จามจุรีพระราชทาน กุ้งก้ามกรามพระราชดำริ : โดย บัณฑิต จุลาสัย, รัชดา โชติพานิช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทรงปลูกต้นจามจุรี ที่พระองค์ทรงนำมาจากวังไกลกังวล : ที่มา หอประวัติจุฬาฯ

หนึ่งในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ คือการนำต้นจามจุรี เข้ามาปลูกในกรุงเทพฯ สร้างความเขียวขจีและความร่มรื่นร่มเย็นให้กับบ้านเมืองมาช้านาน

จามจุรี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Samanea saman (Jacq.) Merr. อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Rain Tree, East Indian Walnut, Monkey Pod เป็นต้น มีชื่อสามัญภาษาไทยว่า ก้ามกราม ก้ามกุ้ง ก้ามปู ฉำฉา ลัง สารสา สำสา ตุ๊ดตู่ เป็นต้น จามจุรีเป็นไม้ยืนต้นสูง 10-20 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างคล้ายร่ม ลำต้นและกิ่งก้านมีเปลือกสีดำ แตกล่อนง่าย ใบประกอบรูปขนนกสองชั้นออกสลับ ก้านแขนง มีใบย่อย 2-10 คู่ แผ่นใบย่อยรูปไข่หรือรูปขนมเปียกปูนเบี้ยว กว้าง 0.7-4.0 ซม. ยาว 1.5-6.0 ซม. ปลายมน โคนเบี้ยว ดอกเล็กสีชมพูออกรวมกันเป็นกระจุกบนก้านช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ผลเป็นรูปฝักขอบขนานหรือโค้งเล็กน้อย ออกดอกเดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ ต้นจามจุรีมีประโยชน์หลายประการ ต้นใช้เลี้ยงครั่ง ไม้ทำเครื่องเรือน

อย่างไรก็ตาม จามจุรีไม่ใช่พืชพื้นถิ่นของไทย และมีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศ หากต่อมาได้แพร่พันธุ์มาถึงประเทศไทย ดังที่พระยาวินิจวนันดร เขียนไว้ใน ตำนานไม้ต่างประเทศบางชะนิดในเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.2483 เกี่ยวกับ ต้นก้ามปู ว่า

…เป็นไม้ของอเมริกาภาคร้อน เป็นต้นไม้ที่ปลูกง่าย ขึ้นเร็ว ให้ร่มดี
ชาวพายัพเรียกว่า สำสา หรือ ฉำเฉา แรกมีปลูกขึ้นตามถนนเจริญประเทศ
ตอนหน้าที่ทำการป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ โดยมิสเตอร์เสลด (H.Slade)
เจ้ากรมป่าไม้คนแรกในเมืองไทย เป็นผู้นำพันธุ์เมล็ดเข้ามาจากประเทศพม่า
เมื่อราว พ.ศ.2443 และทราบว่าในราวๆ ปีเดียวกันนั้น ต้นก้ามปูก็ปลูก
ในจังหวัดกระบี่เป็นครั้งแรก โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ หรือเจ้าเมืองที่นั่น
เป็นผู้นำพันธุ์เข้าไป เรียกกันว่า ต้นกิมบี่

Advertisement

ส่วนที่กรุงเทพฯ มีขึ้นภายหลังเชียงใหม่มาก…

ภาพถ่ายทางอากาศ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

แต่ในการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมพระราชวังดุสิต พบเรื่องราวของต้นจามจุรี หรือต้นก้ามปู ที่เรียกขานว่า ต้นกุ้งก้ามกราม ในหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเจ้าหมื่นเสมอใจราช เมื่อวันที่ 27 และ 29 เมษายน พ.ศ.2445 (ร.ศ.121) ความว่า

...จำนวนต้นไม้ที่มหาดเล็กเวรสิทธิ์รักษาไว้
กุ้งก้ามกราม สูง 1 ศอก 680 ต้น
นมแมวสูงศอกคืบ 4 ต้น
สะท้อนหอสูงศอกคืบ 24 ต้น
ดีหมีสูง 1 ศอก 144 ต้น
หางนกยูงฝรั่งสูงศอกคืบ 188 ต้น…

Advertisement

…ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายต้นกุ้งก้ามกรามปลูกที่ถนนหลานหลวง เปลี่ยนต้นไทรถนนนี้ 310 ต้น

…ถนนบัว เดิมคิดจะปลูกต้นมะม่วง ต้นคัลบูร่า พระพรหมาภิบาลปลูกไว้บ้างแล้ว เมื่อโปรดเกล้าฯพระราชทานเมล็ดกุ้งก้ามกรามมาเพาะ
พระราชทานพระราชกระแสจะพระราชทานปลูกถนนนี้ต้นไม้ 328 ต้น

…ต้นกุ้งก้ามกรามยังจะปลูกถนนปลายลูกหลวงถึงถนนคอเสื้ออีก 100 ต้น ยังเหลือต้นกุ้งก้ามกรามอีก 370 ต้น…

ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสถึงเจ้าหมื่นเสมอใจราช มีความตอนหนึ่งว่า

