ศาสนา รัฐ และศาสนิก ผู้ประกาศธรรม โดย : กล้า สมุทวณิช

สิ่งหนึ่งซึ่งมนุษย์ในทุกวัฒนธรรมนั้นมีอยู่ตรงกัน คือ “ศาสนา” คือความเชื่อ และคุณค่าความดีงามทางจิตใจมนุษย์ที่เป็นระบบ

ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่า “ศาสนา” นั้นมีสองระดับมิติ

ระดับแรก คือมิติเชิงจิตวิญญาณ ได้แก่การให้คำตอบต่อชีวิตว่า สิ่งที่เป็นเรา ตลอดถึงโลกกายภาพสรรพสิ่งทั้งที่มีและไม่มีชีวิตซึ่งล้อมรอบตัวเรานี้มีที่มาจากไหน มีกลไกอย่างไร และเมื่อเราละจากความเป็นอยู่ในโลกเช่นนี้แล้ว เราจะไปไหนและเป็นอย่างไรต่อไป

ส่วนมิติระดับที่สองของศาสนา คือ คุณค่าความดีงามในจิตใจ ว่าเราพึงปฏิบัติตนอย่างไรในโลกกายภาพนี้ เราสัมพันธ์ต่อผู้อื่นอย่างไร หรือควรปฏิบัติหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติอะไร โดยเชื่อว่าการกระทำอย่างหนึ่งจะทำให้เรามีระดับจิตหรือคุณค่าแห่งชีวิตที่สูงขึ้น ซึ่งเรียกว่า “ความดี” ส่วนสิ่งที่ไม่ใช่และตรงข้ามกับความดีนั้น จะทำให้เราตกร่วงลงสู่ความเสื่อมต่ำในทางจิตวิญญาณหรือความเป็นมนุษย์ นั่นคือ “ความชั่ว”

Advertisement

ซึ่งทุกศาสนาก็ถือว่า “ความดี” และ “ความชั่ว” นั้นเองที่ส่งผลทั้งต่อมิติในโลกกายภาพ ซึ่งทำให้เรามีความสุขหรือทุกข์ในชาตินี้ และที่จะเกิดขึ้นและเป็นไปภายหลังจากที่เราละทิ้งโลกกายภาพนี้ไปแล้ว ด้วยความตายของกายเนื้อ

มิติระดับที่สองของศาสนานี้เอง ที่ส่งผลให้มนุษย์อยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุขและมีระเบียบแบบแผนอย่างเดียวกัน เพราะทุกคนจะรู้ว่าเราควรทำอะไร และพึงละเว้นอะไรต่อผู้อื่นและสังคม จึงอาจถือว่าศาสนาเป็นเหมือน “กฎหมาย” เบื้องต้นที่สุดของมนุษย์ที่มาอยู่รวมกันเป็นสังคม

และเมื่อสังคมเติบโตขึ้นเป็นรัฐ แรกเริ่มนั้นผู้ทรงอำนาจจะเข้ามาใช้อำนาจเพื่อบังคับการให้ผู้คนในสังคมรัฐนั้นประพฤติปฏิบัติตนสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่อิงกับศาสนา ก่อนที่จะพัฒนาแยก “กฎหมาย” ออกไปจากศาสนาหรือศีลธรรม เป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ที่ไม่ต้องขึ้นกับศีลธรรมหรือพระเจ้า

Advertisement

ในปัจจุบัน รัฐประเทศที่ยังคงหลักการอย่างแรก เรียกกันในทางวิชาการว่า “รัฐศาสนา” (Religion state) และรัฐประเทศที่ถือหลักการอย่างที่สอง เรียกว่า รัฐฆราวาส (Secular state) แต่กระนั้นระดับความเข้มอ่อนของแต่ละฝั่งฟากก็ยังมีความหลากหลายของเฉดสี

