โรคพิษสุนัขบ้า(Rabies) : นพ.วิชัย เทียนถาวร

นาทีนี้ คงไม่มีโรคระบาดใดรุนแรงแซงหน้าพิษสุนัขบ้าเป็นแน่แท้ เพราะการระบาดส่งผลสะเทือนไปยังหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหน้าที่และบทบาทในการจัดการกับโรคดังกล่าว
โรคพิษสุนัขบ้า (โรคกลัวน้ำ) เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่ยังไม่มีทางเยียวยารักษา ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการแสดง มักจะตายภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน ในปีหนึ่งๆ มีคนตายจากโรคนี้อยู่พอสมควร (ในระยะหลังๆ มีรายงานผู้ป่วยตายจากโรคนี้ประมาณปีละ 80-100 ราย) ผู้ป่วยมักมีประวัติถูกสุนัขบ้ากัดแล้วไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นอกจากนี้ยังพบว่า ในปีหนึ่งๆ มีคนที่ถูกสุนัขบ้าหรือสัตว์อื่นที่สงสัยมีเชื้อสุนัขบ้ากัด หรือข่วนที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในเรื่องวัคซีนจำนวนมหาศาล และนำความหวาดผวาหรือความวิตกกังวลมาสู่ครอบครัวของคนที่ถูกกัดมากมาย โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ตั้งแต่ถูกสัตว์ที่มีพิษสุนัขบ้ากัดใหม่ๆ

สาเหตุ เกิดจากเชื้อพิษสุนัขบ้า (เป็นไวรัสในกลุ่ม rhab-dovirus) ที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือสัตว์แทะ ที่พบบ่อย คือ สุนัขและแมว นอกจากนี้ยังพบในวัว ควาย แพะ แกะ หมู ลา อูฐ ค้างคาว กระรอก หนู สัตว์ป่าต่างๆ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลบนผิวหนัง โดยการถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลีย (สำหรับการเลียจะต้องมีรอยแผลถลอกเล็กๆ น้อยๆ เชื้อจึงจะเข้าได้ แต่ถ้าผิวหนังเป็นปกติดี เชื้อจะผ่านเข้าไปไม่ได้) แล้วเชื้อจะเข้าไปตามเส้นประสาทจนในที่สุดทำลายระบบประสาทและสมอง

ระยะฟักตัว (ระยะที่ถูกกัดจนกระทั่งมีอาการ) โดยเฉลี่ย 1-3 เดือน บางรายอาจนานถึง 3 ปี แต่ถ้าถูกกัดที่หน้า แขนหรือมีหลายแผล ระยะฟักตัวอาจสั้นเพียง 10 วัน

Advertisement

อาการของสุนัขบ้า สุนัขบ้าแรกเริ่มมีอาการผิดปกติ คือ หลบไปซ่อนเงียบๆ ตามมุมมืดไม่กินอาหาร แต่บางตัวจะติดคนคอยเคล้าเคลียผิดไปจากเดิม หลังจากนั้นประมาณ 48 ชม. จะมีอาการกระสับกระส่าย และกัดคนไปทั่ว ต่อมาจะเกิดอัมพาตทั้งตัว หุบปากไม่ได้ ลิ้นห้อย น้ำลายไหลยืด และตายภายใน 2-3 วัน

อาการ แรกเริ่มจะมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ปวดเสียวและคันบริเวณที่ถูกกัดนำมาก่อน 3-4 วัน ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย ลุกลี้ลุกลน นอนไม่หลับ อาจมีอาการชัก คอแข็ง หลังแอ่น พูดจาสับสน เห็นภาพหลอน หูแว่ว หรือตกใจกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ไวต่อสิ่งกระตุ้น (เช่น แสง เสียง การสัมผัส ฯลฯ) น้ำตา น้ำลายไหล เหงื่อออกมาก และมีอาการกลัวลม เพียงแต่เป่าลมเข้าที่หน้าหรือคอ ก็จะมีอาการชักแบบผวา ในผู้ชายบางรายอาจมีอาการปวดเสียวที่อวัยวะสืบพันธุ์และหลั่งน้ำอสุจิออกมาวันละหลายครั้งอย่างไม่ตั้งใจ

