การเมืองคึกคัก โดย ปราปต์ บุนปาน

การเมืองไทยเริ่มคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อย่างน้อยก็ในพื้นที่การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนเจ้าต่างๆ

กระแสคึกคักเร่าร้อนอาจเริ่มต้นจากการประกาศตัวเข้าสู่แวดวงการเมืองของ “พรรคอนาคตใหม่”

อันมีสองนักธุรกิจ-นักวิชาการรุ่นใหม่อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นปากเสียง เป็นแกนกลางในการนำเสนอความคิดความเห็นต่อสาธารณชน

Advertisement

แรกเริ่ม สำนักข่าวออนไลน์ส่วนใหญ่มักชวนธนาธร ในฐานะตัวแทนของพรรคอนาคตใหม่ ไปนั่งพูดคุยกับพิธีกรสองต่อสอง

ด้วยจำนวนผู้ติดตามชมการถ่ายทอดสด จำนวนคอมเมนต์-การตั้งคำถาม รวมทั้งการนำไปพูดถึงต่อในแง่บวก-แง่ลบ ที่น่าจับตา

กล่าวคือจำนวนผู้ติดตามรับชมการให้สัมภาษณ์ของธนาธรผ่านทางโซเชียลมีเดีย อาจมีไม่เยอะเท่าการติดตามรับชมละครดังหรือการให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์ของดาราที่กำลังอยู่ในกระแส

Advertisement

แต่ถ้าเทียบกับการออกสื่อของบุคคลสาธารณะประเภทอื่นๆ เช่น ทหาร ข้าราชการ และนักการเมืองจากพรรคเดิมๆ แล้ว จำนวนคนติดตามความเคลื่อนไหวของธนาธรก็นับว่าสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่แนวคิด ข้อเสนอของตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ จะก่อให้เกิดกระแสบวก-ลบ ทั้งเสียงเชียร์และข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

หากการก่อตัวของพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้ ยังเป็นเชื้อมูลที่ช่วยปลุกพลังให้แก่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย

เพราะต่อมา ได้มีบางเวทีที่เริ่มเปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคการเมืองหลายพรรคมาพบปะ

แลกเปลี่ยนความเห็น หรืออาจพูดจาภาษาบ้านๆ ว่ามา “เปรียบมวย” กัน

ในการนี้ เราจึงได้เห็นตัวแทนพรรคอนาคตใหม่แสดงความเห็นเทียบเคียงกับนักการเมืองรุ่นพี่จากพรรคการเมืองอื่นๆ

และได้เห็น “นักการเมืองรุ่นใหม่” จากพรรคอนาคตใหม่ แสดงความเห็นในเวทีเดียวกันกับ “คนรุ่นใหม่” ของพรรคประชาธิปัตย์ และ/หรือกลุ่ม กปปส.

เช่นเดียวกับกรณีการออกสื่อออนไลน์เดี่ยวๆ ของธนาธร เราจะพบว่ามีผู้คนตามชมการอภิปรายเหล่านี้มากกว่า “ข่าวการเมือง” ส่วนใหญ่ในระยะ 2-3 ปีให้หลัง

นี่คือ “อาการทางสังคม” และ “อาการทางการเมือง” ที่น่าสนใจและน่าติดตาม

นี่เป็น “อาการ” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับสถานการณ์ซึ่งใครๆ ต่างก็รับรู้ว่าคือ “ช่วงปลาย” ของรัฐบาล คสช. (ที่อาจแปรรูปเปลี่ยนร่างเป็นอย่างอื่นในอนาคต)

นี่เป็น “อาการ” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการตั้งตารอคอยการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะติดขัดอุปสรรคปัญหาเชิงเทคนิควิธีการมากมายขนาดไหนก็ตาม

นี่เป็น “อาการ” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับกระแสข่าวคราวการทุจริตในโครงการภาครัฐหลายโครงการที่ดำเนินงานโดยข้าราชการและหน่วยงานราชการ จากเรื่องคนจน ไปสู่การศึกษา ฯลฯ

กระทั่งโรคพิษสุนัขบ้าก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศได้อย่างไม่น่าเชื่อ

พร้อมๆ กับที่หลายคนเริ่มเกิดความรู้สึกว่าการย้อนคืนสู่โครงสร้างการปกครองแบบรัฐราชการ อาจไม่ใช่ “ตัวเลือกที่ถูกต้อง” ในการแก้ไขปัญหาของสังคมการเมืองไทย

สังคมก็ค่อยๆ ถ่ายโอนน้ำหนักความคาดหวังกลับมายังการเมืองตัวแทนในระบบรัฐสภา นักการเมือง พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง อีกหน

ส่วนฝ่ายใดจะได้รับเสียงหนุนมากกว่า ระหว่าง “นักการเมืองหน้าเก่า” “นักการเมืองหน้าใหม่” หรือตัวแทนของใครอื่น ก็ขึ้นอยู่กับการลงคะแนนเสียงของประชาชน

และขึ้นอยู่กับว่าการเลือกตั้งจะเดินทางมาถึงตามโรดแมปล่าสุดหรือไม่เท่านั้นเอง

……………

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image