ฟร้อนต์เพจออนไลน์: “ร้าวรานในวารวัน” กับภาพกิจการ “ไม้สัก” ในพม่า

เรื่องราวเริ่มต้นหลังปี พ.ศ.2428 เมื่ออังกฤษสามารถยึดครองพม่าไว้ได้ทั้งประเทศ

ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ขณะที่ พระเจ้าธีบอ (ครองราชย์ พ.ศ. 2421–2428) กษัตริย์องค์สุดท้าย ถูกเนรเทศไปอยู่รัตนบุรี นั่งส่องกล้องมองดูความเวิ้งว้างของท้องทะเล ฝันถึงการกลับบ้าน

ในยุคล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตก นอกจากเรื่องเผยแพร่ศาสนาอย่างที่เรามักเข้าใจแล้ว สิ่งที่คิดว่าเป็นหัวใจสำคัญ และน่าจะมีแรงกระตุ้นให้กองทัพอันเกรียงไกรจากตะวันตก ยาตราทัพเข้ารุกราน และยึดครองประเทศในแถบนี้ คือ เศรษฐกิจการค้า

Advertisement

ฮอลันดา ฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน อังกฤษ หรือแม้แต่อเมริกาเอง ต่างต้องการเข้ามาครอบครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ

อย่างอังกฤษที่พยายามเข้ายึดครองพม่า

แม้สงครามในครั้งที่ 1 และ 2 อังกฤษจะได้ดินแดนทางใต้ติดทะเลของพม่าไว้แล้ว แต่กระนั้น ทรัพยากรที่อยู่ภายใน หรือทางพม่าตอนบนก็คือสิ่งล่อใจยิ่ง

Advertisement

หนึ่งในนั้นก็คือ ไม้สัก

นิยายอิงประวัติศาสตร์ “The Glass Palace” ผลงานของ “อมิตาพ โฆษ (Amitav Ghosh)” นักเขียนชาวอินเดียให้ภาพช่วงอังกฤษปกครองพม่า

ตอนหนึ่งฉายภาพการที่อังกฤษให้สัมปทานบริษัทต่างๆ เข้ามาดำเนินกิจการไม้สัก

ผู้เขียนนำเสนอไว้ได้เห็นภาพชัดมาก

เรื่องราวการเดินทางของ “ราชกุมาร” หนุ่มน้อยชาวอินเดียและพวก ที่ต้องนำของอย่างซิการ์ วิสกี้ ฯลฯ ไปส่งขายให้นายห้างชาวอังกฤษที่ปางไม้

“สิ่งที่แทบจะเลี่ยงไม่ได้คือพวกเขามักต้องเดินไปตามเชาหรือธารน้ำเชี่ยวกรากจากภูเขา ซึ่งจะมีท่อนซุงไหลตามน้ำลงไปยังที่ราบเบื้องล่างทุกๆ สองสามนาที การถูกท่อนซุงหนักกว่าสองตันกระแทกใส่กลางน้ำนั้นมีแต่พิการหรือตายสถานเดียว

“เมื่อต้องย้ายเส้นทางจากริมธารฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่ง ใครสักคนต้องปีนขึ้นไปดูต้นทางและคอยตะโกนแจ้งช่วงว่างระหว่างซุงแต่ละท่อน…”

เป็นบทบรรยายของผู้เขียน ที่สะท้อนความคักคักและรุ่งเรืองยิ่งของกิจการทำไม้สักในพม่า

คิดดูสิว่าทุก ๆ 2-3 นาทีนั้นมากมายมหาศาลขนาดไหน

“เชา” หรือ “แม่น้ำ” เสมือนลมค้าสำหรับไม้สัก

หน้าแล้งน้ำแห้งช่างตัดไม้จะควานหาไม้สัก กานไม้ทิ้งไว้ให้ยืนต้นตาย 2-3 ปี

หน้าน้ำหลาก ล้มไม้ ใช้ช้างลาก ปล่อยให้ล่องไปยังเบื้องล่าง เต็มลุ่มอิระวดี

ผู้เขียนให้ความรู้ไว้ด้วยว่า ไม้สัก เป็นเครือญาติของสะระแหน่วงศ์ tectona grandis

“ใบสะระแหน่มีขนาดประมาณหัวแม่มือของราชกุมาร ในขณะที่ใบสักอีกใบใหญ่แทบบังรอยตีนช้างมิด ใบหนึ่งเป็นแค่พืชล้มลุกใช้ปรุงน้ำแกง ส่วนอีกใบมาจากต้นไม้ที่สามารถล้มราชวงศ์ ก่อเหตุรุกราน สร้างขุมความมั่งคั่ง กระทั่งเปลี่ยนชีวิตคน”

นี่เพียงความน่าสนใจส่วนหนึ่งของนิยายอิงประวัติศาสตร์ “The Glass Palace”

ผลงานระดับโลกนี้ สำนักพิมพ์มติชนแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก โดยใช้ชื่อปกว่า “ร้าวรานในวารวัน”

พบได้ที่ “บูธมติชน” โซนพลาซ่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (29 มีนาคม – 8 เมษายน )

ไม่อยากให้พลาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image