วัฒนธรรมไทย ไม่ได้มีแต่ ‘แต่งชุดไทย’ โดย ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง

ก่อนที่ละคร “บุพเพสันนิวาส” จะดังแล้ว รัฐไทย ทั้งรัฐบาล คสช.และส่วนราชการต่างๆ รณรงค์กันแต่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดไทย พอละครบุพเพสันนิวาสดังขึ้นมาเป็นพลุแตก กระแสการรณรงค์ให้แต่งกายด้วยชุดไทยยิ่งกระพือเป็นมหกรรม บางหน่วยราชการถึงขนาด “บังคับ” ให้แต่งชุดไทยกันเลยทีเดียว

แต่งกายด้วยชุดไทยนั้นดีครับ เป็นชุดแต่งกายที่เราควรภาคภูมิใจ แต่สิ่งที่ผู้เขียนเป็นห่วงเป็นใยก็คือความไม่เข้าใจองค์รวม (Holistic) ว่าวัฒนธรรมไทยคืออะไร อย่างไร ครอบคลุมถึงไหน และที่แสดงความเป็นไทยได้อย่างเข้าถึงจิตวิญญาณที่แท้ของไทยคือสิ่งใด อะไรคือความเป็นไทยที่เป็นแค่เครื่องปรุงแต่ง และอะไรคือวัฒนธรรมที่จะนำพาประเทศไทยของเราไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่แท้จริง

คำว่า วัฒนธรรม มาจากภาษาอังกฤษว่า Culture เป็นคำที่กินความหมายกว้าง ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2552 คือ “น.สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่งกาย วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา”

ผมคิดว่าเรายังเข้าใจมโนทัศน์ (Concept) เรื่องการแต่งกายแบบไทย “คลุมเครือ” นะครับ ผมลองตั้งคำถามเพื่อเคลียร์มโนทัศน์เรื่องการแต่งกายด้วยชุดไทยกันก่อนนะครับว่า คำว่า “ผ้าไทย” คืออะไร แบบไหนผ้าไทย แบบไหนไม่ใช่ผ้าไทย คำว่า “ชุดไทย” คืออะไร แบบไหนชุดไทย แบบไหนไม่ใช่ ชุดทั่วไปที่ชาวบ้านสวมใส่กันอยู่ทุกวี่วัน สวมใส่ไปไร่ไปนา ไปตลาด ไปทำธุรกิจธุรกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นชุดไทยหรือไม่ เป็นผ้าไทยหรือไม่

Advertisement

เพื่อนชาวมุสลิมที่มหาวิทยาลราชภัฏแห่งหนึ่ง โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มหาวิทยาลัยของเขาขอความร่วมมือให้แต่งชุดไทยในวันอังคาร เขาจะนุ่งโสร่งเข้าไปในห้องสอนเพื่อสอนนักศึกษาได้มั้ย ผมรีบแสดงความเห็นไปว่า “ได้ซิ โสร่งไม่ใช่ชุดไทยตรงไหน” ครับ-คนไทยนุ่งโสร่งมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องชาวมุสลิม นุ่งกันทั้งประเทศ มีหลักฐานมากมาย

การแต่งกายด้วยชุดที่ใช้ผ้าไทย และตัดเย็บแบบชุดไทยนั้น “แพง” นะครับ นี่คือเรื่องที่ต้องเคลียร์กันก่อน ผมมีเสื้อที่ตัดด้วยผ้าไทยและตัดแบบชุดไทย 3-4 ตัว ตัดด้วยผ้าทอพื้นบ้านเกาะยอ สงขลา และผ้าไหมอีสานที่ลูกศิษย์ซื้อให้อีก 1 ตัว ใช้มาเกือบ 10 ปีแล้ว ยังไม่คิดจะตัดเพิ่มเนื่องจากมันแพง ทั้งค่าผ้าและค่าตัด ไหนจะค่าซักรีดก็แพงกว่าเสื้อผ้าปกติ ฉะนั้นการที่อาจารย์ชาวมุสลิมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏคนนั้นนุ่งโสร่งสอนหนังสือนับว่าเป็นเรื่องที่ควรชื่นชม เนื่องจากไม่ต้องซื้อหาเพิ่ม ใช้เสื้อผ้าที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องสิ้นเปลือง ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง การระวังค่าใช้จ่ายไม่ให้เกินความจำเป็นนี่แหละครับ “วัฒนธรรมไทย” ที่ควรรณรงค์

ผมคิดว่าถ้าเราจะสร้างมโนทัศน์เรื่อง “วัฒนธรรม” วิธีที่ง่ายที่สุดคือการให้ความหมายของวัฒนธรรมว่า “สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติ” สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติทั้งหมดคือวัฒนธรรมครับ อย่างไรก็ตาม ตำราทางด้านสังคมวิทยาแบ่งวัฒนธรรมไว้หลายหลักคิด ดังนี้

