กฎหมายสูงสุด ของกฎหมายสูงสุด โดย : กล้า สมุทวณิช

หากครอบครัวหนึ่ง มีกฎทองคำประจำบ้านว่า “พ่อ” (หรือสามี) นั้นเป็นผู้ทรงสิทธิในบ้าน ทุกคนในบ้านจะทำอะไร จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก “พ่อ” (หรือสามี) เสียก่อน

แต่กฎนั้นเองก็มีข้อยกเว้นว่า “พ่อ” จะตามใจ “แม่” (หรือภรรยา) เสมอในทุกกรณีโดยไม่มีเงื่อนไข ไร้การโต้แย้ง

อย่างนี้ท่านคงพิจารณาได้แล้วว่า “ใคร” ใหญ่ที่สุดในบ้าน

เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐธรรมนูญ” กับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ว่านี้ ก็เป็นลักษณะเดียวกับกฎของครอบครัวที่ว่านี่แหละ

Advertisement

นั่นคือ ในทางทฤษฎีและตามที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายใดๆ จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ การกระทำ การใช้อำนาจ การเข้าสู่อำนาจ การใช้ การจัดสรรอำนาจใดๆ ทั้งหลายของบุคคลและสถาบันการเมืองต่างๆ ก็จะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ เงื่อนไข คุณสมบัติ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ผลของความไม่ชอบหรือไม่สอดคล้องด้วยรัฐธรรมนูญ จะทำให้กฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นจะไม่มีผลใช้บังคับ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญจะสิ้นผลเสียเปล่า ทันทีที่มีการวินิจฉัยตัดสินโดยองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นตุลาการทางรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรหรือมีรูปแบบโครงสร้างอย่างไร ก็เป็นองค์กรที่ถูกออกแบบให้พิจารณาปัญหา ในกรณีที่มีผู้โต้แย้งว่ากฎหมาย การกระทำ การใช้อำนาจ หรือสถานะการใช้อำนาจที่ได้รับไปจากรัฐธรรมนูญนั้นไม่ถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยเรามีรัฐธรรมนูญใช้บังคับอยู่พร้อมๆ กันถึงสองฉบับ ฉบับแรกคือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่กระนั้นรัฐธรรมนูญ “ฉบับถาวร” ดังกล่าว ก็มี “ช่องย้อนอดีต” อยู่ในมาตรา 265 ที่ให้บทบัญญัติบางส่วนของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังมีผลใช้บังคับในเรื่องอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

Advertisement

ที่อำนาจสำคัญที่สุดอยู่ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี้ จะถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายใดๆ ทุกประการ และสามารถมีผลในทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการอย่างไรก็ได้ เช่นนี้ ในทางปฏิบัติจึงถือว่ามาตรา 44 นี้เป็นบทบัญญัติที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี้ก็จะเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างได้ทั้งสิ้น และในทุกๆ เรื่อง

เอาตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงสดๆ ร้อนๆ ก่อนหน้านี้ คือกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ เช่น กรรมการ กกต. ป.ป.ช.นั้น จะดำรงตำแหน่งอยู่ได้ภายใต้ตามกำหนดตามวาระและอายุ
ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ที่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาประมาณหนึ่งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระดังกล่าว จะต้องทยอยพ้นจากตำแหน่งไปตามกาลเวลา เนื่องจากครบวาระบ้าง อายุเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดบ้าง

กระนั้น เมื่อ “ผู้มีอำนาจ” ในทางความเป็นจริงยังไม่ต้องการให้มีการดำเนินกระบวนการสรรหาให้ยุ่งยากวุ่นวายหรือเป็นประเด็น ก็ออกคำสั่ง คสช.ที่ 40/2559 มาเพื่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับองค์กรเหล่านั้นจะมีผลบังคับใช้ ก็ค่อยไปว่ากันตามกฎหมายนั้นๆ

แต่หาก “ผู้มีอำนาจ” นั้นเกิดจะไม่อยากให้กรรมการในองค์กรอิสระคนไหนดำรงตำแหน่งต่อไป ด้วยเหตุว่าวาจาผิดระเบียบ ก็สามารถออกคำสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการนั้นเป็นรายบุคคลได้ เช่น ชะตากรรมของ คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2561

