สุจิตต์ วงษ์เทศ : จินดามณี สมัยพระนารายณ์ อยู่ที่ไหน? ใครเคยเห็น? มีใครอ่านรู้เรื่องบ้าง?

สมุดข่อย เป็นผลของการประดิษฐ์คิดค้น ที่แสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของสังคมลุ่มน้ำเจ้าพระยา เลยไม่ต้องทำศิลาจารึกเหมือนแต่ก่อน แต่จินดามณีสมัยพระนารายณ์ฯ อยู่ที่ไหน? ใครเคยเห็น? [ภาพฉบับตัวเขียน โองการแช่งน้ำ บนสมุดข่อย มีทั้งอักษรไทยและอักษรคฤนถ์ (ของทมิฬอินเดียใต้)]

“จินดามณี แปลว่า แก้วสารพัดนึก เป็นชื่อตำราเรียนภาษาไทยสมัยพระนารายณ์ เชื่อกันว่าพระโหราธิบดีเป็นผู้แต่ง”

ที่ยกมานี้เป็นคำนิยามใช้อธิบายในห้องเรียนของการศึกษาไทยมานานมาก (และมีในพจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ. 2547 หน้า 232)

แต่มีคำถามว่าจินดามณีสมัยพระนารายณ์ฯ อยู่ที่ไหน? ใครเคยเห็น? มีใครอ่านรู้เรื่องบ้าง? ช่วยเขียนเล่าให้อ่านด้วยอย่างง่ายๆ

ไม่ใช่หนังสือเรียน

Advertisement

จินดามณีที่เป็นต้นฉบับตัวเขียนไม่เคยพบฉบับดั้งเดิมสมัยพระนารายณ์ ส่วนเก่าสุดในหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นฉบับคัดลอกในแผ่นดิน ร.1 พ.ศ. 2325 และบอกไม่ได้ว่าคัดลอกอะไร? จากไหน? เมื่อไร? ทำไม? ฯลฯ

กรมศิลปากรสันนิษฐานว่า “จะมิใช่หนังสือที่ใช้สำหรับหัดอ่านเขียนเบื้องต้น” แต่เป็นสมบัติของคนชั้นนำตระกูลขุนนางยุคนั้น “จินดามณีจะเป็นหนังสือเรียนสำหรับผู้ที่จะถวายตัวเข้ารับราชการ หรือเป็นตำราสำหรับผู้ที่จะฝึกหัดเป็นกวีสมัยนั้น” [หนังสือ วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 2 คำอธิบายจินดามณีของกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2530 หน้า 435-439]

สมุดข่อยส่วนตัว

จินดามณี เป็นสมุดข่อยส่วนตัวของผู้รู้หนังสือหรือนักปราชญ์ ใช้จดวิชาความรู้ต่างๆ ทางฉันทลักษณ์และอักขรวิธีในยุคแรกที่มีใช้อักษรไทย (ซึ่งดัดแปลงให้ง่ายจากอักษรเขมร) ขณะนั้นยังไม่เป็นระบบแน่นอน

สมุดข่อยส่วนตัวเล่มนี้จึงเป็นของล้ำค่าต้องหวงแหนที่สุดดังจินดามณี มิให้ผู้อื่นล่วงรู้วิชาสิ่งที่จดไว้ สอดคล้องกับกลอนในพระอภัยมณีที่บอกไว้ตอนหนึ่งว่า “ป้องกันมิให้ไพร่ได้วิชา” เป็นต้นแบบของข้อความสมัยต่อมาจนปัจจุบันว่าครูโบราณ “หวงวิชา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image