โลกใบเดียว สุขภาพหนึ่งเดียว ตายลูกเดียว : ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ประมาณ 15 ปี มีกลไกความคิดที่ว่าสุขภาพของคน-สัตว์-สภาวะแวดล้อม-นิเวศวิทยา-ดินฟ้าอากาศ-การเปลี่ยนแปลงปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ การรุกรานที่ธรรมชาติ ส่งผลต่อสุขภาพ รวมทั้งการเกิดโรคระบาด ผ่านทางการเพาะบ่มเชื้อโรคทั้งเก่าและใหม่ ให้เบ่งบานผ่านตัวซ่องสุมและเพาะเชื้อ เช่น สัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาว ผ่านตัวกลาง เห็บ ไร ริ้น ยุง แมลง จนเชื้อมีความเก่งกล้าสามารถติดเชื้อในสัตว์ข้ามสายพันธุ์ต่างๆ จากเดิมชนิดเดียว ข้ามตระกูล มาสู่คนและในที่สุดมีการติดกันเองระหว่างคนสู่คน ซึ่งเป็นวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของเชื้อโดยเฉพาะ RNA ไวรัส

ตัวอย่างที่เราเห็นได้เร็วๆ นี้ คือ ไวรัสอีโบลาและไวรัสเมอร์ส ซึ่งมีการแพร่กระจายย้ายถิ่นไปทั่วแอฟริกาในกรณีแรก และจากตะวันออกกลางส่งออกไปเกาหลีและหลงมาไทย

การมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ แมลง เชื้อ ย่อมจะทำให้สามารถทำนายตระเตรียมความพร้อมในการรับมือโรคที่จะเกิดขึ้นจากเชื้อใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นก็คือ มนุษย์ไม่เคยเจอะเจอเชื้อและไม่เคยมีภูมิคุ้มกันแต่ต้น เมื่อเกิดติดเชื้อก็จะมีอาการและแพร่ได้ในวงกว้างจากวัฏจักรที่ว่า ถ้าจะทำให้ระบบโลกเดียว-สุขภาพเดียว เป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์เต็ม ต้องมีการบูรณาการ การทำงานของคนในทุกสาขา ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม สัตว์ แมลง หมอ สัตวแพทย์ ระบาดวิทยา สังคม ศึกษาผลและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์

และที่สำคัญคือต้องมีการสื่อสารความเสี่ยงให้กับพื้นที่และประชาชนเพื่อให้ป้องกันตัวได้ทันท่วงทีและรายงานด้วยความเต็มใจไม่ต้องมีใครบังคับมายังหน่วยงานที่รับผิดชอบ และต้องมีการควบรวมวิทยาศาสตร์และสาขาอื่นๆ เข้าด้วยกัน

Advertisement

ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ ยุโรป กระทรวงกลาโหม องค์การอนามัยโลก (WHO) สัตว์ (OIE) มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างขานรับ ในประเทศไทยเองมีการลงนามข้อตกลงร่วมมือกันเต็มไปหมด ความร่วมมือข้ามขอบเขตหน่วยงานกระทรวง ทบวง ข้ามสาขา ก่อนอื่นต้องมีการทลายกำแพง “อาณาจักร” ของตนเอง แบ่งแชร์ข้อมูล เครื่องมือ ใช้งบร่วมกัน รับในความเก่งของคนอื่น เพื่อจะร่วมมือให้เก่งรอบด้านและนำไปสู่การป้องกัน ควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม “บูรณาการ” ที่ว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก สโลแกน “โลกใบเดียว สุขภาพเดียว” เป็นหัวข้อในการขอทุนวิจัยเต็มไปหมดทั่วโลก ในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญคือซ้ำซ้อน อันอาจจะถึงขั้นอมข้อมูล ไม่แบ่งปันและพื้นที่สำรวจซ้ำซ้อนกัน โดยองค์กร มหาวิทยาลัยต่างๆ กัน งบวิจัยจากหลายแหล่ง ค้างคาวตัวเดียวกัน
อาจถูกจับมาเจาะเลือด เก็บเยี่ยว หลายครั้งก็เป็นได้

นอกจากนั้นประโยชน์ที่ได้ถึง “มนุษย์” จริงๆ ยังไม่เห็นชัดเจนนัก โดยที่ไม่ต่ำกว่า 50% ของคนไข้ที่ติดเชื้อมีไข้ ทั้งที่อาการเบา หนัก เสียชีวิตด้วยลักษณะอาการหลากหลาย ตั้งแต่อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ สมองอักเสบ ปอดบวม รวมไข้เลือดออกนอกจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) ยังเป็นความลับดำมืด

Advertisement

ประโยชน์ที่ได้ขณะนี้ทั้งที่ผ่านมา 16 ปี เป็นเพียงการพบไวรัสที่ไม่เคยมีใครทราบมาก่อนในสัตว์ป่าแต่ก็ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าไวรัสใหม่เอี่ยมเหล่านี้จะก่อโรคในคนได้หรือไม่ แต่ประโยชน์ก็ยังมีบ้างตรงที่ความพยายามที่จะหาไวรัสอย่างพุ่งเป้า (Targeted surveillance) ในสัตว์ป่าที่เคยรายงานในประเทศอื่น ทวีปอื่นว่าจะมีในประเทศไทยหรือไม่

ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ของเราที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์สภากาชาดไทย ทำงานต่อเนื่องมา 16 ปีแล้ว ทำให้สามารถพัฒนาการตรวจเชื้อไวรัสดุร้ายเหล่านี้ในคนได้ทันทีที่มีการสงสัย รวมเมอร์ส อีโบลา และไวรัสสมองอักเสบหลายชนิด เช่นนิปาห์ที่ระบาดต่อเนื่องจากปี 1998 จนถึงปัจจุบัน เริ่มจากมาเลเซีย อินเดีย บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ตาม ความดีงามประโยชน์ที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จนกว่าจะสามารถตรวจพร้อมกันหลายพัน-หมื่นตัว หรือชนิดในคนไข้ที่มีโรคติดเชื้อจนกระทั่งได้คำตอบในเวลาอันรวดเร็ว

อีกประการที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจะให้ฝ่ายรับผิดชอบใน “มนุษย์” เข้าใจความสำคัญของการที่ต้องคงสภาพ “มนุษย์” ให้แข็งแรงสมบูรณ์ที่สุด ไม่เช่นนั้นคนที่อมโรคตั้งแต่เบาหวาน ความดัน โรคปอด หลอดลม โรคไต โรคเลือด จะกลายเป็นคนที่ติดเชื้อได้ง่าย และเป็นแหล่งอมโรค แพร่โรค

ที่สำคัญคือแพร่กระจายไปคนอื่นๆ ได้ทั้งประเทศ ดังเมอร์สในเกาหลีที่เกิดแพร่ในคนป่วยทั้งโรงพยาบาลจากคนติดเชื้อรายเดียว จนแพร่ไปทั่ว และไปยังคนแข็งแรงได้ โดยที่คนแข็งแรง โรคอาจไม่รุนแรงแต่จะติดไปคนอื่นที่สุขภาพไม่ดีได้อีกต่อ

การจะทำให้สุขภาพหนึ่งเดียวสมบูรณ์เต็มที่ ต้องกันไม่ให้คนเกิดโรค (ซึ่งไม่ใช่โรคติดเชื้อ) ได้ตั้งแต่ต้น โดยทำการตรวจคัดกรอง เช่น เบาหวาน ความดัน จำกัดการใช้ยาพร่ำเพรื่อ เช่น ยาแก้ปวด ทำให้ไตเสีย กระเพาะพัง เส้นเลือดตัน จำกัดยาผีบอก สมุนไพรประหลาด ถ้าเริ่มเป็นแม้ไม่มีอาการ จำกัดให้อยู่ในขั้นเหมือนคนปกตินานเท่านาน โดยที่ถ้าคนมีโรคเหล่านี้พัฒนาถึงขั้นที่มีอาการ อวัยวะเริ่มเสียหายชัดเจนต้องเข้าโรงพยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุขจะไม่มีเวลามาสังเกต มาให้ความสนใจสโลแกน “โลกใบเดียว” เพราะวันๆ หนึ่งจะรักษาให้คนไข้อาการเต็มขั้นเหล่านี้
ให้รอดชีวิตก็อ่วมแล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์จริงในประเทศไทยและรับคนไข้เกินกำลังไปทั่วประเทศ และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีปัญญาไปสนใจบรรยากาศเปลี่ยนแปลง โลกร้อน สัตว์ป่านานาชนิด วิวัฒนาการของไวรัส

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกลุ่มปศุสัตว์ เป็นต้น ไม่เช่นนั้นเมื่อใดที่โรคระบาดเข้าถึง ความรุนแรงของโรคและความรวดเร็วในการแพร่จะเป็นทวีคูณ เป็นเหตุผลที่ทำไมการประชุมโลกใบเดียวไม่ว่าในประเทศใดๆ

โดยเฉพาะประเทศที่คิดว่าพัฒนาแล้วอย่างประเทศไทย จะมีหมอรักษามนุษย์เข้าร่วมน้อยมากจนไม่มี มีแต่นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ และอื่นๆ เท่านั้น

เป็นที่มาที่ว่าเราคงตายลูกเดียวถ้าไม่ได้ให้ความสนใจสุขภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อ ไม่ให้ความสนใจที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการวินิจฉัยให้ได้เฉียบพลันมีประสิทธิภาพเต็มที่ และไม่ได้ให้ความสนใจที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งแก่ประชาชนคนไทยทั่วประเทศและแก่กระทรวง ทบวง กรม ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือต้องมีการบูรณาการกันอย่างแท้จริง

ถึงเวลานั้น เมื่อมีเชื้อใหม่เข้ามนุษย์ ประชากรในประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศไทยจะพร้อมเป็นแหล่งเพาะโรคให้โลกและพินาศไปทั่ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image