บทความ สำนักงานตำมั่วแห่งชาติ (4) โดย : วสิษฐ เดชกุญชร

กรณี จ.ส.ต.เลอศักดิ์ นนท์ขุนทด ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ว่านายตำรวจผู้บังคับบัญชาชั้นสารวัตรสั่งการให้หักเงินเบี้ยเลี้ยงจากตนและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อย 11 นาย เพื่อใช้ซื้อเครื่องปรับอากาศ สำหรับติดตั้งในห้องสืบสวนของสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินยังไม่จบครับ

หลังจากที่เกิดเหตุ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแสดงท่าทีว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่อง “ระดมทุน” ซึ่งสถานีตำรวจอื่นๆ ก็ปฏิบัติ และผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก็จะตั้งกรรมการสอบสวนคุณเลอศักดิ์ฐานร้องเรียนข้ามหน่วย ซึ่งเป็นการกระทำผิดระเบียบ

เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมีคำสั่งย้าย คุณเลอศักดิ์จากสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินไปอยู่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง และย้ายสารวัตรสืบสวนสองนายซึ่งเป็นผู้สั่งให้หักเบี้ยเลี้ยงตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินไปอยู่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองคนหนึ่ง และอีกคนหนึ่งไปอยู่สถานีตำรวจนครบาลสายไหม เหตุผลในการออกคำสั่งย้ายคือ “เพื่อให้การปฏิบัติราชการในภาพรวมของ บช.น.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และมิให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ”

ทางฝ่ายคุณเลอศักดิ์นั้นได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อสารวัตรตำรวจทั้งสองนายฐานประพฤติมิชอบ

Advertisement

เป็นที่เข้าใจว่าต่อไปนี้คณะกรรมการที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตั้งขึ้นก็คงจะสอบสวนคุณเลอศักดิ์และสารวัตรทั้งสองคน และสอบพยาน อื่นๆ จนกว่าจะปรากฏแน่ชัดว่าใครผิดใครถูก แล้วจึงจะเสนอผู้บัญชาการตำรวจนครบาลให้พิจารณาโทษของผู้ผิด การสอบสวนของคณะกรรมการเท่าที่เคยปรากฏมาแล้วนั้นไม่เคยเสร็จเร็ว แต่มักจะใช้เวลาเป็นเดือน และที่คนนอกไม่ค่อยทราบหรือเอาใจใส่ ก็คือกรรมการที่ตั้งขึ้นนั้นเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรทั้งสิ้น ไม่เคยมีนายตำรวจชั้นประทวนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนด้วยเลย

อันที่จริง ในขณะที่รอฟังผลการสอบสวนของคณะกรรมการอยู่นี้ สิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะดำเนินการควบคู่กันไปก็คือยกเลิกประเพณีการ “ระดมทุน” หรือบังคับให้ตำรวจบริจาคเงินโดยเด็ดขาด เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้พิสูจน์เองแล้วโดยไม่ต้องสงสัยว่าทำความเดือดร้อนให้แก่ตำรวจและไม่ใช่สิ่งที่ตำรวจต้องการ

การบังคับบริจาคหรือรีดไถตำรวจโดยตำรวจด้วยกันเองนั้นมีมาช้านานแล้ว สมัยที่ผมยังอยู่ในราชการตำรวจนั้น เวลาจะเดินทางไปราชการต่างจังหวัดและขอเบิกเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักมักจะถูกเจ้าหน้าที่การเงินหักเงินที่เบิกเสมอ มากบ้างน้อยบ้าง โดยอ้างว่าเป็นค่าอำนวยความสะดวก ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าหน้าที่การเงิน บางทีก็โดนผู้บังคับบัญชาที่เดินทางไปราชการด้วยกันนั่นแหละที่บังคับให้ร่วมบริจาคเงินเพื่อเอาไปซื้อของกำนัลให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตน ของกำนัลที่นิยมกันมากสมัยนั้นก็คือเหล้า และบุหรี่ต่างประเทศ

Advertisement

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน และท่าทีของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแสดงว่าประเพณีนี้ยังไม่สูญหายไป

ถ้ายังปล่อยให้มีประเพณีเช่นนี้อยู่ต่อไปอีก ตำรวจชั้นผู้น้อยก็จะถูกบังคับให้ต้องหาเงินมาจุนเจือ และเงินที่จะหามาได้นั้นก็คงไม่มาจากที่อื่น นอกจากประชาชนที่จะต้องรับเคราะห์อีกต่อหนึ่ง

รากเหง้าของปัญหาเรื่องส่วยตำรวจและตำรวจรีดไถนั้นไม่ได้อยู่ที่อื่นหรอกครับ แต่อยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นเอง

จะเอาจริงกันหรือยังครับ หรือว่าจะปล่อยไปตามยถากรรม?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image