บทสรุป การเมือง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กับ พิชัย รัตตกุล

แท้จริงแล้ว การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่คือเงาสะท้อนทางความคิดของ 2 คนสำคัญในแวดวงการเมืองไทย

1 คือ ความคิดของ นายพิชัย รัตตกุล

1 คือ ความพยายามรวบยอดปัญหาและความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างน่ากลัวเป็นอย่างยิ่งของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล

คนแรกเป็น “นักการเมือง” คนหลังเป็น “นักวิชาการ”

Advertisement

คนแรกเริ่มต้นจากความต้องการเห็นพรรคการเมืองยกระดับโดยสามัคคีกันในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ “คสช.” ซึ่งก็คือทหาร คนหลังประมวลปัญหาและมีความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่ามีพัฒนาการไปสู่แบ่งแยกความคิดในทางสังคมเป็น 2 แนวทางใหญ่

1 เอาด้วยกับ คสช. 1 ไม่เอาด้วยกับ คสช.

หากมองจาก “จิตเดิมแท้” ของ นายพิชัย รัตตกุล ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ การเสนอแนวคิดออกมาเหมือนกับเป้าหมายจะอยู่ที่พรรคการเมืองโดยองค์รวม

Advertisement

กระนั้น เป้าหมายแท้จริงย่อมเป็น “ประชาธิปัตย์”

นั่นก็คือ ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เล่นบท “นำ” ในทางสังคมเหมือนที่เคยต่อต้านรัฐบาลทหาร ไม่ว่าจะของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ส. ธนะรัชต์ จอมพล ถ. กิตติขจร ในอดีต

เพราะเห็นภาวะย่อหย่อนอันเกิดขึ้นกับ “ประชาธิปัตย์”

เป็นภาวะย่อหย่อนนับแต่เข้าไปมีส่วนร่วมในทางความคิดกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และทอดทุ่มพละกำลังลงไปเป็นอย่างมากกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นายพิชัย รัตตกุล รู้ดีว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ทำให้แจ่มชัด และยังปล่อยให้บทในการต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้าน คสช.เป็นของพรรคเพื่อไทยแต่เพียงพรรคเดียว สถานะ “นำ” ในทางความคิด ในทางการเมืองก็อาจจะสูญเสียไป

ขณะเดียวกัน บทบาทของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล คือ การทำนามธรรมทางความคิดของ นายพิชัย รัตตกุล ให้มีลักษณะในทางรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

การเสนอตัวเข้ามาของพรรคอนาคตใหม่สอดรับกับแนวคิดของ นายพิชัย รัตตกุล และการสังเคราะห์อย่างมีลักษณะสร้างสรรค์ของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล

เพราะไม่เพียงแต่จะปฏิเสธนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

หากแต่ยังพร้อมที่จะปฏิเสธ “ประดิษฐกรรม” อันมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ภายใต้ข้อเสนอที่จะต้องมี “การรื้อสร้าง” ขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับจิตวิญญาณประชาธิปไตย

ไม่ว่าจะเป็น “ประกาศ คำสั่ง” ไม่ว่าจะเป็น “รัฐธรรมนูญ”

ในทางความคิดอาจถือได้ว่า พรรคอนาคตใหม่ยืนอยู่บนเส้นทางเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย แต่ภายใต้เจตจำนงที่แน่วแน่และมั่นคงมากกว่า นั่นก็คือ เท่ากับเป็น “การต่อยอด” ในทาง “ความคิด”

1 เป็นการต่อยอดกระบวนการจัดทำแนวทางและนโยบาย อันถือว่าเป็น “นวัตกรรม” สำคัญของพรรคไทยรักไทยจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544

1 เป็นการสานสืบทอดสิ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถทำได้จากการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554

บทนิยาม “ทศวรรษที่สูญหายไป” จึงเป็นการนิยามโดยมีรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นจุดตั้งต้นและต้องการนำเสนอ “บทจบ” 

อุบัติการณ์แห่งพรรคอนาคตใหม่จึงสะท้อนการนำเอาบทเรียนและความจัดเจนจากการเมืองไทยในอดีตมาเป็นเครื่องนำทาง

เป็นการผสาน “การเมือง” กับ “วิชาการ”

เป็นการผสาน “นามธรรม” อันเป็นรูปการจิตสำนึกในทางความคิด เพื่อนำไปสู่การแปรเป็น “รูปธรรม” ผ่านกระบวนการปฏิบัติ

นี่คือการต่อยอดและเนรมิต “สิ่งใหม่” ในทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image