ด้านปลายสุดของรัฐศาสนา คือรัฐประเทศที่ถือว่าคำสอนทางศาสนาและกฎหมายคือสิ่งเดียวกัน จึงปกครองด้วยหลักศาสนาเป็นสิ่งเดียวกันกับกฎหมายบ้านเมืองโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ก็ยังมีกรณีที่เข้มข้นลดลงมา คือรัฐที่ค่อนไปในทางศาสนาซึ่งถือกฎเกณฑ์คำสอนทางศาสนานั้นที่มีคุณค่าเสมอกันกับกฎหมายของรัฐที่ยึดถือใช้ควบคู่กัน และที่เบาลงมาอีกระดับ คือการยอมรับว่าเป็นรัฐที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งรัฐจะต้องเข้าไปสนับสนุนส่งเสริม หรือใช้กลไกแห่งกฎหมายและอำนาจรัฐในการปกป้องคุ้มครองศาสนานั้น

ส่วนปลายสุดอีกข้างทางฝั่งรัฐฆราวาส คือรัฐที่ตัดเรื่องศาสนาออกจากการปกครองโดยสิ้นเชิง อาจจะเข้มข้นจนถือว่าศาสนาเป็นเรื่องต้องห้ามเด็ดขาด หรือที่ผ่อนปรนลงมาให้เป็นเสรีภาพส่วนบุคคลแต่ห้ามการแสดงออกเชิงศาสนาหรือความเชื่อต่อสาธารณะหรือในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ไม่เช่นนั้นก็จะยอมรับให้คุณค่าเป็นเพียงวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมส่วนบุคคลที่รัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือให้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งศาสนาได้โดยเสรีไม่จำกัด โดยรัฐจะเข้าไปรับรองคุ้มครองให้ประชาชนในเสรีภาพเช่นว่านั้นได้ในทุกศาสนาโดยเท่าเทียมกัน

กระนั้นความเชื่อทางศาสนายังปรากฏร่องรอยอยู่ในทางการเมืองการปกครอง คือแม้แต่ประเทศที่ปกครองอย่างโลกวิสัยเต็มรูปแบบ แต่ “แบบพิธี” บางอย่างเช่นการปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่งของประมุขรัฐ ยังต้องให้สัตย์สาบานต่อ “พระเจ้า”

สําหรับประเทศไทยเรานั้น ในทางรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นรัฐฆราวาสที่โน้มเอียงไปในแดนของรัฐศาสนา เพราะแม้ว่าในทางรัฐธรรมนูญจะไม่มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่กำหนดให้องค์พระประมุขแห่งรัฐคือพระมหากษัตริย์จะต้องทรงเป็นพุทธมามกะ

ก่อนหน้านี้มีการต่อสู้เพื่อให้มีบทบัญญัติกำหนดพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติโดยกลุ่มชาวพุทธผู้ครัดเคร่งมุ่งมั่นในทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การต่อสู้ที่ยาวนานนี้ได้รับชัยชนะบางส่วน เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พุทธศักราช 2560) ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 67 รับรองว่ารัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา (แบบเถรวาท) อันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานเป็นพิเศษ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องความเชื่อทางศาสนา ตามมาตรา 17 แห่งรัฐธรรมนูญ และมาตรา 31 รับรองให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา ซึ่งเป็นเสรีภาพที่บริบูรณ์ที่สุด เพราะไม่สามารถตรากฎหมายขึ้นมาจำกัดได้ เว้นแต่ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญว่า การปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตนนั้นต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

หากในเชิงประเพณีการปกครองและใช้อำนาจรัฐแล้ว ศาสนาพุทธถือเป็นศาสนาประจำชาติในทางความเป็นจริง เช่นในรัฐพิธี หรือกิจกรรมระดับหน่วยงานของรัฐ จะต้องมี “พิธีพุทธ” เช่น การทำบุญประจำปีของหน่วยงาน การสวดมนต์ไหว้พระหรือบูชาพระรัตนตรัยก่อนดำเนินกิจกรรมทางการต่างๆ ตลอดจนการกำหนดให้มีวิชา “พระพุทธศาสนา” เป็นวิชาบังคับในโรงเรียน

ในระดับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามีบทบัญญัติคุ้มครองศาสนาไว้ ในลักษณะ 4 ความผิดเกี่ยวกับศาสนา โดยห้ามผู้ใดกระทำสิ่งใดอันเป็นการเหยียดหยามแก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา ห้ามก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนที่ร่วมในพิธีกรรมตามศาสนารวมถึงห้ามแต่งกายหรือแสดงตนว่าเป็นนักบวชในศาสนาใดๆ ซึ่งความผิดเหล่านี้มีโทษทางอาญา ตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามแต่ข้อหาความหนักเบา นอกจากนี้ก็มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ที่กำหนดความผิดและโทษต่อผู้กระทำผิดต่อพระสังฆราช ต่อคณะสงฆ์ หรือต่อวินัยสงฆ์ในหลายกรณี

ที่กฎหมายอาญานั้นคุ้มครองศาสนา ตลอดจนวางบทกำหนดโทษต่อการล่วงเกินศาสนานั้น นอกจากจะเป็นการคุ้มครองตัวศาสนาแล้ว อีกนัยหนึ่งก็เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายหรือกรณีพิพาทที่เป็นประเด็นจากเรื่องศาสนา รวมถึงการคุ้มครอง “จิตใจ” ของผู้ที่นับถือศาสนา มิให้ถูกละเมิดจากการลบหลู่ดูหมิ่นในคุณค่าทางจิตใจที่นับถือนั้นโดยไม่สมควร

นั่นเพราะว่า ศาสนานั้นคือคุณค่าทาง “จิตใจ” และจิตวิญญาณ ของมนุษย์ แต่ด้วยว่าความที่ศาสนานั้นมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามความเชื่อ แต่เมื่อมนุษย์แต่ละคนเชื่อว่า “ศาสนา” หรือสิ่งที่ตนเคารพยึดมั่นในคุณค่าระดับศาสนานั้น เป็นสิ่งที่สูงที่สุด เป็นสัจจะอันถูกต้องที่สุด ความรู้สึกนั้นอาจจะเข้มข้นรุนแรงจนล้ำเลยไปจนมองว่าศาสนาอื่นหรือความเชื่ออื่น นั้นเป็นเรื่องเทียมเท็จ หลงผิด หรือไม่ใช่หนทางอันประเสริฐแท้จริงที่จะช่วยให้พ้นทุกข์

และก็มีพวกที่ล่วงไปไกลกว่านั้น คือการมองว่าการที่ผู้อื่นไม่นับถือ หรือปฏิเสธศาสนาหรือความเชื่อ หรือพระเจ้าองค์เดียวกันตน ก็เท่ากับเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น ล่วงละเมิดต่อ “พระเจ้า” หรือ “ศาสนา” ที่ตัวเองนับถือโดยอัตโนมัติแล้ว

เช่นนี้จึงมีผู้ปฏิบัติบูชาศาสนาของตน ด้วยการหมิ่นหยามศาสนาของผู้อื่น หรือกระทั่งเหล่าผู้อ้างตนว่าเป็นผู้ไม่นับถือศาสนา ก็ใช้การลบหลู่ศาสนาและความเชื่อทั้งปวงต่างพิธีกรรมทางศาสนาของศาสนาที่ชื่อว่า “ไม่มีศาสนา”

หากเบื้องหลังการลบหลู่ดูหมิ่นนั้น ใช่หรือไม่ว่าแท้แล้วเบื้องหลังอาจจะเป็น “ความรัก” และ “ความปรารถนาดี” ต่อเพื่อนมนุษย์ ที่ข้ามพ้นไปสู่เขตแดนแห่งความกลัว จากความกลัวไปสู่ความเกลียด ที่นำไปสู่ความก้าวร้าวรุนแรงและการทำลาย

