สุจิตต์ วงษ์เทศ : เพลงเจ้าการะเกด “ร้องเนื้อเต็ม” สนุกได้ใจป๊อปกว่าร้องดนตรีไทย “เอื้อนมากลากยาว”

พ่อเพลงแม่เพลงกำลังว่าเพลงโต้ตอบซึ่งเป็นต้นทางร้องเนื้อเต็มแบบบ้านๆ กลางวงลูกคู่กำลังช่วยกันปรบมือให้จังหวะ (ภาพปกหนังสือ เพลงนอกศตวรรษ ของ เอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2550)

เจ้าการะเกดเอย

ขี่ม้าเทศ                       ไปท้ายวัง

ชักกริชมาแกว่ง          จะแทงฝรั่ง

ใครห้ามก็ไม่ฟัง           เจ้าการะเกดเอย

Advertisement

เจ้าการะเกด เป็นเพลงร้องเล่นของชาวบ้านสามัญชนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ตั้งแต่เมื่อไร กำหนดอายุไม่ได้) มีตัวเอกเป็นชายชื่อ การะเกด ซึ่งเป็นชื่อกลางๆ ในยุคนั้น ไม่มีเพศ จึงเป็นชื่อทั้งหญิงและชาย

โดยเฉพาะในหมู่ลาวแล้ว “กาละเกด” เป็นชื่อตัวเอกในวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง แล้วเป็นเจ้าพ่อผู้นำชุมชนลาวพวนที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยสมัย ร.3 ไปตั้งหลักแหล่งทุกวันนี้อยู่พื้นที่ จ. นครนายก

พ่อแม่ร้องกล่อมลูกด้วยเพลงการะเกดบ้าง เพราะเป็นเพลงร้องเล่นทั่วไปใครๆ ก็ร้องได้ คิดอะไรไม่ออกจึงร้องเจ้าการะเกดกล่อมลูกไปพลางๆ

Advertisement

นักวิชาการสมัยหลังเลยจัดเป็นเพลงกล่อมเด็ก เพราะไม่มีประสบการณ์ชุมชนคนบ้านนอกขอกนา เลยไม่เคยได้ยินเด็กเลี้ยงควายร้องเจ้าการะเกด (กล่อมควาย?)

เพลงร้องเล่นกลุ่มนี้ ถ้าพูดอย่างดนตรีไทยก็เรียก “ร้องเนื้อเต็ม” แบบราษฎร์ (ไม่แบบหลวง) โดยร้องพร้อมกันไปกับดนตรีบรรเลงคลอเคล้าเข้ากันเหมือนเพลงลูกทุ่งสมัยนี้ ซึ่งจัดอยู่ในวัฒนธรรมป๊อป

[อานันท์ “ยี” หาญพาณิชย์พันธ์ เคยยกบทเจ้าการะเกด ไปเป็นสร้อยเพลงให้ดนตรีไทยร่วมสมัย “วงต้นกล้า” ในบรรยากาศการเมืองช่วง 14 ตุลาคม 2516 เนื้อหาขับไล่ฐานทัพอเมริกัน ฟังอร่อยสุดๆ ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ท่านพี่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนบอกเล่าอย่างละเอียดยิบในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 เมษายน 2561 หน้า 63]

ร้องเพลงเถา “เอื้อนมากลากยาว” เป็นประเพณีประดิษฐ์ใหม่ ของคนชั้นนำสมัย ร.4, ร.5 แล้วยกเป็น “ร้องเพลงดนตรีไทยแบบฉบับ” มีเอื้อนสลับซับซ้อนไม่ปกติ 3 ชั้น, 2 ชั้น, ชั้นเดียว มีดนตรีบรรเลงรับสลับร้องคนละคราว ไม่พร้อมกัน (เพราะได้ต้นแบบจากร้องเสภา)

แท้จริงแล้วเป็นกิจกรรมในวิถีหมู่คนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ แคบๆ  ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปแม้ในกรุงเทพฯ ก็ไม่ฟัง เพราะฟังไม่รู้เรื่อง จึงไปไม่ถึงท้องถิ่นทั่วประเทศ เพราะคนท้องถิ่นไม่รับ

อย่างนี้จะยัดเยียดทำไมให้เป็น “ร้องเพลงดนตรีไทยแบบฉบับ”?

ควรคิดใหม่ ทำใหม่ อย่างน้อยให้ “ร้องเนื้อเต็ม” แบบบ้านๆ มีพื้นที่อยู่เคียงข้าง “ร้องเถา” แล้วใครชอบอย่างไหนก็เลือกร้องเลือกฟังตามสะดวก และตามความถนัดของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน

บางคน “ได้หมด ถ้าสดชื่น” ชอบและเหมาะร้องเอื้อนมากลากยาวสลับซับซ้อนชั้นสูง แต่คนส่วนมากทำไม่ได้ เพราะหลอดลมไม่อำนวย แล้วชอบร้องเนื้อเต็มสบายๆ ไม่มีเอื้อน ร้องได้ไม่อั้น

ไม่ควรบังคับขู่เข็ญต้องร้องเถาเอื้อนมากลากยาวอย่างทุกวันนี้เพื่อความเป็นไทยตลกๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image