นอกจากนั้น 24-48 ชม. จะมีอาการกลัวน้ำ เวลาดื่มน้ำจะปวดเกร็งกล้ามเนื้อคอหอย ทำให้กลืนไม่ได้ ไม่กล้าดื่มน้ำทั้งๆ ที่หิวหรือแม้จะกล่าวถึงน้ำก็กลัว ระยะนี้ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวและพูดคุยได้ดี ต่อจากนั้นก็จะหมดสติ เป็นอัมพาตไปอย่างรวดเร็วและหยุดหายใจ ส่วนใหญ่จะตายหลังจากเริ่มมีอาการประมาณ 4 วัน หรือไม่เกิน 7 วัน บางรายอาจไม่มีไข้ หรืออาจมาหาด้วยอาการแปลกๆ นำมาก่อน 2-3 วัน เช่น รู้สึกคัน เกาจนเป็นผื่นแดง เริ่มจากบริเวณที่ถูกกัดก่อนแล้วลุกลามขยายกว้างออกไปทุกที หรือมีอาการคลื่นไส้ เรอเหมือนโรคลมในท้อง หรือมีน้ำอสุจิหลั่งเองบ่อยๆ ในผู้ชาย หรือมีด้วยอาการกลัดกลุ้ม พูดจารู้เรื่องบ้าง ไม่รู้บ้าง

Advertisement

บางครั้งอยู่ดีๆ ก็วิ่งหนี หรือไล่ทำร้ายคนเหมือนคนเสียสติ

แนวทางการรักษา แก่ผู้สัมผัสสัตว์ที่เป็น หรือสงสัยเป็นโรคพิษสุขบ้า แบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่หนึ่ง 1.1 ถูกต้องตัวสัตว์ หรือป้อนน้ำ ป้อนอาหาร ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก 1.2 ถูกเลียสัมผัสน้ำลายหรือเลือดสัตว์ ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก รักษาด้วยการล้างบริเวณสัมผัส ไม่ต้องฉีดวัคซีน กลุ่มที่สอง 2.1 ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออก 2.2 ถูกข่วนที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออกหรือเลือดออกเพียงซิบๆ 2.3 ถูกเลีย น้ำลายถูกผิวหนังที่มีแผลรอยถลอก รอยขีดข่วน รักษาด้วยการล้างและรักษาแผล ฉีดวัคซีน กลุ่มที่สาม 3.1 ถูกกัด ถูกข่วนเป็นแผลเดียวหรือหลายแผล และมีเลือดออก 3.2 ถูกเลีย หรือน้ำลายถูกเยื่อเมือก ตา ปาก 3.3 มีแผลที่ผิวหนัง และสัมผัสถูกเนื้อสมองสัตว์ และ/หรือ ชำแหละซากสัตว์ รักษาด้วยการล้างและรักษาแผล ฉีดวัคซีนและอิมมูนโกลบูลิน

สิ่งที่ตรวจพบ ที่สำคัญ คือ อาการกลัวลม (ทดสอบโดยใช้กระดาษหรือพัดโบกลมเบาๆ เข้าที่หน้าและคอจะชักแบบผวา) และกลัวน้ำ (ลองตักน้ำให้ดื่มจะไม่ยอมดื่ม)

การรักษา หากมีอาการน่าสงสัย ควรส่ง รพ.ซึ่งถ้าเป็นจริงก็ตายทุกราย 100% ถ้าจำเป็นอาจฉีดยานอนหลับให้สงบเท่านั้นเอง

สถานที่บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัข (ตรวจสุนัขบ้า/สัตว์บ้า)

กรุงเทพมหานคร 1.สถานเสาวภา สภากาชาดไทย 2.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 3.สถาบันวิจัยไวรัส กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นนทบุรี 4.กรมปศุสัตว์ ราชเทวี 5.ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ถนนโยธี

