การศึกษา…อำนาจและความกลัว โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ความเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษา โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา จัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศึกษาธิการภาค กรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เป็นก้าวย่างของการปฏิรูปการศึกษายุคแม่น้ำ 5 สายที่ต้องบันทึกไว้

เป็นการดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาโดยแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ จะส่งผลอย่างไร ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

แม้จะยืนยันเจตนาดี เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการทุจริต การเมืองในวงการครู ครูกินครูที่ยังดำรงอยู่ ให้เกิดความเป็นธรรม เกิดขวัญกำลังใจกับผู้ปฏิบัติดี

ปฏิบัติชอบ ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ยึดผลงาน และนักเรียนเป็นหลัก

Advertisement

ขณะเดียวกันการปรับโครงสร้างการบริหาร สะท้อนหลักการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน เกิดการเชื่อมต่อระหว่างสถาบันการศึกษาภาคผู้ผลิต กับภาคการประกอบการต่างๆ ฝ่ายผู้รับผลผลิต ก็ตาม

แต่ในความเป็นจริงในทางปฏิบัติ โครงสร้างการบริหารประกอบด้วยภาครัฐหรือข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ภาคส่วนอื่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เดินหน้าการมีส่วนร่วม จัดการตนเองด้านการศึกษาก้าวรุดหน้าไปแล้วในหลายพื้นที่

โครงสร้างการทำงานแนวอำนาจสั่งการจากส่วนบน ภาครัฐเป็นใหญ่ กับแนวทางจัดการแบบมีส่วนร่วม จะไปด้วยกันจนเกิดความกลมกลืน มากกว่าความขัดแย้งได้อย่างไร

Advertisement

ที่สำคัญการปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ในห้องเรียน เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปครู ปฏิรูปกระบวนการการเรียนการสอน ปลุกจิตวิญญาณความเป็นครูกลับคืนมา ส่งผลถึงคุณภาพการศึกษา พฤตินิสัย และความรู้ความสามารถของเด็ก เมื่อไหร่ วันไหน

การเร่งรัดจัดการแบบมีส่วนร่วมในวงจำกัด ขาดการแลกเปลี่ยน ขบคิดพิจารณากว้างขวางรอบด้านเท่าที่ควร ผลก็คือทำให้เกิดความอึมครึม อึดอัด เพราะกลัวอำนาจ ถูกปลด ย้าย หยุดปฏิบัติหน้าที่ ข้อหา ผิดวินัย ฐานขัดขืน ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

ผู้เห็นต่างโดยเฉพาะผู้ปฏิบัติ ผู้รับผลกระทบโดยตรง ไม่กล้าแสดงออกเท่าที่ควร เพราะบรรยากาศแห่งความกลัวปกคลุมวงการการศึกษา

เป็นผลโดยตรงจากคำสั่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ 8 ข้อ

ข้อ 2 (5) สั่งให้ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาหรือผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการในระดับภูมิภาคหรือจังหวัดหยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือให้พ้นจากตำแหน่ง

ที่หนักข้อและน่ากลัวก็คือ วรรคสองที่ว่า ในระหว่างที่ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ถูกสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตาม (5) บุคคลนั้นไม่อาจได้รับเงินค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง

ความในวรรคที่ว่านี่แหละครับ เป็นไม้ตาย มัดมือ มัดเท้า ปิดปากล่วงหน้า ว่าอย่าขัดขืน ฝ่าฝืน ขัดขวาง มีปฏิกิริยาใดๆ ไม่เช่นนั้นถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือให้พ้นจากตำแหน่ง มีหวังถูกระงับเงินค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ

ทั้งๆ ที่คำสั่งมาตรา 44 ที่มีก่อนหน้านี้ กับกลุ่มข้าราชการที่ถูกระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว ไม่ถึงขั้นถูกตัดเงินค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ

เจอเข้าแบบนี้ ไม่ว่าจะเห็นต่างทั้งหมด หรือเห็นดีบางส่วน เห็นต่างบางส่วน ก็กลัวหัวหดกันไปตามๆ ไม่กล้าแสดงออกใดๆ ทั้งสิ้น

ครับ สิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา นักคิด นักวิชาการ ครู อาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน ต้องช่วยกันคิดว่าแนวทางการแก้ปัญหาปฏิรูปการศึกษาที่ทำให้เกิดความเงียบ ปล่อยวาง ไม่อยากยุ่ง ไม่อย่างเสี่ยง ในระยะสั้นอาจจะเกิดความราบรื่น แต่ระยะยาวแล้วเป็นผลดีหรือผลเสียมากกว่า

การศึกษากับเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการแสดงออกอย่างอารยะ การเปิดช่องทางให้ความเห็นต่างมีทางระบาย มีเวทีแลกเปลี่ยนรอบด้าน จะต้องไปด้วยกันเพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด

ที่ผ่านมา เราเรียกร้อง พร่ำบอกให้ครูลดเลิกบรรยากาศแห่งความกลัว สร้างพื้นที่แห่งความปลอดภัย เพิ่มความรัก ความเข้าใจกับเด็กนักเรียนของเราให้มากๆ

แต่วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ ในวงการการศึกษากำลังตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราพยายามบอกครูให้ปฏิบัติต่อเด็ก

หรือจะบอกว่ากับเด็กต้องให้ความรักความเข้าใจ แต่กับผู้ใหญ่หัวดื้อ ต้องใช้อำนาจและบรรยากาศแห่งความกลัว

จริงอยู่ คนเลว คนหาประโยชน์ พวกเล่นการเมืองในวงการครู ครูกินครู ต้องจัดการ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น กลับต้องตกอยู่ภายใต้บรรยากาศเดียวกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะหวังปฏิรูปการศึกษาที่ควรจะเป็น ถูกทิศ ถูกทางได้อย่างไร เมื่อไหร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image