กัญชาจะเป็นสมุนไพรได้หรือไม่ และมีความชอบธรรมเพียงใด : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

มีการกล่าวในทางวิชาการสมุนไพรว่า พืชทุกชนิดมีสมบัติทางยา เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น และคนเราที่ประเมินค่าว่าสมบัติทางยาที่พืชแต่ละชนิดมีอยู่นั้นจำเป็นและคุ้มค่าที่จะจัดพืชชนิดนั้นเป็นสมุนไพรหรือไม่ เพราะพืชบางชนิดในต้นเดียวกันมีทั้งสารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและสารพิษรวมอยู่ด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เขียนเคยคุยกับผู้มีความรู้ทางสมุนไพร เขากล่าวว่า เขากระทิงก็มีคุณสมบัติเหมือนเขากวาง เพียงแต่มีสมบัติทางยาอ่อนกว่า ต้องใช้เขากระทิง 10 เท่าถึงจะเทียบเท่าเขากวางอ่อน และขิงก็มีคุณสมบัติเหมือนโสมแต่ต้องกินขิงปริมาณมากๆ ถึงจะได้สารอาหารที่จำเป็นเท่ากับโสมเพียงหยิบมือเดียว แต่เมื่อกินขิงมากขนาดนั้นแล้วก็จะร้อนในไปเสียก่อนที่จะได้รับประโยชน์ใดๆ และอาจถึงชีวิต

ที่เกริ่นอย่างนี้มีความจำเป็น เพื่อที่จะกล่าวถึง กัญชา ว่าโดยสภาพแล้วมีความเป็นสมุนไพรมากน้อยเพียงใ

จากที่ดูความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายต่างประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเรื่องกัญชามีการโต้แย้งกันตลอดมาร่วม 30 ปีที่ผ่านมา แต่ก็พบว่าเรื่องนี้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิดความเชื่อและแนวทางการปราบปราม ในเรื่องนี้พบว่า มีแนวคิดหรือทางเลือกอยู่สองทาง

Advertisement

แนวทางที่ 1 ถ้าให้กัญชาเป็นยาเสพติดเหมือนเดิมแต่ผ่อนคลายความเข้มงวด อย่างในต่างประเทศ ก็ให้เสพได้เฉพาะในสถานที่ที่รัฐกำหนดตามกฎหมาย ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ มีกระบวนการรักษา และการค่อยๆ ถอนยาควบคู่ไปด้วย หากบุคคลใดปฏิเสธการรักษาหรือการถอนยา ก็ให้เสพต่อไปภายใต้การควบคุม แต่วิธีนี้หมายความว่ายอมรับแล้วว่าเป็นสารเสพติดที่ไม่ค่อยมีพิษต่อร่างกายคล้ายๆ บุหรี่ แต่สถานภาพด้อยกว่าบุหรี่เพราะอันตรายกว่า และต้องมีการควบคุมเข้มงวดกว่า

แนวทางที่ 2 ถ้าอนุโลมให้กัญชาเป็นสมุนไพร ก็ให้มีการควบคุมผู้จำหน่าย เช่นขึ้นทะเบียนผู้จำหน่าย หรือจำหน่ายโดยร้านยาสมุนไพร จำหน่ายโดยโรงพยาบาล และให้มีการควบคุมการใช้ เช่น ใช้ได้เฉพาะในเคหสถาน ใช้ได้ต่อเมื่อได้ขึ้นทะเบียนต่อทางราชการแล้ว หรือใช้ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ใช้ได้ แต่ถ้าให้เป็นพืชสมุนไพรแล้ว คล้ายๆ จะมีสถานภาพดีกว่าบุหรี่ เพราะเราไม่เคยมีความคิดเห็นว่าบุหรี่เป็นสมุนไพรเลย (กลับกลายเป็นว่ากัญชามีความเป็นสมุนไพรมากกว่าบุหรี่ ซึ่งก็ดูค้านกับแนวคิดของไทยเป็นอย่างมาก)