ภาคกลาง 1.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ชลบุรี 2.หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต รพ.สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ 3.หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขตสระบุรี 4.หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขตจันทบุรี

ภาคเหนือ 1.คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ 3.หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขตลำปาง 4.ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคเหนือ ห้างฉัตร ลำปาง 5.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ (รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก)

ภาคใต้ 1.หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขตสุราษฎร์ธานี 2.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา 3.ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคใต้ทุ่งสง นครศรีธรรมราช

ภาคอีสาน 1.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต (รพ.มหาราช นครราชสีมา) 2.คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น 4.ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือท่าพระ ขอนแก่น 5.หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี 6.หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขตอุดรธานี

ข้อแนะนำ 1.ผู้ที่ถูกสุนัข แมว หรือสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า (สัตว์มีอาการชัดเจน หรือตรวจพบเชื้อในสมองสัตว์) หรือสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ควรพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อพิจารณาฉีดยาป้องกันโดยดูจากลักษณะบาดแผล ยาฉีดมีทั้งวัคซีน และอิมอิมมูโนโกล
บูลิน (เซรุ่ม) ต้านพิษสุนัขบ้า สำหรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในปัจจุบันใช้วัคซีนบริสุทธิ์ที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงมีคุณภาพสูง และปลอดภัยกว่าวัคซีนผลิตจากสมองสัตว์ที่เคยใช้ในสมัยก่อน (วัคซีนจากสมองสัตว์ ได้แก่ วัคซีนเซมเปิล หรือ semple vaccine กับวัคซีนสมองลูกหนู หรือ sucking mouse brain vaccine ซึ่งเลิกใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535)

วัคซีนที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง ที่มีใช้ในขณะนี้มี 3 ชนิด ได้แก่ 1.วัคซีนเอชดีซีวี (HDCV ซึ่งย่อมาจาก human diploid cell rabies vaccine) ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปอดคน 2.วัคซีนพีซีอีซี (PCEC ซึ่งย่อมาจาก purified chick embryo cell rabies vaccine) ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลูกไก่ 3.วัคซีนพีวีอาร์วี (PVRV ซึ่งย่อมาจาก purified vero cell rabies vaccine) ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงต่อเนื่องที่ชื่อว่า เซลล์เวโร มีต้นกำเนิดจากไตลิง

ขนาดที่ใช้ HDCV 1 มล., PCEC 1 มล., PVRV 0.5 มล. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน (เดลทอยด์) 5 เข็ม ในวันที่ 0 (วันแรก), วันที่ 3 (ห่างจากเข็มแรก 3 วัน), วันที่ 7, วันที่ 14 และวันที่ 30 หรือตามวิธีของสภากาชาด ใช้วิธีฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง V (intradermal) ขนาด 0.1 มล. ในวันที่ 0, วันที่ 3 และวันที่ 7 ฉีดครั้งละ 2 ตำแหน่ง ส่วนวันที่ 30 และ 90 ฉีดครั้งละ 1 ตำแหน่ง

การเปลี่ยนชนิดของวัคซีน ปกติให้เลือกฉีดชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นก็สามารถใช้ชนิดอื่น (ใน 3 ชนิด) แทนกันได้ไม่จำเป็นต้องฉีดชนิดเดียวกัน ทั้ง 5 เข็ม อาการข้างเคียงมีน้อยมากและไม่รุนแรง อาจพบได้ เช่น อาการแดง คัน หรือปวดตรงที่ฉีด บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อย คลื่นไส้ ซึ่งจะหายได้เอง วัคซีนเหล่านี้ไม่มีข้อห้ามใดๆ ทั้งสิ้น ฉีดได้ทั้งในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยตับแข็ง และผู้ติดเชื้อเอดส์ ควรใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาปฏิชีวนะ (วัคซีนอาจมียาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลีน
นิโอไมซิน ตกค้างจากกระบวนการผลิต) หรือแพ้โปรตีน สัตว์ปีก