จะเห็นว่าการดำรงตำแหน่งหรือพ้นตำแหน่งของกรรมการในองค์กรอิสระทั้งหมดที่พูดมาในสามย่อหน้าก่อน ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใดๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเลยแม้แต่น้อย แต่ขึ้นกับอำเภอใจแห่ง
“ผู้มีอำนาจ” ใช้มาตรา 44 นี้ล้วนๆ

หรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติกระบวนการตรากฎหมายไว้อย่างไร ว่าให้พิจารณากันกี่วาระ ผ่านสภาล่างสภาบนอย่างไรใช้เสียงกี่เสียง หรือให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นได้ก่อนหลังอย่างไร หรือให้มีกระบวนการใดเพื่อให้กฎหมายที่ผ่านสภาแล้วมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้หลังจากนั้น

แต่มาตรา 44 ก็ให้อำนาจแก่ผู้มีอำนาจในการออก “กฎหมาย” ได้ด้วยการเขียนสิ่งที่อยากให้เป็น “กฎหมาย” ลงไปในกระดาษสักสองสามแผ่น แล้วลงชื่อตอนท้ายกระดาษที่ว่า สิ่งที่เขียนไว้ดังกล่าวก็จะมีค่าเป็นกฎหมายเทียบเท่ากฎหมายระดับ “พระราชบัญญัติ”

นอกจากในทางกระบวนการแล้ว ในทางเนื้อหาก็เช่นกัน ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพไว้พร่างพร้อยเพลิดแพร้วอย่างไร หรือมีกลไกการต่อสู้ในทางรัฐธรรมนูญกี่ช่องทางเพื่อป้องกันไม่ให้มีการตรากฎหมายหรือใช้อำนาจรัฐขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจนกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ “กฎหมาย” ที่ออกโดยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็สามารถที่จะยกเว้นหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเสรีภาพในการกระทำ ในทรัพย์สิน ในชีวิตหรือเนื้อตัวร่างกายแล้ว ในทางเทคนิคกฎหมายแล้ว การใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี้ อาจจะสั่งให้เอาใครไปฆ่าเสียดื้อๆ เลยก็ยังได้

เรื่องนี้ใครที่รู้ประวัติศาสตร์กฎหมายและการเมืองคงทราบดีว่าเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นจริง ภายใต้การใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครอง ปี 2502 ซึ่งเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ถือเป็น “แม่แบบ” ของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่คณะรัฐประหารสืบมาจนถึงมาตรา 44 ในปัจจุบัน

ในครั้งนั้น มีการใช้อำนาจตาม “ม.17” ประหารชีวิตผู้ต้องหาในคดีวางเพลิงหรือก่อให้เกิดเพลิงไหม้ในที่เกิดเหตุ 4 คดี โดยวิธีการยิงเป้า โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม จนเป็น “ตำนาน” แห่งการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ทำให้เราได้เห็นว่าอำนาจในลักษณะนี้ทำได้แม้แต่ปลิดชีพผู้คน

แล้วมาตรา 44 ในปัจจุบันนี้ในทางกฎหมายแล้ว สามารถสั่งให้เอาใครไปฆ่าได้หรือไม่ มาตรา 44 นั้นบัญญัติว่า “…ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็น …ฯลฯ… ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด…”

