สื่อดั้งเดิม โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

แฟ้มภาพ

หลังจากอ่านข่าวเรื่องวิกฤตเฟซบุ๊กจากเหตุการณ์ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการรั่วไปถึงมือบริษัทที่ปรึกษาแล้วนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2016 คาดการณ์เอาเองว่าเราๆ ท่านๆ คงจะไม่ลบบัญชีเฟซบุ๊กออกอย่างที่มีกระแสดีลีตเฟซบุ๊กได้ง่ายๆ

ดูจากคอมเมนต์ของแฟนเพจข่าวสดในข่าวนี้แล้ว หลายๆ คนบอกว่าถ้าขาดเฟซบุ๊กไปคงจะแย่ เพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว

อีกอย่างคือบ้านเราอาจรู้สึกว่าวิกฤตนี้อยู่ไกลตัว ข้อมูลผู้ใช้ 50 ล้านราย ที่รั่วๆ นั้นอยู่ในอเมริกา ส่วนไทยแลนด์จะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้ ใครจะมาล้วงข้อมูลไปใช้คงจะล้าสมัยไปแล้ว

ยิ่งเมื่อมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก ประกาศแล้วว่าจะไม่ให้ความผิดพลาดแบบนี้เกิดขึ้นอีก แสดงว่าระบบการป้องกันการล้วงข้อมูลน่าจะทำได้ยากขึ้น

Advertisement

การแก้ปัญหาและวิกฤตครั้งนี้ของคุณมาร์กน่าจะเป็นบททดสอบความเป็นนักบริหารและผู้นำวงการสื่อสารครั้งสำคัญ และอาจสำคัญกว่าเมื่อครั้งนำพาเฟซบุ๊กผงาดในโลกการสื่อสารยุคใหม่ตั้งแต่ปี 2547

เพราะการพิสูจน์ตัวเองในโลกธุรกิจและการเมือง มีหลายครั้งที่เห็นได้ว่าการผลักดันกิจการใหม่ให้รุ่งนั้นง่ายกว่าการประคองกิจการดั้งเดิมไม่ให้ร่วง

เรื่องที่น่าสนใจมุมหนึ่งของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และเฟซบุ๊กในการใช้สื่อช่วยแก้ปัญหาครั้งนี้คือการลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์แบบเต็มหน้าในฉบับใหญ่ๆ ของอังกฤษ เพื่อขอโทษ อธิบายปัญหา และความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขด้วยถ้อยคำของตนเองที่ต้องการบอกกับผู้คน ทั้งที่เป็นสมาชิกเฟซบุ๊กและไม่ใช่

Advertisement

เพราะข้อความที่ตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์คือสิ่งที่เอาไปตัดต่อเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อหมึกประทับลงกระดาษแล้ว ข้อมูลต่างๆ จะเป็นไปตามนั้น

หนังสือพิมพ์ที่ลงโฆษณานี้มีทั้ง นิวยอร์กไทม์ส วอชิงตันโพสต์ วอลล์สตรีทเจอร์นัล

สามยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ส่วนในอังกฤษมีทั้งฉบับข่าวฮาร์ดนิวส์ อย่าง ออบเซิร์ฟเวอร์ที่เอียงซ้าย ซันเดย์ไทม์ส เอียงขวา และฉบับข่าวสีสัน อย่าง เมล์ มิร์เรอร์ และเอ็กซ์เพรส

ข้อความสำคัญที่ลงนั้นเหมือนกับที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของตนเองและที่ให้สัมภาษณ์สื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะประโยคว่า “นี่เป็นเรื่องเสียความไว้เนื้อเชื่อใจ ผมขอโทษที่เราไม่ได้ป้องกันให้มากพอในช่วงเวลานั้น ตอนนี้เราจะทำทุกขั้นตอนเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก”

รวมถึงวาทะสำคัญ “เรามีหน้าที่ความรับผิดชอบในการปกป้องข้อมูลของพวกท่าน ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ไม่สมควรได้รับมัน”

การสื่อสารผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์แสดงให้เห็นว่า ผู้นำโลกโซเชียลเองก็ยังต้องพึ่งพาสื่อที่น่าเชื่อถืออย่างหนังสือพิมพ์ เป็นสื่อที่ตรึงสารไว้ได้ยาวนาน ผ่านการกลั่นกรองและตรวจสอบ อีกทั้งให้เวลาผู้รับสารคิดใคร่ครวญ

แม้ว่าหนังสือพิมพ์จะถูกความเปลี่ยนแปลงด้านสื่อขนานใหญ่ในช่วงสิบปีมานี้ และต้องผันการนำเสนอข่าวสารสู่โลกออนไลน์คล้ายๆ กันเกือบทุกประเทศ รวมถึงไทย

แต่ก็ยังมีจุดแข็งที่ยังใช้ประคองไว้ได้ในปัจจุบัน

………………

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image