กฎหมา(ย)กับโรคพิษสุนัขบ้า โดย : กล้า สมุทวณิช

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อ Rabies Virus ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสมองและประสาทส่วนกลาง ทำให้สัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสนี้ ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ มีอาการบ่งชี้สำคัญตรงตามชื่อโรค คือกลัวน้ำจนกลืนไม่ได้แม้แต่น้ำลาย สับสน เสียสติและแสดงความดุร้ายก้าวร้าว เมื่อโรคนี้แสดงอาการแล้ว โอกาสเสียชีวิตสูงกว่า 90%

ในประเทศไทยนั้นเรารู้จักโรคนี้กันดี ในฐานะของโรคระบาดประจำฤดูร้อน (ทั้งๆ ที่จริงแล้วโรคนี้ระบาดได้ทั้งปีไม่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล) แต่สำหรับปีนี้ออกจะพิเศษสักหน่อย ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคนั้นขยายตัวและรุนแรงกว่าปีก่อนๆ ด้วยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตแล้วถึง 6 คน แม้ว่าโรคนี้จะสามารถป้องกันล่วงหน้าได้ทั้งในคนและในสัตว์ด้วยวัคซีน แต่ก็ยังเกิดการระบาดของโรคจนมีผู้เสียชีวิตได้ จึงน่าจะมีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้น

โดยหลักการแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใกล้ชิดมนุษย์ และมนุษย์เข้าไปรับผิดชอบจัดการชีวิตของมันได้แก่สัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ทั้งหลายนั้น สมควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ไว้ก่อน

อำนาจรัฐจึงอาจเข้ามาในกระบวนการนี้เอง ด้วยการกำหนดบังคับให้ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องรับผิดชอบในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารวมถึงโรคระบาดอื่นๆ ให้แก่สัตว์เลี้ยงของตน ตลอดจนช่วยส่งเสริมสนับสนุนด้วยการจัดให้บริการฉีดวัคซีนฟรีๆ หรือในกรณีสัตว์ไม่มีเจ้าของ รัฐก็จะต้องเป็นเจ้าภาพในการ “จัดการ” ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ ไม่ว่าจะด้วยการจัดการให้สัตว์เร่ร่อนมีจำนวนน้อยที่สุดจนถึงไม่มีเลย หรืออย่างน้อยก็ทำให้พวกมันไม่เป็นพาหะนำโรค

Advertisement

โดยที่โรคพิษสุนัขบ้านี้เป็นโรคอันตรายที่ใกล้ตัวมนุษย์ ประเทศไทยจึงมีกฎหมายเพื่อป้องกันโรคนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2498 แล้ว ที่ต่อมาภายหลังได้แก้ไขด้วยการยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ในปี 2535 สาระสำคัญของกฎหมายนี้ คือการกำหนดให้เจ้าของสุนัขหรือสัตว์อื่นตามที่ประกาศในกฎกระทรวง ต้องจัดการให้สุนัขหรือสัตว์ทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดวิธีการจัดการกับสัตว์ที่เป็นหรือสงสัยว่าจะเป็นโรค ตลอดจนการส่งเสริมจากรัฐในการออกฉีดวัคซีนให้สุนัขโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย

ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาในเรื่อง “อำนาจ” ของหน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่ดำเนินภารกิจการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านี้ คือเมื่อมีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มองว่า การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าดังกล่าวอยู่ในภารกิจของตน จึงจัดหาและดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันในท้องถิ่นแต่ละแห่ง เรื่องก็ฟังดูชอบด้วยเหตุผลแล้ว

กระนั้นก็เกิดปัญหาเมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินของหน่วยงานของรัฐ ได้เคยทักท้วงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าการใช้เงินเพื่อฉีดวัคซีนดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง เพราะผู้มีหน้าที่นี้ตามตัวบทกฎหมายคือ “กรมปศุสัตว์”

Advertisement

คําว่า “สตง.” สำหรับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐนั้นเป็นเหมือนผู้ที่ไม่ควรเอ่ยถึง ใครได้ยินแล้วจะเป็นอันตัวเย็นเหงื่อแตก จนไม่กล้าดำเนินการในเรื่องใด ๆ ก็ตามที่ สตง. “ทัก” มา นั่นทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่กล้าที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในท้องที่ของตน มาเป็นเวลาเกือบสามปี นับตั้งแต่ พ.ศ.2557