Advertisement

หลักคิดแรกเป็นหลักคิดใหม่ และค่อนข้างเป็นสากลคือแบ่งวัฒนธรรมเป็น 2 ประเภทคือ วัฒนธรรมทางวัตถุ (Material Culture) และวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ (Non-material Culture) แนวคิดที่ 2 เป็นแนวคิดเดิมของไทย แบ่งตามตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี พ.ศ.2484 ซึ่งละเอียดกว่าและน่าสนใจมาก คือแบ่งวัฒนธรรมออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1.คติธรรม (Moral Culture) เป็นวัฒนธรรมที่เป็นหลักการดำเนินชีวิต หลักคุณธรรมต่างๆ ที่นำมาปฏิบัติในสังคมและส่วนใหญ่เป็นเรื่องของจิตใจ

2.เนติธรรม (Legal Culture) เป็นวัฒนธรรมที่เป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมนำมาใช้ในการจัดระเบียบของสังคม หรือขนบธรรมเนียมประเพณีที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับว่ามีความสำคัญ รวมทั้งกฎหมายต่างๆ ที่ตราขึ้น บัญญัติขึ้น

3.วัตถุธรรม (Material Culture) เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน วัตถุต่างๆ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น สร้างขึ้น เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต

4.สหธรรม (Social Culture) เป็นวัฒนธรรมทางสังคม การติดต่อสัมพันธ์ มารยาททางสังคม พฤติกรรมที่ต้องคำนึงถึงกาลเทศะ และบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมสังคมกับเรา เช่น การใช้สถานที่สาธารณะร่วมกัน การโดยสารยานพาหนะร่วมกัน การใช้ลิฟต์ประจำอาคารร่วมกัน การสื่อสารกันทั้งทางเผชิญหน้า และทางออนไลน์ เป็นต้น

หากพิจารณาตามหลักการข้างต้นแล้ว สรุปว่า “ชุดไทย” หรือ “ผ้าไทย” เป็นวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุเท่านั้น เรายึดติดกับ “ผ้าไทย” จนตลกๆ น่าดู แม้กระทั่งว่าชุดที่วัยรุ่นไทยจะสวมใส่เพื่อเล่นน้ำสงกรานต์ เราก็รณรงค์ว่าให้เป็นผ้าไทย จนชุดเล่นน้ำสงกรานต์ออกมาแนวสั้น โชว์ขา โชว์สะดือ โชว์เนินถันเหมือนเดิม แต่เป็นผ้าไทย มันคืออะไรกันครับ ไหนความเป็นไทยครับ

การรณรงค์ให้แต่งชุดไทยนั้นเป็นเรื่องที่ดี ไม่ได้เสียหายอันใด แต่ผมแค่ตั้งข้อสังเกตว่า เราไม่พูดถึงเรื่องอื่นกันบ้างเลยหรือ เมื่อคิดจะทำอะไรๆ เพื่อแสดงความเป็นไทย เราคิดอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องแต่งกายชุดไทย เราไม่คิดถึงเรื่องอื่นที่เป็นคติธรรม เนติธรรม สหธรรม หรือวัตถุธรรมอื่นๆ กันบ้างหรือครับ เพื่อปลูกฝังความเป็นไทยแก่คนไทยและเยาวชนไทย เป็นต้นว่า แนวคิดที่ยึดมั่นต่อคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นคติธรรมแบบคนไทย วิธีชีวิตชนบทซึ่งเป็นจิตวิญญาณของคนไทย ความรักสามัคคี ความกตัญญูรู้คุณคน วิถีชีวิตที่ยึดมั่นในคุณงามความดีของตนเองและผู้อื่น

เรื่องเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้เรา “บูรณะ” วัฒนธรรมของเราได้อย่างถึงรากถึงโคนมากกว่า

เมื่อเราลงทุนพูดเรื่องวัฒธรรมกันแล้ว เรื่องหนึ่งที่เราต้องนำมาคุยกันด้วยนั่นคือเรื่องการล้าหลังทางวัฒนธรรม (Culture Lag) William F. Ogburn นักทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ให้ความหมาย “การล้าหลังทางวัฒนธรรม” ว่า “สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่เกิดการก้าวตามวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งไม่ทัน หรือเกิดการขาดดุล หรือความไม่กลมกลืนขึ้นในสังคม”

ถ้าการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมทางวัตถุล้ำหน้าการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับพฤติกรรม ก็จะอาการเกิด “การล้าหลังทาง วัฒนธรรม” เช่น สังคมไทยมียวดยานพาหนะโดยเฉพาะรถยนต์เพิ่มขึ้นมากมาย จนใครก็มีรถยนต์ส่วนบุคคล นับเป็นความเจริญทางวัตถุที่เห็นชัดเจนมาก แต่มารยาทการขับรถ การจอดรถยังต้องปรับปรุง จนเกิดกรณี “ป้าทุบรถ” ที่จอดรถขวางทางเข้าออกบ้านผู้อื่น อย่างนี้เรียกว่าความล้าหลังทางวัฒนธรรม