หากสมมุติโจทย์ว่าท่านเป็นเนติบริกรของท่านผู้มีอำนาจตามมาตรา 44 นี้ แล้วได้รับคำสั่งให้ทำให้ใครสักคนหายไปจากโลกตลอดกาลโดยชอบด้วยกฎหมาย ท่านก็อาจจะเขียนคำสั่งด้วยการใช้อำนาจตุลาการ ให้ถือเสมือนมีคำพิพากษาว่า บุคคลเป้าหมายของท่านได้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาที่มีอยู่แล้วมาตราใดก็ได้ เช่น เป็นกบฏต่อราชอาณาจักร (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113) ซึ่งมีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตตามแต่จะเลือก ถ้าอยากจะให้ประหารชีวิตสดๆ กลางท้องสนามหลวงถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์ ก็สามารถกระทำได้ โดยระบุในคำสั่งว่า ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 19 ที่กำหนดให้ประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษ เป็นให้ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า และให้กระทำในวันที่เท่านั้นเท่านี้ ในสถานที่นั้นที่นี้ตามแต่ประสงค์ ซึ่งคำสั่งท่อนหลังจะถือเป็นการใช้อำนาจบริหาร หรือถ้ายังหากฎหมายมาเอาผิดอะไรไม่ได้ ท่านก็อาจจะเขียนให้การกระทำของบุคคลเป้าหมายที่ได้กระทำมาแล้ว ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและให้ต้องรับโทษทางอาญาย้อนหลังก็ยังได้ และโทษที่จะลงนั้นจะรุนแรงพิสดารอย่างไรก็ได้ โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกประการ

เรียกว่าถ้าท่านถือมาตรา 44 อยู่ในมือ และขาดหิริโอตัปปะเสียแล้ว ก็สามารถกำหนดเวลาและสถานที่ตายให้ใครก็ได้ เหมือนกับมี “สมุดมรณะ” (Death note) ในการ์ตูนเรื่องเดียวกันนั้น

โชคยังดีอยู่บ้างที่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในขณะนี้ “ยัง” ไม่ไปขั้นนั้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี้ จึงเป็นการใช้อำนาจ “ตามกฎหมาย” ที่มากล้นและส่งผลได้ไม่จำกัด และยังไม่สามารถถูกตรวจสอบได้โดยอำนาจใดๆ

ก่อนหน้านี้เคยมีผู้ใช้กระบวนการยุติธรรมทางศาลเพื่อต่อสู้กับบทบัญญัติอันทรงอำนาจนี้ต่อศาลปกครอง แต่ศาลปกครองสูงสุดก็วินิจฉัยว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ที่บัญญัติให้คำสั่งที่ออกมาดังกล่าวถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ฟส.8/2559)

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญนั้น อาจจะยังไม่เคยวินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.นี้หรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ ประชาชนที่ใช้สิทธิไปยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี้ในหลายเรื่อง โดยอาศัยช่องทางการเสนอคดีโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็พิจารณาว่า เมื่อการใช้อำนาจดังกล่าวเป็นลักษณะเดียวกับการใช้อำนาจนิติบัญญัติในการออกกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดช่องทางใช้สิทธิสำหรับประชาชนไว้แล้ว ผ่านการโต้แย้งเมื่อตนมีคดีในศาล หรือผ่านกระบวนการร้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายผ่านองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่รับคำร้องในลักษณะดังกล่าวไว้วินิจฉัย (คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 10/2561)

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (30 มีนาคม 2561) ได้มีความเคลื่อนไหวที่อาจจะเป็นข่าวเล็กๆ แต่ก็ถือเป็น “เรื่องใหญ่” ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องหนึ่ง คือการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินตัดสินใจส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 นี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

คำสั่ง คสช.ดังกล่าว เรียกขานกันในทางการข่าวและการเมืองว่าเป็นคำสั่ง “เซตซีโร่” พรรคการเมือง เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวนั้นจะส่งผลให้กำหนดให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่เดิม หากประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นต่อไป ต้องมีหนังสือยืนยันและชำระค่าบำรุงพรรคใหม่ หากใครไม่ได้ยืนยันการเป็นสมาชิกที่ว่า ให้เป็นอันพ้นจากสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น และไม่รับรองการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม จึงเท่ากับเป็นการยกเลิกการมีสาขาพรรคการเมืองของพรรคการเมืองที่ตั้งอยู่แล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับ

พูดง่ายๆ คือ พรรคการเมืองเก่าๆ ที่เรารู้จัก ปัจจุบันนี้เหลือเพียงชื่อและตรา กับอาคารที่ทำการและกรรมการบริหาร แต่อาจจะถือว่าไม่มีสมาชิกหรือสาขาพรรค

นี่น่าจะเป็นประเด็นหลักที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี้

และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เป็นความพยายามนำพาเอาการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าสู่การตรวจสอบโดยอำนาจตุลาการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image