แต่เรื่องนี้จะว่าเป็นความผิด สตง. ที่บ้าจี้เถรตรงเสียทีเดียวก็คงไม่ได้ เพราะองค์กรดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินให้เป็นไปตาม “กฎหมาย” โดยเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ “เงินแผ่นดิน” ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศรั่วไหลหรือใช้ไปโดยไม่สมควร ดังนั้น เมื่อมีการใช้จ่ายเงินที่ไม่ตรงกับที่กฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้แม้แต่เล็กน้อย ก็เป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องตั้งข้อสังเกตแจ้งเตือน หรืออาจเรียกเงินนั้นคืนเพื่อประโยชน์ของ “แผ่นดิน” คือประเทศชาติ

ล่าสุดมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้เกี่ยวข้องแล้ว เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้านี้ ซึ่งมีการออกแนวทางปฏิบัติมาแล้ว และจะมีการออกระเบียบตามมาเพื่อความชัดเจนกันต่อไป เพื่อไม่ให้ต้องกังวลกัน

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของรัฐในเรื่องนี้คือการเข้าไปช่วยให้สัตว์ที่อาจเป็นพาหะสามารถเข้าถึงวัคซีนเพื่อการป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึงที่สุดเพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของโรค แต่ผู้มีหน้าที่สำคัญที่สุด ก็คือ “คน” ผู้เป็น
เจ้าของสัตว์โดยเฉพาะสุนัข ที่ควรจะมีสำนึกในหน้าที่ในเชิงป้องกันไม่ให้สัตว์ของตัวเองติดเชื้อโรคนี้ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและสังคม โดยมีกฎหมายและกลไกของรัฐคอยสำทับสร้างสภาพบังคับหรือช่วยสนับสนุนให้

กระนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของสัตว์โดยเฉพาะสุนัขในสังคมไทย คือกรณีของสัตว์ไม่มีเจ้าของแต่มีผู้ดูแล หรือที่นักวิชาการท่านหนึ่งเรียกว่า “เจ้าของสัตว์อำพราง” นั่นคือ กรณีของการให้การเลี้ยงดู ให้อาหาร หรือที่พักพิงแก่สุนัขเร่ร่อน หรือในบางกรณีเจ้าของแฝงเหล่านี้อาจจะจัดหาให้มีการฉีดวัคซีนหรือทำหมันสุนัขจรจัดเหล่านี้ด้วย หากผู้ใจบุญต่อสัตว์โลกผู้น่าสงสารนี้ส่วนใหญ่ก็เพียงนำอาหารเหลือมาเทวางไว้ให้พวกมันยาไส้ต่อชีวิต หรือบางคนเล่นใหญ่ใจบุญถึงกับเจียดจ่ายเงินมาหุงข้าวหากับเพื่อเลี้ยงสุนัขจรจัดทั้งซอยหรือในละแวกบ้านกันเป็นงานใหญ่ จนถึงการให้ที่พักพิงหลบภัยเมื่อมีเจ้าหน้าที่มาไล่ตามจับ

พวกเขาทุ่มเทเสียสละทำทุกอย่างต่อสัตว์พวกนั้นด้วยความรักและเมตตาเต็มเปี่ยม ยกเว้นเพียงอย่างเดียว คือนำพวกมันไปเลี้ยงในบ้านของตัวเอง

เมื่อสุนัขไม่มีเจ้าของแต่ดันมีผู้เลี้ยงดูเหล่านี้ไปก่อปัญหา เช่น ขับถ่ายสิ่งปฏิกูลสร้างความสกปรกหน้าบ้านคนอื่นหรือพื้นที่ส่วนรวม ตัวไหนก้าวร้าวดุร้ายหน่อยก็อาจจะไล่กัดเด็กหรือผู้คนได้รับบาดเจ็บไปมากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็ไม่อาจหาความรับผิดชอบจากใครได้ และเมื่อโรคพิษสุนัขบ้าระบาดเช่นนี้ สุนัขเร่ร่อนเหล่านั้นก็เป็นเหมือนอาวุธชีวภาพเดินได้ที่สุ่มโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย

ทั้งนี้ เคยมีความพยายามของท้องถิ่นคือกรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะหารือสร้างความรับผิดชอบให้แก่บรรดา “เจ้าของสัตว์อำพราง” เหล่านี้ ด้วยการออกข้อบัญญัติ กทม. ขึ้นมาฉบับหนึ่ง โดยนิยามให้คำว่า “เจ้าของสุนัข” หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสุนัข หรือผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย เพื่อบังคับให้ผู้ใจบุญแต่ไม่อยากเป็นเจ้าของสุนัขเหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบต่อสัตว์ซึ่งตนอุปการะ โดยมีภาระหน้าที่ต้องพาสุนัขเหล่านั้นไปฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัข มิเช่นนั้นอาจถือว่ามีโทษตามกฎหมาย ข้อบัญญัตินี้ทำให้บุคคลผู้ใจบุญจำพวกนั้นกลุ่มหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่าบทนิยามศัพท์ดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการห้ามไม่ให้ประชาชนเลี้ยงหรือให้อาหารแก่สุนัขจรจัดในที่หรือทางสาธารณะอันเป็นการ “ขัดต่อพื้นฐานความมีเมตตาของมนุษย์” ที่ทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องกระทำผิดต่อกฎหมาย โดยไม่สมควร

ในที่สุด ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 764/2556 วินิจฉัยว่าการให้บทนิยามดังกล่าว เป็นข้อบัญญัติที่สร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควรและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนบทนิยามของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 กำหนดให้เจ้าของสัตว์ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระบบการป้องกันและควบคุมโรคระบาด เช่นแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อมีสัตว์ป่วยหรือสัตว์ตายหรือสงสัยว่าจะตายด้วยโรคระบาดหรือและจัดการต่างๆ กับสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นโรคระบาด นิยามของคำว่า “เจ้าของสัตว์” ในกรณีของสัตว์หากไม่ปรากฏเจ้าของหรือไม่สามารถหาเจ้าของได้ ให้หมายรวมถึงผู้เลี้ยง ผู้ให้ที่อยู่อาศัย และผู้ควบคุมสัตว์ด้วย โดยการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวมีโทษทางอาญาเพียงจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งถ้าว่ากันตามนิยามของกฎหมายนี้ การให้อาหารสัตว์จรจัดเป็นประจำก็อาจถือเป็น “ผู้เลี้ยง” และเข้านิยามของคำว่า “เจ้าของสัตว์” ตามมาตรานี้ด้วย

ก็ไม่รู้ว่าถ้ามีกรณีการบังคับใช้กฎหมายนี้ขึ้นมาอย่างเข้มงวดจริงจัง จะมีใครไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า นิยามตามกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้บรรดาผู้เมตตาสัตว์บนท้องถนนถูกละเมิดสิทธิอีกหรือไม่

แต่หากจะเรียกหาความรับผิดชอบจากผู้ให้การอุปการะสุนัขจรจัดนั้น ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอยู่ดี เพราะสุนัขข้างถนนเหล่านั้นไม่ได้งอกขึ้นจากพื้นดินหรือหลุดร่วงลงมาจากต้นสุนัขผล แต่เกิดจาก “คน” ที่เคยเลี้ยงสุนัขพวกนั้นแล้วเอามาปล่อยทิ้งให้เป็นสุนัขเร่ร่อนด้วยเหตุผลใดสักเหตุผลหนึ่ง

และเมื่อสุนัขเหล่านั้นออกลูกออกหลานออกมา ก็เป็นสุนัขจรจัดต่อเนื่องกันไปอีกหลายชั่วหมา

หากจะใช้กลไกทางกฎหมายมาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนี้พอจะมีอยู่หรือไม่ ในพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 หรือที่รู้จักกันในฐานะของ “กฎหมายคุ้มครองสัตว์” ก็มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ไว้มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งมีโทษปรับผู้ฝ่าฝืนได้ถึงสี่หมื่นบาท

แต่ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะเห็นคนทำผิดซึ่งหน้า เอาสุนัขมาปล่อยให้คนเห็นกันซื่อๆ หรือถูกกล้องวงจรปิดถ่ายไว้แล้วมีคนเอาธุระไปแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เอาเรื่อง ก็แทบไม่สามารถใช้บังคับได้เลย หากไม่มีกระบวนการจดแจ้งและพิสูจน์ตัวเจ้าของสุนัขได้แบบสิ้นสงสัย แม้เราจะมีเทคโนโลยีฝังไมโครชิปมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม

หากรัฐไม่สามารถสร้างกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ปฏิบัติได้จริง รวมถึงหากลไกมาบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ได้ หรือบรรดาคนเมตตาสัตว์ประเภทที่กล่าวไว้ยังไม่เติมสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมลงไปในความรักความเมตตานั้น เราก็คงต้องมานั่งเถียงกันเรื่อง “เซตซีโร่สุนัขจรจัด” กันทุกหน้าร้อน และระมัดระวังเวลาเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ก็อย่าเผลอไปเหยียบหางเจ้าถิ่นที่นอนตากแอร์อยู่หน้าประตูทางเข้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image