…จดหมายมาด้วยเรื่องต้นไม้ปลูกถนนนั้นได้ตรวจดูแล้ว ต้นไทรที่ว่าปลูกถนนหลานหลวงมีอยู่ 310 ต้น กับที่ปลูกถนนพะเนียงไว้ยังไม่ตลอดถนนนั้น ข้างไหนจะมีดีมากกว่ากัน ตายมากกว่ากัน ถ้าถนน พะเนียงมีต้นอยู่น้อย…เอาต้นกุ้งก้ามกรามไปปลูกถนนพะเนียงก็ได้ …ถนนบัวนั้น ถ้าได้ลงต้นมะม่วงฤาต้นคัลบูร่าไว้แล้ว ก็ไม่ควรจะเลิกถอนให้ปลูกต่อไป…

ยังมีเอกสารประวัติศาสตร์สำคัญอีกฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับต้นกุ้งก้ามกราม คือพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้บริเวณถนนพญาไท ถนนสายใหม่ที่ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าพระยายมราชตัดจากถนนสี่พระยาทางทิศใต้ จนถึงถนนประแจจีน (ถนนเพชรบุรี) ทางทิศเหนือ มีความดังนี้

สวนดุสิต
วันที่ 19 พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก 128
เจ้าพระยายมราช
เรื่องต้นไม้ ขอเปลี่ยนแปลนใหม่สักที ถนนเพ็ชรบุรีจะแล้วใน 3 เดือน ก็จะลงต้นไม้ได้ ต้นมฮอกานีมีแต่เล็กๆ ใหญ่หาไม่พอ จะถ่วงเวลากันช้าไป ถ้าเอาทันเกราลงถนนซางฮี้ให้ตลอด ถอนมฮอกานีไปเพ็ชรบุรี เพราะต้นยังย่อมพอขุดได้ ไม่พอก็พอหาเติม ถนนซางฮี้ต้นไม้ก็โตแทนขนุนที่ตายได้ทันใจ เพ็ชรบุรีก็ได้ มฮอกานีเขื่องๆ ถนนพญาไทยคงกุ้งก้ำกรามไปตามเดิม ถ้าเช่นนี้ไม่เรียกเงินค่าต้นไม้ ขอแต่ให้ช่วยขุดช่วยปลูก แลช่วยรักษาเท่านั้น
สยามินทร์

พระราชหัตถเลขาฯ ฉบับนี้ จึงเป็นหลักฐานสำคัญ ทำให้ทราบว่า การปลูกต้นกุ้งก้ามกรามหรือต้นจามจุรีที่ถนนพญาไทนั้น เป็นไปตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

และน่าจะเป็นที่มาของต้นจามจุรีอีกมากมาย ที่แพร่ขยายพันธุ์เจริญงอกงาม สองข้างถนนพญาไท ไปจนถึง พื้นที่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต้นจามจุรีและต้นไม้ชนิดอื่นๆ บริเวณถนนพญาไทและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ที่มา ฝ่ายสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เข้าใจว่า ต้นจามจุรีในจุฬาฯ น่าจะลดจำนวนลงในเวลาต่อมา เนื่องจากต้นที่มีอยู่เดิม อายุเพิ่มมากขึ้น เจ็บป่วยด้วยโรคภัย อีกทั้งสภาพความชุ่มชื้นภายในมหาวิทยาลัยลดลง ประกอบกับกระแสนิยมปลูกต้นไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ชมพูพันธุ์ทิพย์ ประดู่ หรือนนทรี

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ครั้งหนึ่งทรงมีพระราชดำรัสว่า …จามจุรีมีความผูกพันกับคนแถวนี้มาก หากจุฬาฯไม่ปลูก จะเสด็จฯมาปลูกเอง… และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นจามจุรี 5 ต้น ณ บริเวณด้านหน้าหอประชุม ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2505 โดยที่มาของต้นจามจุรีพระราชทานนี้ พระองค์ทรงรับสั่งแก่ชาวจุฬาฯในวันนั้นว่า จามจุรี 5 ต้นนี้ งอกขึ้นที่บริเวณต้นไม้ซึ่งทรงปลูก ณ วังไกลกังวล จึงทรงถือว่าทรงปลูกจามจุรีเหล่านั้นด้วย เมื่อจามจุรีโตขึ้นแล้ว เห็นว่าควรเข้ามหาวิทยาลัยเสียที สถานที่เรียนนั้นไม่มีที่ใดเหมาะเท่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงทรงนำมาปลูกไว้ที่จุฬาฯ พร้อมกับคำปรารภว่า

…ฝากต้นไม้ไว้ห้าต้น ให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล…

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระราชดำริให้เพาะเมล็ด และโปรดเกล้าฯให้นำต้นกุ้งก้ามกรามมาปลูกริมถนนพญาไท และแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงนำต้นจามจุรีจากวังไกลกังวลมาพระราชทานให้แก่จุฬาฯ

ต้นกุ้งก้ามกรามหรือต้นจามจุรี พระราชทานจากทั้งสองพระองค์ ที่เจริญงอกงาม แผ่กิ่งก้านสาขา ให้ความเขียวชอุ่มและความร่มเย็น ตราบจนทุกวันนี้ คงมิได้เป็นสิริมงคลเพียงแค่ชาวจุฬาฯเท่านั้น หากหมายรวมถึงชาวกรุงเทพฯและชาวไทยทุกคน

เช่นเดียวกับดอกและใบจามจุรีที่ร่วงหล่นทับถมทั่วผืนดิน ก็มิได้สร้างเสริมความอุดมสมบูรณ์ เพียงแค่เฉพาะพื้นที่จุฬาฯเท่านั้น หากกระจายไปทั่วทุกพื้นที่บนผืนแผ่นดินไทย

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมเมือง
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image