เช่น โปรตุเกส มีคณะกรรมการยับยั้งการติดยา ประกอบด้วยกรรมการหลายสาขาอัน ได้แก่ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และนักสังคมวิทยา คณะกรรมการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ใช่กระทรวงยุติธรรม เขาอาจจะมีแนวคิดว่าการใช้ยาเสพติดเป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อาชญากรรม และผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจิตจะเป็นผู้ที่แก้ปัญหานี้ ซึ่งตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษาจะไม่มีบทบาทใดๆ ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว

Advertisement

มีการบัญญัติกฎหมายให้แพทย์สามารถออกใบสั่งให้ใช้กัญชารักษาการติดยาการใช้โปรแกรมรักษาการติดยาที่มีคุณภาพ การจัดตั้งศาลยาเสพติด การใช้โปรแกรมยาทดแทนยาเสพติด (เช่น เมธาโดน) การบัญญัติกฎหมายให้ผู้ติดยาที่มีอาการเสพยาเกินขนาดเข้ารักษาในสถานพยาบาลได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการซักถามและไม่มีการดำเนินคดีอาญาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ประเทศฝรั่งเศส มีนโยบายลดทอนความคิด (decriminalization) ของความผิดที่เกี่ยวกับการใช้กัญชาลง หากเป็นการใช้ส่วนตัว โดยใช้การลงโทษน้อยแต่เพิ่มการบำบัด ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การปลูกกัญชาไม่เกิน 4 ต้น และใช้กัญชาส่วนบุคคลไม่เป็นความผิดอาญา แต่ยังห้ามการปลูก การผลิตเพื่อการค้าการกระทำความผิดลหุโทษในคดียาเสพติดนั้น เจ้าหน้าที่อาจงดการลงโทษได้ โดยใช้การตักเตือนแทน

ส่วนในประเทศเยอรมนี มีกฎหมายให้อำนาจอัยการที่อาจจะสั่งไม่ฟ้องผู้กระทำผิดในคดียาเสพติดที่มีปริมาณเล็กน้อย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น หรือมีไว้เพื่อใช้ส่วนตัวและไม่กระทบต่อความปลอดภัยของสาธารณะโดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากศาล และในกรณีที่อัยการดำเนินการสั่งฟ้องไปแล้ว ศาลอาจยุติกระบวนการได้โดยพิจารณาความยินยอมของอัยการและผู้กระทำความผิด การมีกัญชาต่ำกว่า 10 กรัม ไว้ในครอบครองไม่ต้องถูกดำเนินคดี

ส่วนในสหรัฐอเมริกา กฎหมายในระดับรัฐบาลกลางกับระดับมลรัฐมีความแตกต่างกัน เพราะแต่ละมลรัฐมีกฎหมายแตกต่างกันไป ในมลรัฐโคโลราโดยังอนุญาตสำหรับการปลูกกัญชาได้ไม่เกิน 6 ต้น เพื่อใช้เป็นการส่วนตัว ในขณะที่มลรัฐวอชิงตันยังห้ามการปลูก แต่ผู้ต้องการเสพสามารถหาซื้อจากร้านค้าที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ แม้ทั้งสองมลรัฐให้การเสพส่วนตัวไม่ผิดกฎหมายแต่กฎหมายรัฐบาลกลางยังให้กัญชาเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย

สำหรับประเทศไทยนอกจากกัญชาแล้ว ยังมีพืชกระท่อมที่คนบางพื้นที่นิยมชงดื่มกินมานานในทางกฎหมายกระท่อมเป็นยาเสพติด แต่ถ้าถามนักสมุนไพร เขาจะบอกว่ามีคุณสมบัติทางสมุนไพรเดิมกระท่อมใช้เพื่อการทำงานโดยการเคี้ยวใบสดทำให้สามารถทำงานกลางแดดได้นาน เช่น งานของคนขับรถบรรทุก งานเกษตรกรรม ทำไร่ ผู้ใช้กระท่อมจะเคี้ยวใบกระท่อมกินกับน้ำชา กาแฟ บางคนผสมกับน้ำอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ในเอเชียอาคเนย์รู้จักกระท่อมมานานแล้ว