ความรักที่ห่วงว่าคนอื่นจะไม่ได้พบ หรือถอยห่างจากพระเจ้าที่เรานับถือ จนพลาดไม่ได้รับความรักอันบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่ของพระองค์ ในบางศาสนาการปฏิเสธพระเจ้านั้นเป็นบาปที่จะทำให้ตกนรก ซึ่งความรักของเรานั้นไม่อยากให้ผู้ที่เรารู้จักหรือใครแม้แต่คนเดียวจะต้องลงไปสู่อบายภูมิด้วยความไม่รู้นั้น

หรือความรักที่เกรงว่าคนอื่นจะไม่ได้พ้นทุกข์ด้วยหนทางอันประเสริฐหนึ่งเดียว การแสวงหาความดับทุกข์ด้วยหนทางอื่นเช่นการวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์อื่นใดก็ไม่ใช่หนทางอันจริงแท้ที่จะทำให้ล่วงทุกข์จากวัฏสังสาร

ผู้ที่มีความรักจนเกินเลยไปสู่ความกลัว จึงต้องทำลายสิ่งที่ตนเห็นว่าจะทำให้เพื่อนมนุษย์นั้นหลงผิดไปในหนทางนั้น เช่นการประณามพระเจ้าที่มีพระลักษณ์หรือพระนามแตกต่างจากพระเจ้าของตน การหมิ่นเหยียดวิธีดับทุกข์หรือแสวงสุขทางกามหรือโลกวิสัยโดยชอบของผู้อื่นว่าเป็นความเสื่อมต่ำหรือเป็นความสุขอันเลวทราม หรืออย่าง “ผู้ไม่มีศาสนา” ก็มองว่าการที่ผู้คนนับถือศาสนาอยู่นั้นทำให้มนุษยชาติโง่งม จึงต้องล้มล้างง้างคัดเพื่อทำลายความเชื่อทางศาสนาทั้งหลายนั้นลง

เราจึงได้เห็นผู้ส่งสารจากพระเป็นเจ้าที่ก้าวร้าวจาบจ้วง ผู้ปฏิบัติธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยทีท่าอันถือดีวางตนสูงส่งจนเผลอกดผู้อื่นลงต่ำเพื่อแสดงธรรมโปรด หรือบรรดาเอธิสต์ผู้มีภารกิจในการลบหลู่ดูหมิ่นพระเจ้าทุกองค์และคำสอนทุกเรื่อง

หนทางแสดงความรักและความหวังดีต่อความเชื่อของผู้อื่นด้วยความก้าวร้าวถือดี วิธีการเผยแผ่ศาสนา (หรืออศาสนา) เช่นนั้นไม่เคยได้ผลที่จะลบล้างหรือเปลี่ยนความคิดความเชื่อใคร ทั้งรังแต่จะสร้างความเกลียดชังและความรุนแรง ที่ไม่ว่าพระเจ้าองค์ใด หรือพระศาสดาผู้ใดคงมิปรารถนาพึงใจ

จะดีกว่าหรือไม่ หากการเผยแผ่ศาสนาที่ท่านเชื่อและนับถือนั้น คือการแสดงให้เห็นว่า “คนของพระเจ้า” ผู้มีฉายาลักษณ์เช่นเดียวกับพระองค์นั้น มีความรักและเมตตาอันไม่จำกัดให้ผู้คนมากเท่าไร เผื่อแผ่แบ่งปันแค่ไหน เคารพให้เกียรติและถือสัจจะต่อผู้อื่นอย่างไร หรือผู้ถือธรรมะอันเป็นหนทางพ้นทุกข์ของพระพุทธองค์นั้น มีความสุข ปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย ร่มเย็นเมื่ออยู่ใกล้ และสามารถแก้ปัญหาคลายทุกข์ร้อนให้ผู้อื่นได้อย่างแท้จริงเพียงไร

สิ่งที่เราคิด พูด หรือกระทำ คือพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า วิถีที่ท่านปฏิบัติต่อผู้คน คือธรรมะอันเป็นรูปธรรมของพระพุทธองค์ ซึ่งบุคคลอื่นจะเห็นพระลักษณ์ของพระเจ้า และพระพุทธธรรมแห่งองค์ศาสดา ผ่านทางตัวตนของศาสนิกเช่นคุณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image