โบกมือลาประธานาธิบดีถิ่น จอ… เกมการเมืองล้มประชาธิปไตย โดย ลลิตา หาญวงษ์

ถิ่น จอ - ออง ซาน ซูจี

ประธานาธิบดี ถิ่น จอ ประธานาธิบดีคนแรกจากพรรค NLD เพิ่งจะประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ภายหลังมีข่าวลือออกมาหลายเดือนว่าถิ่น จอยื่นคำขาดกับ ด่อ ออง ซาน ซูจี ว่าจะขอ “พักผ่อน” สายจากพม่ารายงานมาว่าถิ่น จอป่วยหนักมาตลอดหลายเดือน บางสายบอกถึงขั้นเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเคยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในประเทศไทยมาแล้วเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และที่สิงคโปร์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

อู วิน มยิ้น (U Win Myint) ประธานสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎร กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ระหว่างที่พม่ากำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในปี 2020 (พ.ศ.2563)

อู วิน มยิ้น อดีตนายทหารจากพรรค NLD ผู้นี้ เป็นที่เคารพทั้งจากฝั่งกองทัพและนักการเมืองฝั่ง NLD และที่สำคัญคือเป็นหนึ่งใน “ลูจี” (ผู้อาวุโส) ที่ ด่อ ออง ซาน ซูจี ไว้ใจเป็นที่สุด อีกทั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เข้มงวดและเถรตรงกว่าใคร จนทุกคนยำเกรง

อย่างไรก็ดี ตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่เป็นที่น่าจับตาน้อยกว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎรแทน อู วิน มยิ้น การเข้ามาของ อู ที คุน มยัต (T Khun Myat) เชื้อสายกะฉิ่น สร้างความประหลาดใจให้กับสาธารณชนในพม่า เพราะแม้ อู ที คุน มยัต จะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค NLD แต่เป็นที่รู้กันว่าเขามีสายสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับคนใน NLD มีการพูดกันหนาหูว่าเขาเป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดและเคยเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธ (militia)

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ทำให้เขามีความสนิทสนมกับอดีตนายทหารระดับสูงอย่าง ตูระ ฉ่วย มาน (Thura Shwe Mann) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประธานาธิบดี เต็ง เส่ง และเคยเป็นหัวหน้าพรรค USDP หรือพรรคนอมินีของกองทัพพม่า แต่ภายหลัง ตูระ ฉ่วย มาน ถูกปลดจากหัวหน้าพรรค USDP สื่อทุกสำนักหันมาให้ความสนใจความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสมาชิกระดับสูงในพรรครัฐบาลคือพรรค NLD และยังกล่าวถึงว่า ตูระ ฉ่วย มาน ผู้นี้สนิทสนมและเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของ ด่อ ออง ซาน ซูจี เป็นพิเศษ

เรียกได้ว่า ด่อ ซู เลือกที่จะเชื่อ ตูระ ฉ่วย มาน มากกว่าผู้บริหารในพรรค NLD หลายคนเสียอีก

สื่อในพม่ายังกล่าวด้วยว่า ที คุน มยัต ที่เป็น “เด็กปั้น” ของ ตูระ ฉ่วย มาน ทำให้ชาวบ้านอย่างเราๆ อดคิดไม่ได้ว่าพรรค NLD ที่ผู้คนจำนวนมากในพม่ายังฝากความหวังไว้และยังมองว่าเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยในพม่าที่ได้มาแสนยากเย็น กลายเป็นพรรคที่เอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง (ไม่ว่าจะเป็นพวกเก่าหรือพวกใหม่ก็ตาม) ละทิ้งปรัชญาการทำให้ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนไปเสียแล้วหรืออย่างไร
จำเป็นต้องกล่าวด้วยว่านอกจากคำร่ำลือที่ว่า ที คุน มยัต เป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดแล้ว เขายังเคยเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในกรณีการสร้างเขื่อนมยิตโซน (Myitsone) เขื่อนไฟฟ้ากำลังน้ำ ในเขตรัฐกะฉิ่น ที่เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลพม่ากับบริษัทของจีน คาดกันว่าหากเขื่อนนี้สร้างเสร็จ พลังงานไฟฟ้าเกือบทั้งหมดก็จะถูกส่งออกไปยังจีน

Advertisement

รัฐบาลพม่าของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง สั่งให้ระงับโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2011 (พ.ศ.2554) ด้วยปัญหาการสร้างเขื่อนที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงกับสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ แต่เวลาผ่านไป 7 ปี ยังไม่มีผลของการตรวจสอบใดๆ ออกมาจากคณะกรรมการนี้

อิทธิพลของ ที คุน มยัต ผ่านบารมีของ ตูระ ฉ่วย มาน ยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อ ที คุน มยัต ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานสภาล่างในวินาทีสุดท้าย และเป็นการเสนอชื่อโดยสมาชิกพรรค NLD และสมาชิกพรรคที่เหลือก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเลือกตัวแทนที่ผู้อาวุโสของพรรค “คัด” มาแล้ว

