ความ ‘ป๊อป’ ของ ‘บุพเพสันนิวาส’ โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

ขออนุญาตเขียนถึงละครโทรทัศน์ “บุพเพสันนิวาส” ในพื้นที่นี้อีกสักครั้ง

เพราะละครเรื่องนี้สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจหลายประการ

เริ่มตั้งแต่การได้รับความนิยมล้นหลาม จนมีสถานะเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งสูงสุดในยุค “ทีวีดิจิทัล” เช่นเดียวกับสถานการณ์ในพื้นที่สื่อใหม่ ที่สื่อออนไลน์ในเครือช่อง 3 ล้วนเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากอานิสงส์ของละคร

ขณะเดียวกัน หนังสือนวนิยาย “บุพเพสันนิวาส” โดย “รอมแพง” ก็กลายเป็นหนังสือขายดี พ่วงด้วยหนังสือแนวประวัติศาสตร์อื่นๆ อันมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับท้องเรื่องของละคร/นิยาย

Advertisement

แม้แต่หนังสือ “จินดามณี” ของกรมศิลปากร ก็กลายสถานะเป็นสินค้าที่ถูกจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็วในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

มองไปยังสื่อมวลชน มีการนำเสนอข่าวว่าด้วย “บุพเพสันนิวาส” หลากหลายแง่มุม ตั้งแต่เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับละคร การสรุปสาระสำคัญของงานเสวนาต่างๆ ที่ต่อประเด็นจากละคร ไปจนถึงการเล่าเรื่องย่อล่วงหน้า และการเล่นข่าวคราวของดาราที่ร่วมแสดงในละครฮิตเรื่องนี้

ส่วนผู้คนทั่วไปจำนวนไม่น้อยก็พากันแต่ง “ชุดไทย” ไปท่องเที่ยวโบราณสถานแถบอยุธยา-ลพบุรี หรือกระทั่งแต่งกายเช่นนั้นไปถ่ายบัตรประชาชน

ฯลฯ

พิจารณาจากปรากฏการณ์ข้างต้น “บุพเพสันนิวาส” ย่อมถือเป็นประดิษฐกรรมใน “วัฒนธรรมป๊อป” ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “วัฒนธรรมสมัยนิยม” หรือ “วัฒนธรรมประชา(นิยม)

ประดิษฐกรรมในวัฒนธรรมป๊อปคือสิ่งที่ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างแพร่หลายกว้างขวาง โดยปราศจากกลไกบังคับครอบงำ ในลักษณะบนลงล่างแบบเบ็ดเสร็จ

บางคนอาจโต้แย้งว่า “บุพเพสันนิวาส” นั้นวางโครงเรื่องอยู่บน “ประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลัก” หรือพื้นฐานความคิดความเข้าใจต่อสังคมและผู้คนในแบบเดิมๆ

แต่ความเป็นกระแสหลักและความคิดที่อาจไม่ใหม่ในเนื้อหาต้นทาง ก็มิได้เป็น “ตัวเลือกเดียว” ในสนามที่ทั้ง “กว้าง” และ “เปิด” ของวัฒนธรรมป๊อป

ตรงกันข้าม หากผู้สร้าง-ผู้ผลิตสอดใส่เนื้อหาอะไรลงไปในสนามดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นที่บรรดาผู้บริโภคอันหลากหลาย จะต้องเข้าใจหรือตีความเนื้อหาเหล่านั้นไปในแนวทางเดียวกันกับคนต้นทาง

ทว่าพวกเขาสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาจากมุมมองอื่น ตีความสิ่งที่ได้รับชมไปในทิศทางอื่น หรืออาจฉวยใช้เนื้อหาต้นทางเพื่อเป้าประสงค์ประการอื่นๆ

เนื่องจาก “สนามแห่งวัฒนธรรมป๊อป” เป็นพื้นที่ของการแข่งขัน ปะทะ โต้แย้ง ถกเถียง และแย่งชิง ระหว่างนิยามความหมายหรือชุดค่านิยมนานัปการ

“โอกาส” หรือ “ความเป็นไปได้” ประการอื่นๆ ที่เป็น “ลูกไม้ไกลต้น” ของประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมต้นทาง จึงถือกำเนิดขึ้นเสมอในพื้นที่ชนิดนี้

ฉะนั้น ตราบใดที่คุณเข้าไปเล่นเกมในสนามแห่งวัฒนธรรมป๊อป คุณก็ย่อมมีสิทธิ “ชนะ” หรือได้รับผลสำเร็จบางอย่าง แม้จะไม่ได้มีสถานะเป็นผู้ผลิตเนื้อหา/ประดิษฐกรรมตั้งแต่แรกเริ่ม

ข้อแม้มีอยู่แค่ว่าคุณต้องรู้จักวิธีการนำวัตถุดิบพื้นฐานซึ่งเป็นที่นิยมอยู่แล้ว มาแปรสภาพ/สร้างสรรค์เป็นพลังใหม่ๆ เพื่อโน้มน้าวจิตใจผู้คนจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี คงมีคนสองประเภท ที่ไม่สามารถรับดอกผลใดๆ จากการต่อสู้ในสนามของวัฒนธรรมป๊อป

ประเภทแรก คือ คนที่ทึกทักว่าตัวเองสามารถควบคุม/ครอบงำ ความคิดและการกระทำของสมาชิกในสังคมได้อย่างเด็ดขาด

ความเชื่อที่แข็งทื่อและมองโลกด้านเดียวเช่นนั้นย่อมดำรงอยู่นอกเหนือกติกาของวัฒนธรรมป๊อป ซึ่งมีชีวิตชีวาและพลวัตผ่านการเปิดโอกาสให้คุณค่าหลากหลายชนิดได้มาปะทะสังสรรค์กัน

ประเภทสอง คือ คนที่อาจมีความรู้-ความคิดหลายด้านก้าวหน้า แต่ก็ดันหลงเชื่อและเหมารวมว่าวัฒนธรรมป๊อป เป็นมวลรวมแห่งความโง่เขลา-ความไม่รู้-ความล้าหลังของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม

ความเชื่อทำนองนี้ย่อมส่งผลให้คนประเภทหลังยืนกรานปฏิเสธที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับการแข่งขันต่างๆ ในสนามของวัฒนธรรมป๊อป เพราะด่วนประเมินศักยภาพของมันต่ำกว่าความเป็นจริงไปแล้วเรียบร้อย

พวกเขาจึงชวดโอกาสที่จะสื่อสารกับคนหมู่มากไปโดยปริยาย

……………

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image