กฎแห่งอนิจจัง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อำนาจ “คสช.”

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีคำประกาศอันสะท้อนลักษณะ “ร่วม” สำแดงออกอย่างต่อเนื่อง 2 ประการที่ละม้ายเหมือนกัน

1 คือ ไม่จัดตั้ง “พรรคการเมือง”

1 คือ ไม่ลงสมัครรับ “เลือกตั้ง”

แล้วเหตุใดเมื่อมีการเอ่ยถึงนายกรัฐมนตรี “คนนอก” นามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะโดดเด่นขึ้นมาในฐานะแคนดิเดตหนึ่ง

Advertisement

บางพรรคการเมืองถึงกับชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

บางกลุ่มการเมือง อย่างเช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แห่งมวลมหาประชาชนยังยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างสูง

คำว่าสืบทอด “อำนาจ” จึงปรากฏขึ้น

Advertisement

ท่ามกลางการไม่ยอมรับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่ามกลางคำประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งและไม่จัดตั้งพรรคการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นไปได้ยังไง

คําตอบ 1 มาจากหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันตรงกันว่า

เบาะแสสำคัญมาจาก “รัฐธรรมนูญ”

รัฐธรรมนูญไม่เพียงบัญญัติอำนาจของ “ส.ว.” เอาไว้ในระดับใกล้เคียงกับ “ส.ส.” หากแต่ยังสรรหาและแต่งตั้งโดย “คสช.”

สามารถลงมติเลือก “นายกรัฐมนตรี” ได้ด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดวางโครงสร้างของพรรคการเมืองของการเลือกตั้งอันก่อให้เกิดภาวะแตกกระจาย ไม่ยอมให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นพรรคขนาดใหญ่ เป้าหมายคือ ต้องการเห็นพรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก เพราะพรรคใหญ่คือพรรค 250 ส.ว. ของ คสช.

คำตอบ 1 ซึ่งสะท้อนความต้องการลึกๆ ของ คสช.เอาไว้อย่างไม่ปิดบังอำพราง นั่นก็คือ ข้อกำหนดอันเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

นี่สะท้อน “หลักนิยม” ในทาง “ความคิด” อย่างชัดแจ้ง แดงแจ๋

ภายในรัฐธรรมนูญ ภายในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และภายในมาตรการแต่ละมาตรการก่อนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

ยืนยัน 1 ความต้องการในการสืบทอดอำนาจ

ขณะเดียวกัน ยืนยัน 1 ถึงหลักคิดอันดำรงอยู่ภายใน คสช. และ “แม่น้ำ 5 สาย” ที่นั่งอยู่ร่วมภายในเรือลำเดียวกัน ที่มองสรรพสิ่งหยุดนิ่ง สถิต ตายตัว รูปธรรมคือ จะแช่แข็ง “อำนาจ”

กระบวนการปฏิบัตินับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ยืนยันให้เห็นถึงภาวะแข็งตัวในทางความคิดที่มองข้ามกฎแห่ง “อนิจจัง”

มองข้ามกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าโดยตัว “บุคคล” ไม่ว่าโดยตัว “อำนาจ” ว่ามิอาจดำรงอยู่อย่างสถิต แน่นอน และตายตัว

ไม่ต้องมองไกลไปยังอีก 20 ปีข้างหน้าหรอก แค่เปรียบเทียบระหว่างเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กับในเดือนเมษายน 2561

ถามว่าอำนาจ “คสช.” ยังเหมือนเดิมหรือไม่

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ย่อมมีคำตอบได้ดีเป็นที่สุดจากกรณี “นาฬิกา” หรูว่า ไม่มีวันที่ตัวเองจะมีสถานะเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหลีกพ้นกฎแห่งอนิจจังได้ละหรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image