติ” วิญญาณเด็กที่แท้งจะได้ไปเกิดใหม่ ยามมีบุตรจะได้บุตรที่ฉลาด เป็นคนดี ไม่เกเร เป็นเจ้าคนนายคน

บุญจากการถวายสังฆทาน : เป็นพิธีกรรมที่ทำกันอย่างแพร่หลาย เป็นการทำบุญที่บ่งบอกถึงความเชื่อในการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ให้กับ “ตนเอง” ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า รวมถึงบางครั้งยังเปรียบเสมือน… “การสะเดาะเคราะห์” ให้กับตนเอง และทำให้จิตใจผ่องใสภายในใจมากขึ้น

การถวายสังฆทาน : คือการถวายทานแก่พระสงฆ์ โดยมิได้กำหนด หรือจำกัดพระสงฆ์ผู้รับ

ผลบุญ : จะดลบันดาลให้ผู้ทำประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไป อุดมสมบูรณ์ด้วยลาภ ทรัพย์สมบัติ

เมื่อตายไปชาตินี้ ไม่ว่าเกิดชาติไหน ก็จะพบแต่ความสุขความเจริญ มีแต่ความมั่งคั่ง บริบูรณ์ด้วย ลาภ ยศ ฐานะ และยังดลบันดาลให้พ้นทุกข์พ้นโศก และได้เสวยสุขสมบัติ

เมื่อตายไปสิ้นอายุขัยในการเกิดเป็นมนุษย์ จะได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา สถิตในวิมานทอง บนสรวงสวรรค์

พระธรรมสิงหบุราจารย์ หลวงพ่อจรัญ ท่านกล่าวว่า : “การสวดมนต์ไหว้พระ” เป็นการสร้างบุญที่ยิ่งใหญ่ต่อตนเองและบริวาร เป็นธรรมประจำชีวิต เป็นข้อคิดประจำชีวิต เกิดผลผลิตที่งอกงาม สร้างความดีให้แก่ตน ผลกำไรเป็นความดีเพื่อมอบให้แก่เพื่อนร่วมชาติร่วมโลก ได้อยู่ด้วยความโชคดีทุกๆ คน

หลวงพ่อบอกว่า ขอให้ทุกคน พร้อมสมาชิกในครอบครัวได้ “สวดมนต์” กันทุกคน ทุกครอบครัว เพื่อเป็นมงคลในชีวิต จะเกิด…. ฐานะดี มีปัญญาดี จะได้มีความสุข ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในชีวิต

ขอให้ลูกหลานทุกๆ คนสวดมนต์ก่อนนอน ถ้าทุกคนตั้งใจ มุ่งมั่นศรัทธาปฏิบัติ อานิสงส์ที่ได้ มี 4 ประการ คือ 1.ลูกหลานมีระเบียบวินัยดี 2.ลูกหลานจะไม่เกี่ยง จะเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ เขาจะรู้ว่าเขาเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะวางตัวได้อย่างเหมาะสม 3.เมื่อเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว ก็จะเป็นลูกหลานที่ดีของพ่อแม่ เป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ และข้อ 4.ผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำได้บุญกุศล เจริญรุ่งเรือง พัฒนาสถานะ จะรวย จะสวย จะมีปัญญา จะสมประสงค์ในสิ่งที่ดีงามตลอดไปทุกประการ

อนึ่ง : ในวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา มีบริการออกหน่วยแพทย์พระราชทาน ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการนำของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี สำนักงานสาธารณสุขอำเภอชัยบาดาล และโรงพยาบาลชัยบาดาล โดยมีท่านกรมวังผู้ใหญ่ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าที่ร้อยตรี กิตติ ขันธมิตร เป็นประธานพิธีเปิดหน่วยแพทย์พระราชทาน ณ วัดโคกสำเริง (โคกล้อ) หมู่ 3 ตำบลมะกอกหวาน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีพิธีผูกพัทธสีมาและตัดลูกนิมิตโดยนิมนต์เจ้าคณะภาค 3 พระธรรมปริยัติโมลี วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และเชิญญาติมิตรสหายร่วมงาน โดยเฉพาะท่านกรมวังผู้ใหญ่ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าที่ร้อยตรีกิตติ ขันธมิตร, นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ร่วมเป็นประธานตัดลูกนิมิต มีพุทธศาสนิกชน ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

ส่วนผลบุญเอาแค่ “บุญจากสังฆทาน” หรือ “ปัตติทานมัย” ก็พอ…อันนี้ก็คือทางหนึ่งในการสร้างบุญ

โดยสรุปภาพรวมของเส้นทาง “บุญ” จะทำให้เกิดความเบิกบานทางจิตใจ ทำให้ชีวิตของเรามีสุขภาพดี มีอายุยืนยาว อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งตัวเรา คนรอบข้าง ครอบครัวเรา ปลอดโรค ปลอดภัย แคล้วคลาด และโชคดี ดั่งคำพระท่านว่า… “ความสั่งสมขึ้นซึ่งบุญ นำสุขมาให้” และ “ยิ่งให้ ยิ่งได้” เพราะ “บุญ เป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า”

และขอฝากเพื่อนๆ สมาชิกมติชนและคนไทยทั้งประเทศว่า “บุญอยากได้ ต้องสร้างเอง” ขอให้โชคดีนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image