คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน การเปลี่ยนแปลงกับมูลค่าเพิ่ม : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ว่าไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ถูกวิธี ก็คือการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ในตัว

เพราะการบริหารธุรกิจ ก็คือการก่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง” ของทรัพยากรทางธุรกิจอันได้แก่ “บุคลากร วัตถุดิบ สิ่งของ เงินทุน ข้อมูลข่าวสาร เวลา และอื่นๆ” ด้วยการทำให้เกิด “มูลค่าเพิ่ม” จนเป็นสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าต้องการ

การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กร โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ทันต่อเหตุการณ์

ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะมีทั้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว (ไม่ใช่เกิดประจำ)

Advertisement

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดเป็นประจำตามกำหนดเวลา ได้แก่ การโยกย้ายบุคลากรประจำฤดูกาล การตรวจนับสินค้าประจำเดือน การจัดทำแผนการผลิตประจำเดือน การปรับราคาสินค้าประจำงวด เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เกิดเป็นประจำ (เกิดเป็นครั้งคราวหรือเกิดตามสถานการณ์) ได้แก่ การเปลี่ยนสินค้าตัวใหม่ การเปลี่ยนแปลงการออกแบบ การเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงาน การเปลี่ยนแปลงบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน การเปลี่ยนแปลงแผนผังหรือปรับโครงสร้างการปฏิบัติงาน การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของการปฏิบัติในสายงาน การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมี การเปลี่ยนแปลงที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ มักจะเป็นกรณีของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นประจำทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงการออกแบบ การเปลี่ยนแปลงบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน การเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงสร้างการปฏิบัติงานการติดตั้งอุปกรณ์ชนิดใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของการปฏิบัติในสายงานเหล่านี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

Advertisement

ส่วน การเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ มักจะเป็นกรณีของบุคลากร เช่น มีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องตามปกติหรือขาดสมาธิในการทำงาน การที่เครื่องจักรทำงานผิดปกติ มีความสั่นสะเทือนหรือมีเสียงผิดปกติ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย หรืออาจเกิดขึ้นในทันทีทันใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้เลย แต่ผู้ควบคุมงานหรือหัวหน้างาน จะต้องมีความสามารถในการสังเกตเห็นปัญหาเหล่านี้ให้ได้ด้วยตัวเอง การบริหารจัดการถึงจะมีประสิทธิภาพทันการณ์

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใดๆ ก็ตาม นอกจากการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้อีกด้วย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำนั้น มักจะก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมาเสมอ

การที่จะค้นพบการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำหรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้นั้น เราจะต้องเข้าใจถึงสภาพปกติในการปฏิบัติงานประจำวันให้ได้ก่อน โดยสภาพเหล่านั้นจะเกิดขึ้นในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง ดังนั้น ผู้บริหารหรือหัวหน้างานจึงจำเป็นต้องไปตรวจสอบพื้นที่จริงบ่อยๆ เพื่อที่จะค้นพบการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพราะการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง เพื่อตรวจสอบสภาพการณ์ต่างๆ จะทำให้เราสามารถมองเห็น “การเปลี่ยนแปลง” ต่างๆ ที่สร้าง หรือไม่สร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ได้ ครับผม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image