‘ไทย’ = ‘ญี่ปุ่นสอง’? โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

สื่อต่างชาติอย่าง “ดิ อีโคโนมิสต์” เพิ่งเผยแพร่รายงานวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยออกมา และดูเหมือนจะถูกพูดถึงอยู่บ้างตามสมควรในหมู่ผู้อ่านวงเล็กๆ

มาว่ากันถึงข้อดีก่อน

จุดแข็งเดียวของสภาพเศรษฐกิจไทยที่รายงานชิ้นนี้กล่าวถึง ก็คือ รายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ในปี 2560 ซึ่งพอจะชดเชยความต้องการที่เซื่องซึมซบเซาของผู้บริโภคภายในประเทศได้บ้าง

ทว่าจุดใหญ่ใจความสำคัญจากรายงานของ “ดิ อีโคโนมิสต์” ก็คือ ความวิตกกังวลว่าไทยกำลังจะดำเนินรอยตามญี่ปุ่น ในแง่ร้าย มิใช่แง่ดี

Advertisement

สื่อต่างชาติสำนักนี้วิเคราะห์ว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยกับญี่ปุ่นนั้นเหมือนกัน คือ มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ ส่งผลให้การทำมาค้าขายฝืดเคือง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวน้อยมาก สภาพเศรษฐกิจโดยรวมก็ชะลอตัวต่อเนื่องนานหลายปี

ที่น่าหนักใจยิ่งขึ้น ก็ได้แก่การที่ไทยดันมีโครงสร้างประชากรแบบเดียวกันกับสังคมญี่ปุ่นเมื่อ 25 ปีก่อน คือ มีประชากรสูงวัยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังการประเมินโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ที่ชี้ว่าอีกสี่ปีข้างหน้า ประชากรจำนวนร้อยละ 14 ของประเทศ จะเป็นผู้สูงวัย ซึ่งมีอายุ 65 ปีขึ้นไป

Advertisement

ด้วยสาเหตุหลักเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ “ดิ อีโคโนมิสต์” เป็นห่วงว่าไทยกำลังจะกลายเป็น “ญี่ปุ่นสอง” 

แถมอาการของไทยยังอาจหนักหนาสาหัสกว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นเคยประสบ เพราะในขณะที่ญี่ปุ่นเผชิญหน้ากับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและประชากรเช่นนั้น เมื่อตนเองมีสถานภาพเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว”

แต่ไทยจะมีสถานะเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” รายแรกสุด ที่ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย ท่ามกลางภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ยากลำบากที่กำลังคืบคลานมาถึง สื่อต่างชาติรายนี้แนะนำว่าไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการผลิตแบบจักรกล ในสภาพการณ์ที่จะมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากรอรับ/พึ่งพาสวัสดิการจากภาครัฐ ทว่ากำลังการผลิตของประเทศกลับมีขนาดเรียวเล็กลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี “ดิ อีโคโนมิสต์” วิจารณ์ว่านโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาคของไทยนั้นมีลักษณะ “ตั้งรับ” มากเกินไป เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยทำผิดพลาดมาแล้ว

ที่มาของปัญหาข้อนี้ เกิดจากนโยบายอนุรักษนิยมทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญแก่เสถียรภาพค่าเงินเป็นหลัก เห็นชัดจากการยืนกรานไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยลง

ปัญหาซ่อนเร้นอีกหนึ่งประการที่ “ดิ อีโคโนมิสต์” กังวลว่าจะยิ่งผลักไสให้ไทยเดินซ้ำรอยญี่ปุ่นอย่างหนักแน่นขึ้นไปอีก คือ ท่าทีไม่ต้อนรับผู้อพยพ เห็นได้จากการออกกฎหมายควบคุมแรงงานต่างด้าวของรัฐบาลไทย ทั้งๆ ที่ผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นกำลังสำคัญในภาคการผลิต ซึ่งเข้ามาแทนที่เหล่าประชากรผู้สูงวัยภายในประเทศ

ไม่ว่ามุมมอง/คำทำนายของสื่อต่างประเทศเจ้านี้จะแม่นยำแค่ไหน หรืออาจมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนปะปนอยู่บ้างเพราะมองโลกในแง่ร้ายเกินไป

แต่นี่คือหนึ่งใน “การบ้าน” โจทย์สำคัญ ที่จะดำรงอยู่เคียงคู่กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มรดกต่างๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และการมาถึงของรัฐบาลในอนาคต

…………………..

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image