อาศรมมิวสิก : ดนตรีในอาเซียน โดยสุกรี เจริญสุข

การศึกษาดนตรีในประเทศอาเซียนมีความแตกต่างและมีความเหลื่อมล้ำกันมาก เนื่องมาจากการปกครองและการเมืองที่แตกต่างกัน ระบบเศรษฐกิจและฐานะทางสังคมที่แตกต่างกัน ทั้งระบบการศึกษาที่มีความแตกต่างกันด้วย ทำให้การศึกษาดนตรีมีความแตกต่างกันอย่างมาก

เมื่อมองผ่านเสียงดนตรีและคนดนตรีซึ่งเป็นหุ้นส่วนของวัฒนธรรม ได้รู้จักดนตรีชาวอาเซียนผ่านวัฒนธรรมดนตรี ก็จะพบว่าเพื่อนรอบๆ ตัวเราไม่ค่อยมีใครชอบคนไทยนัก ส่วนใหญ่จะสะท้อนออกมาให้รู้ว่า คนไทยเป็นผู้ที่ชอบเอาเปรียบคนอื่น “ฉ้อฉลและคดโกง” คนไทยชอบรุกรานคนอื่น แม้หลายกรณีเป็นเรื่องเก่าโบราณกาลแล้ว แต่ประวัติศาสตร์บาดหมางที่ต่างฝ่ายต่างจำ กลายเป็นความไม่เข้าใจกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของไทย-ลาว ไทย-พม่า ไทย-เขมร ไทย-มลายู หรือไทยกับเวียดนามก็ตาม

การประชุมคณบดีอาเซียน (SEADOM) ซึ่งเป็นสมาคมคณบดีดนตรีอาเซียน ระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2561 ที่อาคารมิวสิกมิวเซียม (Music Museum) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีคณบดีสถาบันดนตรีเข้าร่วมประชุม 151 คน จาก 48 สถาบัน จาก 15 ประเทศ ซึ่งมีคณบดีดนตรีจากประเทศอื่นที่อยู่นอกเหนืออาเซียนให้ความสนใจการศึกษาดนตรีของประเทศอาเซียนด้วย อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ อเมริกา เป็นต้น เพราะประเทศเหล่านี้ให้ความช่วยเหลืออาเซียนอยู่

การประชุมคณบดีอาเซียนดำเนินกิจกรรมมาแล้ว 10 ปี โดยที่มีประเทศไทยเป็นผู้เริ่มต้นและเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมานั้นพบว่า ขึ้นชื่อว่าเป็น “องค์กรอาเซียน” ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและการศึกษา (ยกเว้นงานผู้นำ เศรษฐกิจ และการเมือง) อาเซียนมักจะมีอยู่แต่ชื่อ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่สามารถจะจัดกิจกรรมใดได้ เพราะเงื่อนไขก็คือ ใครที่เป็นเจ้าภาพก็จะต้องเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดงาน

Advertisement

สรุปลงท้ายก็คือ ต้องยกเลิกการจัดงาน เพราะไม่มีเงินสนับสนุนจากประเทศเจ้าภาพ

เมื่อเริ่มที่ประชุมคณบดีดนตรีอาเซียน (พ.ศ.2551) ฝ่ายไทยจึงทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก ไม่ว่าการประชุมจะจัดขึ้นที่ประเทศใด (ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว พม่า) ไทยก็ยังคงให้การสนับสนุนงบประมาณที่จำเป็นให้ กิจกรรมจึงดำเนินมาได้ถึง 10 ปี

ต่อมาสิงคโปร์ได้เห็นเป็นความสำคัญ ก็ได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนการเงินด้วย การจัดการก็เกิดเป็นองค์กร เป็นรูปเป็นร่างของสมาคม โดยที่มีการเก็บค่าสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ การสนับสนุนหลักก็ยังอยู่ที่ประเทศไทย

Advertisement

ความเดิมนั้น คณบดีแต่ละคนก็ไม่ค่อยมีใครอยากพูดกับใครนัก เนื่องมาจากประวัติศาสตร์บาดหมางกัน เมื่อได้มีโอกาสเจอกันบ่อยขึ้น หลายปีเข้า บรรยากาศก็เริ่มคลี่คลาย เพราะดนตรีไม่มีพรมแดน ไม่มีชนชั้น ดนตรีไร้กาลเวลา ดนตรีใช้ภาษาเดียวกัน ดนตรีเป็นสัจนิยม อยู่กับความจริง ความดี ความถูกต้อง ความงาม ความไพเราะ เมื่อนักดนตรีเล่นดนตรีด้วยกัน ทุกคนก็เป็นมิตรกันหมด
ในที่สุดการเจรจาก็เริ่มขึ้น ทุกคนก็คุยกัน แม้ช่วงแรกๆ คณบดีดนตรีในอาเซียนจะมีปัญหาเรื่องภาษาในการสื่อสาร เมื่อสื่อกันด้วยเสียงดนตรีซึ่งเป็นภาษาของหัวใจได้แล้ว ภาษาพูดก็ทำได้ง่ายขึ้น