สำหรับอิมมูโนโกลบูลิน (เซรุ่ม) ด้านพิษสุนัขบ้า ควรฉีดในคนที่ถูกสัตว์กัด หรือข่วนเป็นแผลและมีเลือดออก หรือถูกเลีย หรือถูกน้ำลายถูกเยื่อเมือกตา ปาก หรือมีแผลที่ผิวหนังและถูกสัมผัสเนื้อสมองของสัตว์ และ/หรือ ชำแหละซากสัตว์ ควรฉีดในวันแรกที่เริ่มฉีดวัคซีน แต่ถ้าไม่สามารถจัดหามาได้ในวันแรกก็อาจให้ในวันอื่นได้ (ถ้าฉีดวัคซีนเข็มแรกมาแล้วไม่เกิน 7 วัน)

ควรเลือกใชอิมมูนโกลบูลินที่ผลิตจากคน (human antiravies immune globulin) ในขนาด 20 หน่วยต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ถ้าไม่มีอาจให้เซรุ่มที่ผลิตจากม้า (equine rabies antiserum) ในขนาด 40 หน่วยต่อน้ำหนักตัว 1 กก. โดยแบ่งฉีดรอบแผลครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งฉีดเข้ากล้าม ควรฉีดให้เพียงครั้งเดียวในวันแรกที่เริ่มฉีดวัคซีน ในการฉีดไม่ควรใช้กระบอกฉีดยาอันเดียวกับวัคซีน หรือฉีดตรงตำแหน่งเดียวกับวัคซีน ขนาดที่ฉีดไม่ควรใช้เกินกว่าที่กำหนดไว้ เพราะอาจไปกดการสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ฉีดได้เซรุ่มที่ผลิตจากคน ใช้ได้ค่อนข้างปลอดภัย ส่วนเซรุ่มที่ผลิตจากม้าอาจจำเป็นต้องทดสอบก่อนว่ามีโอกาสแพ้หรือไม่

2.คนที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว ถ้าถูกสัตว์ที่เป็นหรือสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดอีก ยังอยู่ในช่วงรอกำหนดรับวัคซีนให้ครบชุด (5 เข็ม) ก็ให้ฉีดตามกำหนดเดิมจนครบ 5 เข็ม ไม่ต้องฉีดเพิ่ม แต่ถ้าถูกกัดภายใน 6 เดือน หลังฉีดเข็มที่ 5 ควรฉีดเพิ่มเร็วที่สุดหลังถูกกัดอีก 1 เข็ม ถ้าถูกกัดเกิน 6 เดือน ให้ฉีดเพิ่ม 2 เข็ม ห่างกัน 3 วัน และในกรณีที่เคยฉีดวัคซีนครบชุดมาก่อน ไม่ต้องฉีดเซรุ่ม

3.ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ถ้าถูกสัตว์ที่เป็นหรือสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลีย ก็จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันเช่นเดียวกัน

4.ถ้าถูกผู้ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือถูกน้ำลายของผู้ป่วยแปดเปื้อนที่เยื่อจมูกหรือปากหรือผิวหนังมีแผล ให้ฉีดวัคซีนเช่นเดียวกับถูกสุนัขบ้ากัด แต่ถ้าผิวหนังไม่มีแผลก็ให้ล้างน้ำกับสบู่ไม่ต้องฉีดวัคซีน

