‘สานสายใย เพื่อนช่วยเพื่อน’ ความงามเล็กๆ ของเด็กหัวรั้น : โดย สุมนา จงรุ่งโรจน์

เมื่อใดก็ตามที่มีข่าวการหลบหนี ทะเลาะวิวาท หรือการก่อเหตุร้ายต่างๆ ของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและศูนย์ฝึกและอบรมต่างๆ สิ่งที่ตามมาแทบทุกครั้งคือการถูกตีตราจากสังคมว่าเยาวชนกลุ่มนี้เป็นเด็กดื้อ ชอบสร้างปัญหา พัฒนาไม่ได้ และกระทำผิดติดสันดาน

แต่จากประสบการณ์ที่ทำงานในพื้นที่นี้มายี่สิบกว่าปี ผู้เขียนได้ค้นพบสิ่งงดงามมากมายภายในรั้วกำแพง รวมทั้งเรื่องราวของเยาวชน “กลุ่มพลังคนหัวรั้นเพื่อสังคม” ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา ซึ่งได้ร่วมกันทำโครงการ “สานสายใย เพื่อนช่วยเพื่อน” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556

การรวมตัวของ “กลุ่มพลังคนหัวรั้นเพื่อสังคม” มีที่มาเพื่อตอบโจทย์อันเป็นปัญหาคาใจของศูนย์ฝึกส่วนใหญ่ ได้แก่ การแบ่งทีมระหว่างจังหวัดและความว่างในช่วงวันหยุด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาท กระทำผิดกฎระเบียบ จนบางครั้งลุกลามกลายเป็นเหตุร้ายตามที่เคยปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ โดยเยาวชนกลุ่มนี้เริ่มจากการชวนเพื่อนๆ ต่างทีม ต่างกลุ่มในศูนย์ฝึกสงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมดูแลเยาวชนหลายร้อยชีวิต ที่มีหลากหลายความคิดและประสบการณ์ ให้มาร่วมกันใช้เวลาว่างจักสานตะกร้าจากเส้นพลาสติก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่พวกตนไปเรียนรู้จากชาวบ้านใน อ.ป่าบอน จ.พัทลุง โดยมี ครูประชิด ตรงจิต ครูผู้ทุ่มเทใจให้กับเยาวชนเป็นพี่เลี้ยงหรือโค้ช และมีครูอื่นๆ เป็นกองหนุน รายได้จากการจำหน่ายตะกร้าและผลิตภัณฑ์จักสานอื่นๆ เปรียบเสมือน “กองทุนชีวิต” ที่ได้รับการจัดสรรภายใต้แนวคิดของ “การแบ่งปัน” โดยนำไปซื้อขนมและของใช้จุนเจือเพื่อนๆ ที่ไม่มีญาติมาเยี่ยมเนื่องจากครอบครัวฐานะยากจนหรืออยู่ห่างไกล อันเป็นที่มาของคำว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน” ซึ่งลึกซึ้งกว่าที่เราเคยรับรู้กันมา รายได้ที่เหลือพวกเขาเก็บออมไว้ซื้อวัตถุดิบเพิ่มเพื่อนำมาใช้สอนการจักสานให้เพื่อนๆ รวมทั้งชาวบ้านในชุมชนตามที่ได้ประสานมายัง
หน่วยงาน

จุดเริ่มของโครงการที่อยากสร้างพื้นที่แห่งสันติ ภายในศูนย์ฝึก และการแบ่งปันจึงเป็นความงดงามแรกที่ค้นพบในเยาวชนกลุ่มนี้

Advertisement

การทำงานภายใต้ข้อจำกัดของเวลา สถานที่ และกฎระเบียบของศูนย์ฝึก ที่กำหนดไว้เพื่อดูแลเยาวชนหมู่มาก เป็นเรื่องชวนให้ถอดใจและทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ต้องใช้พลังและความเพียรอย่างยิ่งเพื่อสานฝัน อาทิ การทวนกระแสที่จะไม่รวมทีมกับเพื่อนกลุ่มจังหวัดในยามว่างหรือวันหยุด แต่หลีกเร้นมาอยู่กับตัวเองเงียบๆ เพื่อฝึกสติและเฝ้ามองตนเองผ่านงานจักสาน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่วัยรุ่นเลือดร้อนอย่างพวกเขาคุ้นเคย แน่นอนว่ามือที่เคยปล้น ฆ่า เมื่อได้ผ่านงานที่ละเอียดก็ทำให้จิตของพวกเขาละเมียดขึ้นมาด้วย