มาถึงวันนี้ คณบดีดนตรีอาเซียนกลายเป็นเพื่อนกันหมด ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งปัญหา แนวทางการแก้ปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ แลกการศึกษา แลกเปลี่ยนอาจารย์ ส่งนักศึกษาแลกเปลี่ยนให้แก่กัน เป็นต้น

อาจจะพูดได้เต็มปากว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กลายเป็นต้นแบบในหลายมิติ อาทิ การบริหารจัดการองค์กร ความมีระเบียบ ความสะอาด คุณภาพการศึกษาดนตรี ฝีมือของนักศึกษา การบริหารวงดนตรีอาชีพ หลักสูตร การคัดเลือกอาจารย์ การคัดเลือกนักศึกษา คุณภาพของอาคารสถานที่ ห้องเรียน และมาตรฐานการศึกษา เป็นต้น

ความจริงสิ่งที่พบคล้ายๆ กันกับคนไทยก็คือ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งมาเข้าร่วมประชุมเพราะว่าเป็นหน้าที่ เมื่อได้เซ็นชื่อแล้ว ก็หนีไปทำธุระอย่างอื่นหรือไปเที่ยว

พบสิ่งใหม่อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ผู้เข้าร่วมประชุมที่มีตำแหน่งหน้าที่ แท้จริงแล้วไม่มีความรู้ดนตรี ไม่เล่นดนตรี ไม่ชอบดนตรี และไม่ฟังดนตรี ที่รู้จักดนตรีก็เพราะมีตำแหน่ง หรือผ่านการอ่านดนตรีจากกระดาษ ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะหันไปสนใจกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ ทำให้เห็นเป็นข้อจำกัดในการทำงาน คล้ายกับระบบการศึกษาของไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ออกกฎเกณฑ์ขีดเส้นเรื่องความเจริญของการศึกษา เรื่องมาตรฐานของหลักสูตร มาตรฐานของอาจารย์ มาตรฐานของงานวิชาการ แม้ว่าความจริงก็คือ มาตรฐานอยู่ใต้รองเท้า

มาตรฐานคือความไม่มีมาตรฐาน และการไม่มีความสามารถ

สําหรับการประชุมในวันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม มีการแสดงของนักศึกษาที่ส่งมาจากสถาบันดนตรีต่างๆ 15 คน ต้องมาอยู่ล่วงหน้า 6 วัน เพื่อฝึกซ้อมที่จะเล่นดนตรีร่วมกัน คิดร่วมกัน เพราะเด็กแต่ละคนที่มาร่วมก็มีเครื่องดนตรีที่แตกต่างกัน มีความสามารถที่ต่างกัน ต้องช่วยกันทำเพลงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถเล่นด้วยกันได้ (30 นาที) โดยได้แสดงที่ส่วนหน้าของอาคารมหิดลสิทธาคาร ก่อนการแสดงของวงทีพีโอ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เพราะเป้าหมายคือการรู้จักกัน การเป็นเพื่อนกัน และเป็นประโยชน์ในอนาคต นักศึกษาแต่ละคนก็มีเพื่อนซึ่งเป็นนักดนตรีที่เก่งอยู่ในแต่ละประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่ออนาคต เพราะเมื่อได้แสดงร่วมกันแล้ว ทุกคนก็เป็นเพื่อนกัน

ครั้นถึงเวลา 4 โมงเย็น ซึ่งเป็นรายการแสดงปกติของวงทีพีโอ ผู้จัดได้เตรียมตั๋วให้กับที่ประชุมคณบดี (150 ใบ) แต่ปรากฏว่ามีคนส่วนน้อยจากที่ประชุมที่เข้าไปชม ยกเว้นผู้นำเขมรที่เข้าชมทั้ง 2 วัน (ศุกร์-เสาร์) ผู้เข้าประชุมที่เหลือก็หายไปทำธุระส่วนตัวกันหมด ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ได้ลงชื่อเพื่อเข้าฟังวงทีพีโอพร้อมกัน