มีเหตุผลหลายประการในปัจจุบันที่สนับสนุนและให้น้ำหนักกัญชาให้เป็นสมุนไพร เพราะพบว่ากัญชากระตุ้นให้เจริญอาหาร ทางการแพทย์จึงเลือกใช้สารบางอย่างในกัญชามาใช้กับผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องให้รับประทานอาหารได้ดียิ่งขึ้น กัญชายังใช้เป็นยาลดความดันในนัยน์ตาของคนเป็นต้อหิน กัญชาป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ ล่าสุด พบว่ากัญชาลดการอักเสบของสมองและไขสันหลัง

มีงานวิจัยเร็วๆ นี้พบว่าสารบางอย่างในกัญชาที่เรียกว่า THC มีสูตรโครงการทางเคมีชื่อ Dronabinol ยับยั้งอัลไซเมอร์ และกลุ่มสารเคมีในกัญชามีสรรพคุณในการฆ่าเซลล์มะเร็ง นำมาใช้ควบคู่กับการฉายแสงได้ทำให้คนไข้ตอบสนองกับการบำบัดด้วยการฉายรังสีได้ดีขึ้น และในตำราพื้นบ้านล้านนาใช้เม็ดกัญชาผสมกับพริกไทย 3 ผล ผสมน้ำกินทุกคืนเป็นยาคุมกำเนิดสำหรับสตรีได้

จะเห็นว่าพืชชนิดนี้อาจมีประโยชน์ต่อมนุษย์มากทีเดียวถ้าได้รับการจัดการที่ดีจากภาครัฐ แต่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต้องทำด้วยความรัดกุม เพราะการใช้พืชสมุนไพรแม้เป็นสมุนไพรธรรมดาก็ยังต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

โดยสรุปคือ ถ้าให้กัญชาและพืชกระท่อมขยับฐานเป็นสมุนไพร สถานภาพจะดีกว่าบุหรี่แต่ถ้าให้กัญชาและพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดที่ผ่อนคลายความเข้มงวด สถานภาพของกัญชาและพืชกระท่อมจะด้อยกว่าบุหรี่ แต่ก็ยังดีกว่าฐานะเดิม การที่ดีกว่าฐานะเดิมนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะบางทีเมื่อมีการศึกษาเกี่ยวกับพืชสองชนิดนี้อย่างจริงจังเราอาจจะพบสารประกอบที่มีโทษรุนแรงกว่าที่เคยรับรู้กัน หรืออาจจะพบสารที่ทั้งเป็นคุณและโทษแบบใหม่ ซึ่งก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกันอีกทีว่าสมควรใช้อย่างสมุนไพรหรือไม่เพราะหากค้นพบสารที่มีประโยชน์ในกัญชาแล้ว ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันก็สามารถสกัดสารที่มีประโยชน์จากกระบวนการทางเคมีในห้องแล็บโดยตรงได้ เพียงแค่เรารู้พันธะทางเคมีและสูตรทางเคมีของสารนั้นๆ ก็ไม่ต้องพึ่งพาสารตั้งต้นจากพืชอย่างกัญชาเลย

ทุกวันนี้ตัวยาต่างๆ ก็ได้จากห้องแล็ปเสียส่วนใหญ่ เพราะการใช้กัญชาอย่างพืชสมุนไพรนั้นได้ไม่คุ้มเสีย อย่าลืมว่ากัญชาคือยาเสพติด ที่ยอมรับกันมาหลายศตวรรษแล้ว

