สินทรัพย์ของชาติ – มีอยู่เท่าไหร่? : โดย ไพฑูรย์ ปานสูง

ในฐานะที่เล่าเรียนมาทางบัญชี ผมมีความรู้สึกว่าข้อมูลที่เราได้รับรู้เกี่ยวกับประเทศของเรามีอยู่ด้านเดียวคือด้านหนี้สิน เพราะธรรมดางบดุลของแต่ละองค์กรต้องมีสองด้าน เมื่อมีด้านหนี้สินก็ต้องมีด้านสินทรัพย์ แต่สิ่งที่เราไม่รู้หรือหาข้อมูลไม่ได้ว่าประเทศของเรามีสินทรัพย์อยู่เท่าไหร่

คณะบัญชีมีการเรียนการสอนเรื่องการทำธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับกำไร-ขาดทุน และงบดุล เพื่อแสดงถึงผลการดำเนินงานแต่ละปี

นอกจากนี้งบดุลยังแสดงให้เห็นสถานะความมั่นคงของกิจการว่ามีสินทรัพย์ หนี้สิน เท่าไหร่ และอย่างไร ทำให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถประเมินความสามารถของผู้บริหารและประเมินความแข็งแรง / ไม่แข็งแรงของกิจการ อันจะนำไปสู่การคงอยู่ หรือเปลี่ยนแปลงผู้บริหารตามผลงาน เพราะผู้บริหารต้องทำให้ผู้ถือหุ้น (เจ้าของกิจการตัวจริง) มีความสุข ความพอใจ

ถ้าเราขยายอัตราส่วนจากองค์กรให้ใหญ่ขึ้น และใหญ่ขึ้น นั่นคือประเทศ หรือชาติของเรานั่นเอง สิ่งที่ประชาชน ที่เป็นเจ้าของประเทศตัวจริงได้รับรู้เกี่ยวกับประเทศ (ชาติ) ของเรา ผ่านสื่อสารพัดสื่อในแต่ละปี ในแต่ละช่วงของผู้บริหาร ที่มีทั้งที่เราชอบเพราะเลือกมากับมือ และเราถูกบังคับ (ด้วยอาวุธ) ให้ชอบ ก็แค่เรื่องงบประมาณ รายได้-รายจ่าย ว่า สมดุล, เกินดุล (ส่วนใหญ่ขาดดุล) และรู้ว่ารายจ่ายส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำคือ เงินเดือน รายจ่ายชำระคืนเงินกู้รวมดอกเบี้ย รายจ่ายลงทุน ซึ่งน้อยมากในแต่ละปี

Advertisement

ตรงข้ามกับรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น ซื้ออาวุธ (ที่แทบจะไม่มีโอกาสได้ใช้แต่ที่ยังต้องจัดซื้ออยู่ก็เพราะใช้วิธีคิดแบบโบราณ) มาป้องกันประเทศจากศึกสงคราม

นอกจากนี้ในแต่ละครั้งที่รัฐบาลไปกู้หนี้ยืมสินมาทำโครงการ ประชาชนจะรู้เพียงว่าจำนวนเท่าไหร่ ซื้ออะไร จากใคร วัตถุประสงค์ อธิบายกันไปแกนๆ และจะมีสื่อและนักการเมือง (ที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล) วิเคราะห์ว่า การกู้ยืมแต่ละครั้งสร้างหนี้สินให้ประชาชนเท่านั้นเท่านี้ เป็นเวลากี่ปี กี่สิบปี แล้วแต่จำนวนเงินที่กู้

แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนควรจะได้รับรู้ คือ สินทรัพย์ ของชาติว่าเรามีอยู่เท่าไหร่แน่ จึงได้เสนอต่อสมาคมนิสิตเก่าที่ผมได้เข้าร่วมประชุมผ่านไปยังคณะบัญชีที่ผมเคยเรียน ให้ทำเสนอต่อสาธารณะ แต่ได้รับคำตอบว่า ทำยาก, ไม่เคยมีใครทำ มิไยที่ผมจะคะยั้นคะยอว่าไม่มีใครทำนั่นแหละ ที่เราควรทำขึ้นมา

ผมว่าคนเราตลอดชีวิตถ้าได้รับรู้แต่เรื่องหนี้สินด้านเดียวมันรู้สึกเหี่ยวเฉานะครับ ยิ่งรู้จำนวนปีที่ต้องใช้คืนเงินกู้จนครบเป็นระยะเวลาที่ใช้ไม่หมดในอายุของตัวเองแล้วยังยาวไปถึงหลานซึ่งเลยลูกไปอีก ทำให้สลดหดหู่จนซึมเศร้าได้

ดังนั้นการมีหน่วยงานซักหน่วยหนึ่งเป็นคนริเริ่มทำเรื่องนี้ขึ้นมา จะทำให้ข้อมูลของชาติ สมดุลมากขึ้น คือ เรารู้ทั้งสินทรัพย์และหนี้สิน อย่างน้อย จะปลุกจิตสำนึกของประชาชนว่า ประเทศ/ชาติของเรา มีความสมบูรณ์ มั่งคั่ง (หรือตรงข้าม) เท่าไหร่ อย่างไร

ถ้าเราเห็นว่าสูงมาก (ผมก็เชื่อว่าสูงมาก) เราก็จะได้ระวังรักษาและรักชาติ (ประเทศ) ให้มากขึ้น และป้องกันไม่ให้โจรมาปกครองบ้านเมืองของเรา ซึ่งทุกวันนี้ เพราะเราไม่รู้ จึงทำให้ไม่สนใจว่าใครจะมาใครจะไป ทำให้ขาดการตรวจสอบอย่างจริงจัง (โดยผู้เป็นเจ้าของประเทศ) – น่าเสียดายจริงๆ !

หากจะมีหน่วยงานใด (ที่เป็นอิสระจริงๆ โดยไม่อิงการเมือง – เช่นที่เสนอให้สมาคมนิสิตเก่าและคณะบัญชีที่เป็นงานวิชาการ) จะริเริ่มศึกษา แต่ขาดปัจจัยทุน ผมคิดว่าน่าจะใช้วิธีระดมทุนจากภาคประชาชนคนละเล็กละน้อยตามกำลังศรัทธา จากคนที่มีความเห็นด้วยในเรื่องนี้ น่าจะมีอยู่บ้างล่ะครับ (แน่นอนว่าผมเป็นคนหนึ่งล่ะ) ถ้าทำสำเร็จ ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนแน่นอน

นอกจากนี้ยังเป็นการเตือนผู้ที่อยากจะมาบริหารนอกจากสินทรัพย์ของชาติจำนวนมหาศาลขนาดนี้แล้วยังแถมประชาชนอีกเกือบ 70 ล้านคน ว่าถ้า “มือไม่ถึง” โปรด “อย่าเสนอหน้า”

ไพฑูรย์ ปานสูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image