ความกระเหี้ยนกระหือรือของแกนนำพรรค NLD ที่เลือก ที คุน มยัต ขึ้นมาเป็นประธานสภาล่างตีความได้เป็น 2 แนวทาง แนวทางแรกคือมีความพยายามกัน อู วิน มยิ้น ออกไปจากสภาล่าง เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่า อู วิน มยิ้น มีอิทธิพลสูงในสภาล่าง อีกทั้งเป็นที่เคารพรัก และเป็นขุนนางตงฉินที่ตรงไปตรงมา

และแนวทางที่สองคือพรรค NLD ต้องการผลักดันคนสนิทของ ตูระ ฉ่วย มาน เข้าไปทำหน้าที่เป็นประธานสภาล่าง เพื่อที่ ตูระ ฉ่วย มาน และคนของ NLD สายที่สนิทสนมกับอดีตนายพลผู้นี้จะได้เข้าไปมีอิทธิพลเพิ่มขึ้น

การลาออกของ ถิ่น จอ การเข้ามาของ อู วิน มยิ้น และ ที คุน มยัต ชี้ให้เราเห็นสถานการณ์และทิศทางทางการเมืองพม่าในปัจจุบันอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก การเลือก ที คุน มยัต ขึ้นมาเป็นประธานสภาล่างชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่ดีมากระหว่างแกนนำพรรค NLD ภายใต้การนำของ ด่อ ออง ซาน ซูจี กับ ตูระ ฉ่วย มาน นักวิเคราะห์การเมืองคนสำคัญของพม่า ยัน เมี้ยว เตง (Yan Myo Thein) กล่าวกับผู้เขียนว่า ตูระ ฉ่วย มาน เป็นบุคคลที่น่าจับตามองมากที่สุดในการเมืองพม่าปัจจุบัน เพราะเขามีคอนเน็กชั่นที่ดีกับทั้งคนใน NLD และนายทหารบางส่วนในกองทัพ อย่างไรก็ดี ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าความสัมพันธ์ระหว่าง ตูระ ฉ่วย มาน กับผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายพล มิน อ่อง หล่าย ในปัจจุบันเป็นอย่างไร ยัน เมี้ยว เตง กล่าวว่านักวิเคราะห์การเมืองในพม่าอ่านสถานการณ์ทางการเมืองผ่านรูปภาพและคลิปวิดีโอที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียเป็นหลัก และจากการวิเคราะห์ของเขา เขามองว่า ตูระ ฉ่วย มาน ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในกองทัพ จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกองทัพกับ NLD หรือกับ ด่อ ออง ซาน ซูจี หาก ยัน เมี้ยว เตง ประเมินสถานการณ์นี้ถูก ก็นับว่าการเมืองพม่าภายใต้รัฐบาลพลเรือนของ NLD อยู่ในสถานะที่ล่อแหลมเป็นอย่างยิ่ง

ประการที่สอง การบริหารจัดการภายในพรรค NLD เป็นแบบรวมศูนย์ การออกคำสั่งทุกอย่างทำผ่าน ด่อ ออง ซาน ซูจี ทำให้ความเห็นของพรรคไม่มีความหลากหลาย การเมืองในพม่าท่ามกลางกระแสการทำให้เป็นประชาธิปไตยกลับไปเป็นการเมืองที่พึ่งพามหาบุรุษ หรือลัทธิบูชาบุคคล (personality cult) มากกว่าที่จะเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ ทำให้ในอนาคต NLD จะต้องเผชิญโจทย์ที่หนักอึ้งว่าใครจะเข้ามาทำหน้าที่แทน ออง ซาน ซูจี เมื่อเธอตัดสินใจถอนตัวจากงานทางการเมือง

ประการที่สาม คือการเข้ามามีบทบาทของนักธุรกิจบางกลุ่ม ที่เข้ามาสานสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง NLD และกองทัพ ที คุน มยัต เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าอดีตนักธุรกิจมืดและผู้นำกองกำลังติดอาวุธสามารถได้ดิบได้ดีในวงการเมืองในพม่า และเป็นตัวเชื่อมที่ดีระหว่างโครนี่ (crony หรือนักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในรัฐบาลและกองทัพ และหาประโยชน์จากความสัมพันธ์นี้)
กับรัฐบาล NLD

นักธุรกิจที่เติบโตในพม่าล้วนมีสายสัมพันธ์กับทหารหรือ NLD หรือกับทั้งสองกลุ่มทั้งสิ้น

ระบบการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องนี้กัดกร่อนเศรษฐกิจและการสร้างประชาธิปไตยในพม่าที่ดูจะมีอนาคตดี และยังทำให้การเมืองพม่าไม่มีความน่าเชื่อถือ เต็มไปด้วยเรื่อง “ลับ ลวง พราง” และการสมคบคิดทางการเมือง คนที่ควรจะเป็นผู้ “ห้ามมวย” อย่าง ด่อ ออง ซาน ซูจี เอง แม้จะมีอิทธิพลสูงสุดในพรรค แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรกับระบบเหล่านี้ได้

ชวนให้คิดว่าแท้ที่จริงแล้ว เธอคือผู้ที่มีบทบาทสูงสุดในการกำหนดทิศทางของประเทศจริงหรือไม่…

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image