ทุกวันนี้ในวงการผลิตภัณฑ์ยา แทบจะไม่มียาอะไรตัวใหม่ แต่ก็พยายามรักษาสถานภาพ (ความมั่งคั่ง) เอาไว้อย่างถึงที่สุด ซึ่งปกติแล้วการมีสิทธิบัตรก็เป็นการหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมยาได้ดีที่สุดอยู่แล้ว แต่ก็ได้มีความพยายามยืดขยายความคุ้มครองออกไป ทุกวันนี้มีการนำยาตัวเก่าไปดัดแปลงสูตรทางเคมีเพียงเล็กน้อย แล้วจดสิทธิบัตรเป็นยาตัวใหม่ และมีการนำยาสองชนิดมาผสมรวมกัน (combination) แล้วจดสิทธิบัตรเป็นยาอีกตัวหนึ่ง หรือ นำสูตรตัวยาสูตรเดิมมาเพิ่มสารปรุงแต่งเข้าไป เช่น จากยาตัวเดิมที่ต้องทานวันละ 3 เวลา เมื่อเติมสารบางชนิดทำให้ทานแค่วันละครั้ง แล้วยาจะค่อยๆ ปล่อยตัวยาทีละนิดครอบคลุมการใช้ยาตลอดวัน หรือการนำยาสูตรเดิมมาเพิ่มสารช่วยให้ละลาย แล้วจดสิทธิบัตรเป็นยาตัวใหม่ หรือเมื่อนำยาตัวเดิมไปใช้เรื่อยๆ แล้วพบว่าสามารถรักษาอาการอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก ก็นำมาจดสิทธิบัตรใหม่ โดยอ้างว่าพบผลการรักษาใหม่ เป็นการขยายอายุและเป็นการขยายขอบเขตสิทธิบัตรออกไปไม่จบไม่สิ้นและไม่มีวันตายจากยาตัวเดิม เรียกว่า evergreening patent

การกระทำอย่างนี้สร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมยาอย่างมาก แต่ผู้ใช้ยาต้องซื้อยาแพงเรื่อยๆ ไปเพราะเหมือนกับว่ายาตัวใดๆ ก็ตามที่จดสิทธิบัตรไว้ก็ไม่มีวันหมดอายุที่กฎหมายคุ้มครองเลยสักที นี่เป็นปัญหาใหญ่ของการสาธารณสุขของโลกเราขณะนี้ และจะมีลักษณะแบบนี้ไปอีกกี่ปีไม่อาจทราบได้

ดังนั้น การที่จะทำอะไรให้เป็นยาสมุนไพร หรือการนำพืชนิดไหนมาเป็นสมุนไพร หรือยกฐานะพืชอะไรที่ไม่เคยคิดว่าเป็นสมุนไพรมาเป็นสมุนไพรนั้น จึงเป็นเรื่องใหญ่ในความคิดของผู้เขียนโดยเฉพาะเรื่องกัญชานี้ นับว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้ากัญชาเป็นสมุนไพรแล้วเท่ากับปล่อยให้เข้ามาในผลิตภัณฑ์ยา และจะพลิกแพลงในโลกกว้างของยาอีกนานาประการ

ที่กล่าวอย่างนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในประเทศต่างๆ ที่กล่าวมานั้นอาจจะไม่เกี่ยวกับความรู้ทางการแพทย์ดังที่กล่าวข้างต้นนั้นก็ได้เพราะการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายอาจมีเหตุผลอย่างอื่น คนธรรมดาอย่างเราไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องพวกนี้เพราะอุตสาหกรรมนี้เดิมพันสูงและไม่เปิดเผยมากนัก อีกทั้งทางด้านการค้าผลิตภัณฑ์ยานั้นก็มีความซับซ้อนเกี่ยวโยงด้วยประโยชน์หลายอย่างหลายหน่วยงานที่อาจจะคาดไม่ถึง และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้น อาจไม่ได้ให้น้ำหนักทางศีลธรรมเท่าใดนัก

ไม่ต้องกล่าวให้มากความไปเลย เพราะในประวัติศาสตร์โลกนั้น สงครามฝิ่นก็เคยมีมาแล้ว

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image