วัฒนธรรมวัตถุที่เป็นวัสดุบรรจุอาหารรุ่งเรื่องมาก ทั้งกล่อง ทั้งแก้วและถุงพลาสติกต่างๆ ทั้งกระป๋อง และอื่นๆ อีกมากมาย แต่พฤติกรรมการทิ้งขยะในที่สาธารณะยังไม่ได้รับการพัฒนา อย่างนี้เรียกว่าเป็นความล้าหลังทางวัฒนธรรม กล่าวคือวัตถุธรรมเจริญรุ่งเรื่อง แต่คติธรรม และสหธรรมยังก้าวตามไม่ทัน

ข้อมูลจากข่าวพี่น้องชาวไทยหลั่งไหลกันไปเที่ยววัดไชยวัฒนารามที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากที่เคยมีแค่เรือนพันคน จนเป็นเรือนหมื่นคนนั้น เป็นเรื่องที่ดีมากครับที่เกิดการค้าการขาย เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ให้พอลุกขึ้นนั่งได้บ้าง แต่ข่าวที่ออกมาว่านักท่องเที่ยวที่แต่งชุดไทยนั่งถ่ายรูปบนโบราณสถานสำคัญ ห้ามเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล จนทำให้เกิดความเสียหายแก่โบราณสถานโบราณวัตถุนั้น

อย่างนี้แหละที่เรียกว่าความล้าหลังทางวัฒนธรรม

จะเห็นได้ว่าชุดไทยที่สรรหากันมาแต่งเพื่อที่จะได้ถ่ายรูปโพสต์ในสื่อออนไลน์นั้น ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมทางเนติธรรมที่เกี่ยวข้องกับกฎกติกามารยาทในการเข้าชมโบราณสถานนั้นเจริญรุ่งเรืองขึ้นด้วย รวมทั้งคติธรรมในความรักและความหวงแหนโบราณสถาน ทั้งๆ ที่กำลังเป็นนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม อย่างนี้ เป็นต้น

รัฐบาลอย่าห่วงเรื่องการแต่งกายของคนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นชาวบ้านชาวช่องเลยครับ โดยทั่วไปคนไทยแต่งกายเหมาะสมแล้ว ไทยย้อนยุคบ้าง ไทยสมัยใหม่บ้างก็ปนเปกันไป ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทส่วนหนึ่งคนเขาก็แต่งชุดไทยกันอยู่แล้ว ไทยย้อนยุค ไทยสากลบ้าง ไทยพื้นบ้านบ้าง ตามแต่ความสะดวก ยิ่งชาวบ้านชาวช่อง ชาวบ้านร้านตลาดเขาก็แต่งเนื้อแต่งตัวเหมาะสมกับความเป็นคนไทยกันอยู่แล้ว แบบสมัยใหม่บ้าง แบบย้อนยุคบ้าง ดูสามจังหวัดชายแดนใต้สิครับ พี่น้องชาวมุสลิมแต่งกายได้เหมาะสมสวยงามขนาดไหน ทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด อย่าลืมว่านั่นก็คือชุดไทยนะครับ

ไม่ต้องลุกขึ้นมาแต่งชุดไทย สวมผ้าไทยแบบย้อนยุคกันพรึบๆ พรับๆ หรอกครับ ครม.ทั้งคณะของ คสช.จะแต่งก็แต่งไปเถอะ ท่านมีเงินค่าตัดชุดไทย ปล่อยชาวบ้านชาวช่องเขาไปตามปกติเถอะ ใครใคร่แต่งแบบไหนเชิญแต่ง

เรามา “สร้างชาติบ้านเมือง” กันเรื่องอื่นไม่ดีกว่าหรือครับ เป็นต้นว่า รณรงค์การอ่านหนังสือของเด็กและเยาวชน หนังสือมีเยอะครับ แต่วัฒนธรรมการอ่านไม่กระเตื้องเลย ไม่ต้องอ่าน “จินดามณี” ก็ได้ครับ แค่รู้ก็พอว่าจินดามณีเป็นตำราเล่มแรกของไทย เรามา รณรงค์กันเรื่องความสื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูรู้คุณต่อแผ่นดิน ความรักสามัคคี การกินอยู่แบบพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ใช้นาฬิกาเรือนละแสนเรือนละล้าน รณรงค์ให้ผู้มีหน้าที่บริการประชาชนเอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีต่อประชาชน

รณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมการบริหารให้บ้านเมืองเราน่าอยู่น่าอาศัย เป็นที่ประทับใจนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รณรงค์เรื่องไม่โกง เรื่องเคารพในสิทธิของประชาชน

วัฒนธรรมไทยแบบนี้ อย่างนี้ ไม่ดีกว่าเอะอะก็แต่งชุดไทย อะไรๆ ก็แต่งชุดไทยหรือครับ

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image