ร่างเอง มึนเอง กม.เลือก ส.ส.-สว. กับกำหนดเลือกตั้ง

จะด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่งก็ดี

หรือจะเป็นเพราะความผิดพลาดบกพร่อง ความอ่อนด้อยในการร่างกฎหมายก็ดี

หลังจากที่ 30 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าชื่อเมื่อกลางเดือนมีนาคมกันส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

Advertisement

สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก็ถึงลำดับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ว่าจะเข้าข่ายเดียวกันหรือไม่

จะต้องส่งตีความหรือไม่

และท้ายที่สุดก็คือ

กระบวนการทั้งหมดนี้จะทำให้การเลือกตั้งยืดเยื้อออกไปจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562

อีกหรือไม่

27มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า

วันนี้รัฐบาลได้รับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาแล้ว และยังมีเวลาในการพิจารณา ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย จนถึงวันที่ 12 เมษายนนี้

วันนี้ก็ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนปกติ ว่าควรจะต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม กำหนดการเลือกตั้งก็ยังคงอยู่ภายใต้โรดแมปที่วางไว้

หากมีการยื่นตีความก็จะไม่น่าจะช้าเกินไป ก็จะขอความกรุณาให้ศาลรับเรื่องกฎหมายลูกไปเป็นประเด็นสำคัญ ขอให้ช่วยรัฐบาลดูแลให้อยู่ในกรอบของโรดแมป

ผู้สื่อข่าวถามว่า เคยข้องใจว่าการเขียนกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือไม่

ว่าล้วนแต่เป็นมืออรหันต์ แต่วันนี้กลับทำให้เกิดข้อสงสัยได้ในหลายประเด็น

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้อย่าไปตั้งเป็นประเด็น ถือเป็นกลไกของกฎหมายและการออกกฎหมาย

ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องดีที่มีความขัดแย้ง ไม่ใช่คล้อยตามกันไปหมดทุกเรื่อง

“เดี๋ยวก็จะหาว่าผมไปถ่วงเวลา เป็นทฤษฎีสมคบคิด มันไม่ใช่

ผมไม่ได้ต้องการที่จะไปลากยาวอะไรทั้งสิ้น”

ก่อนหน้านี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า

ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ไม่ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แม้จะมีประเด็นที่ขัดเจตนารมณ์ของผู้ร่าง

แต่ สนช.ยืนยันว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมากฎหมายหลายฉบับ ก็มีการกำหนดข้อยกเว้นไว้ ให้สามารถปฏิบัติได้

ดังนั้น การเขียนกฎหมายให้ผู้พิการ มีผู้ช่วยเหลือในการกาบัตร ก็สามารถเขียนรับรองให้ถือเป็นการลงคะแนนโดยลับได้

เพราะไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ

ที่สำคัญการท้วงติงของ กรธ.ครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ในกระบวนการยกร่างกฎหมาย และที่ผ่านมา กรธ. ไม่เคยยืนยันหนักแน่นต่อประเด็น

ดังกล่าวตั้งแต่ชั้นกรรมาธิการว่า ขัดรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การยกร่างกฎหมายครั้งนี้ จึงถือเป็นอำนาจของ สนช. โดยแท้จริง

หาก สนช. ยื่นตีความช่วงนี้ อาจจะทำให้โรดแมปตามกฎหมายต้องเลื่อนออกไป

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงผลการประชุมว่า

ประธาน สนช.ได้ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้นายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่า ไม่มีข้อห่วงกังวลให้ต้องยื่นศาลตีความ

หาก สนช.จะเข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ตามมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในประเด็น การตัดสิทธิข้าราชการการเมือง หากไม่ไปเลือกตั้ง

และการให้เจ้าหน้าที่ลงคะแนนแทนผู้พิการ ตามที่มีข้อห่วงกังวล

น่าจะเกิดขึ้นในวันที่มีการประชุม สนช. 29-30 มีนาคมนี้

“การยื่นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยังเกี่ยวข้องกับโรดแมป

สุ่มเสี่ยงที่จะถูกโจมตีว่าเลื่อนการเลือกตั้ง”

ตามนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image