นอกจากนั้นการวางแนวทางในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มด้วยตนเอง ก็เป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย ตั้งแต่ขั้นตอนของการเลือกวัตถุดิบ การผลิต จำหน่าย การจัดทำบัญชีภายใต้หลักคิดที่ว่าต้องคุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ (ซึ่งตรงกับหลักธรรมาภิบาลที่พวกเขาไม่คุ้นเคย) รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอนให้เพื่อนเยาวชนและชาวบ้านในชุมชนด้วยหลักสูตรที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเยาวชนที่การศึกษาน้อย อ่านเขียนไม่แตกฉาน และไม่คุ้นกับตำราวิชาการใดๆ อีกเรื่องที่วัดระดับความเข้มแข็งทางจิตใจคือ การฝึกฝนตนเองให้มีขันติและหัวใจของความเป็นครู เพราะการจักสานเป็นงานละเอียดซึ่งยากจะถ่ายทอดได้ โดยเฉพาะให้กับกลุ่มเพื่อนเยาวชนที่หลายคนอยู่ในสภาวะ “สมาธิสั้น”

Advertisement

การที่พวกเขาไม่แสดงอาการ “หงุดหงิด” ยามศิษย์ดื้อ ไม่เข้าใจ ทำงานไม่สำเร็จตามเป้าหมาย หรือการไม่ยอมจำนนแม้ต้องใช้มุมเล็กๆ หลังห้องสมุดเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนในระยะแรกเริ่มก่อนที่จะมีห้องเรียนเป็นของตนเอง เป็นบทพิสูจน์ว่าพวกเขาสอบผ่านในเรื่องขันติและการเป็น “ครูดี” ทั้งที่ไม่เคยมีใบประกอบวิชาชีพใดๆ

ความมุ่งมั่นและความเพียร จึงเป็นอีกความงามของเยาวชนกลุ่มนี้

ห้องเรียน “สานสายใยฯ” มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรกของการรวมกลุ่ม มีการลงขันดำเนินงานจากทุนส่วนตัวของครูพี่เลี้ยง ต่อมาระหว่างปี 2557-2559 กลุ่มเยาวชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณและกระบวนการพัฒนาศักยภาพจาก โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ซึ่งดำเนินงานโดย สงขลาฟอรั่ม และมีมูลนิธิสยามกัมมาจล กับ สสส.เป็นแหล่งทุนสนับสนุน ปัจจุบัน “ห้องเรียนสานสายใยฯ” ยกระดับจากกิจกรรมเสริมเล็กๆ เป็นหน่วยวิชาชีพหนึ่งภายในศูนย์ฝึกฯสงขลา จัดการเรียนการสอนโดยเยาวชน ด้วยหลักสูตรของพวกเขาที่ได้รับการรับรองจาก กศน. ซึ่งถือเป็นการยกระดับการทำงานไปอีกก้าวของวัยรุ่นหัวรั้นกลุ่มนี้

เนื่องจากโครงการ “สานสายใยฯ” เน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยตั้งอยู่บนฐานความรักความเข้าใจที่ครูและศิษย์มอบให้แก่กัน รวมถึงการสร้างพลังอำนาจภายใน (power within) ที่ครูมอบให้ศิษย์ โครงการนี้จึงเปรียบเสมือนวิตามินเสริมที่ทำให้เยาวชนเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำที่ทำหน้าที่ครูหรือโค้ชให้แก่เพื่อนๆ ในห้องเรียน

ผลที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนคือ เยาวชนมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การจัดการกับอารมณ์ รวมทั้งสำนึกต่อส่วนรวมซึ่งล้วนเป็นจุดอ่อนของเด็กและเยาวชนไทย โดยพวกเขาเกิดการเรียนรู้ตามธรรมชาติผ่านการวางแผนและการบริหารจัดการต่างๆ กิจกรรมในโครงการยังทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้เห็นศักยภาพของตนเอง เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง (self esteem) และไม่รู้สึกด้อยค่าจนต้องเรียกร้องความสนใจผ่านพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่มองว่าเข้าใจยากเหมือนที่ผ่านมา

การเปิดห้องเรียนของโครงการ ภายใต้ความมุ่งมั่น จริงใจและใฝ่รู้ จึงเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า Active Learning สามารถเกิดขึ้นได้แม้ในพื้นที่จำกัด มีกฎระเบียบและบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการสร้างจินตนาการ นอกจากนั้นพวกเขายังพิสูจน์ให้เห็นอีกว่า กลุ่ม “เด็กหลังห้อง” ที่เคยออกจากโรงเรียนกลางคันอย่าง “ผู้แพ้” เมื่อได้รับโอกาสและมีพื้นที่ในการแสดงออก ก็สามารถดึงพลังในตัวตนออกมาใช้ได้อย่างสร้างสรรค์

ห้องเรียน “สานสายใย” จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่สมสมัยสอดคล้องกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เป็นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Tranformative Learning) ที่ควรเป็นแบบอย่างและสนับสนุนให้มีในทุกสถานศึกษา รวมทั้งในสถานพินิจและศูนย์ฝึกต่างๆ ซึ่งต้องดูแลเด็กและเยาวชนที่เคยปฏิเสธการศึกษาในระบอบเดิมที่มีครูเป็นตัวตั้ง (Teacher Directed)

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวของ “กลุ่มพลังคนหัวรั้นเพื่อสังคม” สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Songkhla Forum หรือขอรับหนังสือถอดบทเรียนโครงการได้ที่ Email: [email protected]

สุมนา จงรุ่งโรจน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image