5.ในกรณีที่สุนัข แมว หรือสัตว์ที่กัดยังไม่มีอาการผิดปกติ ถ้ามีลักษณะบาดแผลเข้าข่ายต้องฉีดยาป้องกันให้ฉีดไปก่อน และจับสัตว์ขังไว้ 10 วัน ถ้าสัตว์ตายภายใน 10 วันก็ต้องฉีดวัคซีนต่อจนครบ แต่ถ้าสัตว์ยังเป็นปกติดี ก็หยุดฉีดวัคซีนได้ ในกรณีสัตว์ที่กัดนั้นจับตัวหรือหาตัวได้ยาก เช่น สัตว์ป่าหรือสุนัขที่กัดอาจหายตัวไป ถ้าเป็นไปได้ควรฆ่าสัตว์นั้นแล้วนำไปตรวจ ไม่เช่นนั้นก็ควรฉีดวัคซีน ดังในข้อ 1 หรือถ้าจำตัวสุนัขไม่ได้ก็ควรฉีดวัคซีนเช่นกัน ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อในสมองสัตว์ ควรฉีดอิมมูโน
โกลบูลินและวัคซีนจนครบ ถ้าตรวจไม่พบเชื้อในสมอง แต่มีประวัติหรืออาการน่าสงสัยควรให้ยาฉีดไปก่อน และตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

7.แผลสุนัขกัด ควรฟอกล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที ควรฟอกล้างหลายครั้ง ล้างสบู่ออกให้หมดแล้วใช้ยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ชนิด 70% หรือโพวิโดนไอโอเดียนเช็ดแผล เสร็จแล้วไม่ควรเย็บแผล ควรทำแผลให้สะอาดสักระยะหนึ่งก่อน เพราะอาจอักเสบเป็นหนองได้ง่าย ควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี คล็อกซาซิลลิน หรืออีริโทรไมชิน และฉีดยากันบาดทะยักทุกราย การฟอกล้างด้วยน้ำกับสบู่ทันทีที่ถูกกัดจะช่วยฆ่าเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ และถือเป็นวิธีป้องกันโรคนี้ได้อีกทางหนึ่ง
8.ไม่ควรรักษาแผลสุนัขบ้ากัดโดยสมุนไพรหรือวิธีพื้นบ้าน เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ผลจริง ไม่ควรเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ซึ่งไม่มีทางรักษา การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันที่ได้ผลแน่นอน

ท้ายสุดนี้ผู้เขียนเองอยากเชิญชวนพี่ๆ น้องๆ คนไทยทั้งประเทศและแฟนๆ มติชน ได้ทราบว่า “การป้องกัน” โรคนี้สำคัญที่สุดมี 3 ประการ คือ 1.ควรแนะนำให้ประชาชนนำสุนัขและแมวที่เลี้ยงไว้ทุกตัวไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป และต้องฉีดซ้ำให้ทุกปี 2.สำหรับสุนัขจรจัดไม่มีเจ้าของ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมป้องกันโรคดังกล่าว 3.ผู้ที่ทำงานที่เสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว แพทย์และพยาบาลที่พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยๆ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข เป็นต้น ควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้ล่วงหน้า (ก่อนถูกกัด) เรียกว่า preexposure prophylaxis วิธีการฉีดมี 2 แบบ ได้แก่ (1) ฉีดเข้ากล้าม 3 เข็ม เข็มที่ 2 และ 3 ให้หลังฉีดเข็มแรก 1 และ 6 เดือน (หรือ 12) เดือน หลังจากนั้นกระตุ้นทุก 3-5 ปี (2) ฉีดเข้ากล้าม 3 เข็ม ในวันแรก วันที่ 7 และ 21 (หรือ 28) กระตุ้นซ้ำเมื่อครบ 1 ปี หลังจากนั้นกระตุ้นทุก 3-5 ปี

ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไว้ล่วงหน้าดังกล่าว หากถูกสัตว์ที่เป็นหรือสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ควรฉีดกระตุ้น 2 เข็ม ห่างกัน 3 วัน หากดำเนินการดังกล่าวด้วยระบบเฝ้าระวังควบคุมป้องกันทั้งในสัตว์ ไม่ว่าสุนัข แมว ฯลฯ และคนที่สัมผัสใกล้ชิดให้ครอบคลุมเอาจริงเอาจังสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ก็จะไม่เกิดปัญหาการระบาดได้ในที่สุดไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image