ขยับอีกขั้น โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้ ครม.แล้ว เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อส่งต่อให้ กกต.เตรียมทำประชามติ ที่กำหนดไว้วันที่ 7 สิงหาคม 2559

ในการแถลงข่าว นายมีชัยกล่าวตอนหนึ่งว่า “สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เบื้องต้นแม้ว่า กรธ.จะไม่ได้พูดว่า ประชาชนหรือพลเมืองเป็นใหญ่ แต่ทุกบทบัญญัติเรามุ่งที่จะสร้างความทัดเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนได้รับความคุ้มครองป้องกันสิทธิเสรีภาพในส่วนสำคัญๆ โดยได้ยึดหลักของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่การให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ประโยชน์ของประชาชนจึงเป็นใหญ่” ดังนั้น เราจึงมุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักสำคัญในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนี้..”

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เคยเรียกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะตนเองยกร่างว่า ฉบับพลเมืองเป็นใหญ่

ร่างมาแล้วโดนวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วง สุดท้ายสภาปฏิรูปฯตีตกไป

Advertisement

เป็นที่มาของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย”

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจารย์มีชัยบอกว่า ยึดหลักประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่

อ้างที่มาจากคำสอนของท่านพุทธทาส ซึ่งเป็นความคิดในเชิงศีลธรรม จริยธรรม อุดมคติ ที่บุคคลทั่วไปพึงคิดปฏิบัติ

Advertisement

แต่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของการกำหนด การรับรองสิทธิเสรีภาพ รัฐไหนจำกัดสิทธิประชาชน แล้วมาบอกว่ายึดหลักประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่คงหาคนเชื่อได้ยาก

ที่สำคัญคำว่าประชาชนเป็นใหญ่กับประโยชน์ประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่มาด้วยกันและต้องไปด้วยกัน

ถ้าไปแยกจากกัน จะยุ่งเหยิงหาความลงตัวไม่ได้

สรุปแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญนี้ร่างจากหลักคิดแบบไหนกันแน่ เชื่อว่าประชาชนลงความเห็นเองได้

อีกตอนหนึ่ง เป็นเรื่องของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายมีชัยตอบคำถามผู้สื่อข่าวในโอกาสเดียวกันว่า การยกเว้นเลือกนายกฯ ตามบัญชีรายชื่อที่ทุกพรรคต้องส่ง 3 รายชื่อให้ กกต.นั้น

สุดท้าย เมื่อยกเว้น โดยใช้เสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 ของรัฐสภาแล้ว รัฐสภา คือ ส.ส.และ ส.ว. จะไม่ได้เป็นผู้เลือกนายกฯ

แต่ให้เฉพาะ ส.ส. โดยสภาผู้แทนฯ เป็นผู้ดำเนินการเอง จะเสนอผู้ใดเป็นนายกฯต้องได้รับเสียงข้างมาก

ถือว่าชัดเจนมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ทำให้เห็นว่า การเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯรอบนี้ มีขั้นตอนที่คดเคี้ยวและเปิดโอกาสให้เกิดปัญหามากเกินไป

คสช.เองยังทักท้วงมาตรานี้ไว้ว่า จะก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติจริง

อย่างไรก็ตาม ถือว่าสถานการณ์บ้านเมืองขยับไปอีกขั้น

ทีนี้ต้องรอดูกันต่อไปว่า เส้นทางข้างหน้าของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นอย่างไร ใครหรือองค์กรไหนจะเป็นใหญ่

และจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ผู้ใช้รำลึกถึงคนยกร่างมากเป็นพิเศษหรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image