ข้อสรุปส่วนหนึ่ง หากจะตั้งคำถามว่า ทำไมการศึกษาดนตรีในภูมิภาคอาเซียนจึงไม่เจริญ ส่วนหนึ่งก็ตอบได้เลยว่า เพราะมีผู้นำที่ไม่เอาใจใส่และไม่ได้ตั้งใจทำ โดยเฉพาะงานในหน้าที่ มุมที่เห็นว่าดีก็คือ ชาวอาเซียนชอบมาเที่ยวที่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คงจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าการศึกษาดนตรีอาเซียนจะก้าวสู่ความเท่าเทียมกัน

สำหรับสิ่งที่ผู้นำรอบบ้านต้องการในตอนนี้ก็คือ การขอทุนการศึกษาที่จะส่งนักเรียนดนตรีให้มาเรียนที่สถาบันดนตรีในประเทศไทย หากสถาบันใดช่วยได้ ก็จะเป็นการสร้างมิตรไว้ในระยะยาว

สถาบันดนตรีที่แข็งแรงและก้าวหน้านั้น อาทิ สถาบันดนตรีในสิงคโปร์ สถาบันที่เมืองยอกยาการ์ตา อินโดนีเซีย สถาบันดนตรีที่ฮานอย เวียดนาม

ส่วนฟิลิปปินส์ที่เคยรุ่งเรือง เมื่อหลุดออกจากการเป็นอาณานิคมยุโรปและอเมริกาแล้ว สถาบันดนตรีในประเทศฟิลิปปินส์ก็ซบเซาลง ขณะที่ประเทศมาเลเซียนั้นก็ยังไม่มีสถาบันดนตรีที่เข้มแข็งแต่ประการใด เพราะผู้บริหารส่วนใหญ่เรียนจบปริญญาดนตรีเพื่อใช้ในการค้นคว้ามากกว่าการแสดงดนตรี

ส่วนการศึกษาในลาว เขมร และพม่า ก็คงต้องใช้เวลาอีกเป็น 10 ปี

สถาบันการศึกษาดนตรีของไทยในระดับอุดมศึกษานั้นมีจำนวนมากที่สุด (50 แห่ง) เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน คุณภาพก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้เข้าเรียน เรียนเพื่อให้มีใบปริญญา เรียนเพราะว่าค่าเล่าเรียนถูก เรียนเพราะว่าสอบได้ หรือจะเรียนเพื่อไปเป็นนักดนตรีอาชีพ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้เรียน

อย่างน้อย เมื่อสถาบันการศึกษาไทยเข้มแข็งขึ้น กิจกรรมดนตรีก็มีคุณภาพมากขึ้นด้วย นักร้องนักดนตรีในตลาดก็มีความสามารถมากขึ้น สามารถทดแทนนักร้องนักดนตรีที่เข้ามาทำมาหากินในไทยได้ นักร้องดังๆ นักดนตรีเก่งๆ ที่เข้ามาแสดงในระยะ 10 ปีหลังมานี้สามารถใช้นักดนตรีในประเทศไทย เครื่องไม้เครื่องมือที่อยู่ในประเทศไทยได้หมด โดยไม่จำเป็นที่จะต้องขนย้ายเข้ามาทั้งหมดอย่างแต่ก่อน

ดนตรีเป็นเครื่องหมายของความเจริญ ปัจจุบันพบว่านักร้องที่มีชื่อเสียง วงดนตรีดังของโลก ได้เข้ามาแสดงในเมืองไทยจำนวนมากขึ้น ที่น่าตกใจมากกว่านั้นก็คือ เมื่อประกาศขายตั๋ว สามารถขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ราคาบัตรก็แพงมิใช่น้อย

สิ่งที่ค้นพบอีกมิติหนึ่งก็คือ ประเทศในอาเซียนเป็นเป้าหมายและเป็นจุดสนใจของนานาชาติมาก นอกจากอาเซียนจะมีประชากร 670 ล้านคนแล้ว อาเซียนยังมีวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่คล้ายๆ กัน การกินอยู่ ตึกรามบ้านช่อง เครื่องมือเครื่องใช้ก็คล้ายกัน ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศก็ใกล้เคียงกัน ประเพณี นิสัยใจคอก็คล้ายกัน ในส่วนดนตรีและเครื่องดนตรีก็ยากที่จะแยกออกจากกัน

ที่สำคัญก็คือ สิ่งเหล่านี้ที่มีในอาเซียนเป็นมรดกที่ยังดิบๆ อยู่จำนวนมหาศาล หากได้รับการปรุงแต่งด้วยความรู้และศักยภาพสมัยใหม่ อาเซียนก็จะเป็นพื้นที่ที่มหาอำนาจทั้งหลายหมายปอง

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image